หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > สถานการณ์โลจิสติกส์จีนยังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง

สถานการณ์โลจิสติกส์จีนยังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง

สมาพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งประเทศจีนได้เปิดเผยข้อมูลการดําเนินงานด้านโลจิสติกส์ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2023 โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการดําเนินงานของเศรษฐกิจของประเทศจีนในเดือนพฤษภาคม 2023 โดยทั่วไปยังคงฟื้นตัวตามความต้องการขนส่งสินค้าและการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่การให้บริการด้านโลจิสติกส์ยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และมูลค่าของตลาดโลจิสติกส์ยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2023 มูลค่าด้านโลจิสติกส์ทั้งหมดของประเทศคิดเป็น 129.9 ล้านล้านหยวน (649.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 (YoY) ดังนั้น ความต้องการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2023 มูลค่าด้านโจิสติกส์ในประเทศอยู่ที่ 107.6 ล้านล้านหยวน (538 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 (YoY) ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าภาพรวมภายใต้ผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ผลกระทบจากนโยบายที่ต่อเนื่อง และฐานที่ต่ำในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราการเติบโตของอุปสงค์โลจิสติกส์เริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา

รากฐานสําหรับการฟื้นตัวของอุปสงค์สําหรับโลจิสติกส์อุตสาหกรรมของจีนค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตของโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเติบโตรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเดือนเมษายน 2023 แสดงให้เห็นถึงการเร่งอัตราการเติบโตของโลจิสติกส์อุตสาหกรรมโดยรวมถึงร้อยละ 1.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการเติบโตดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์และการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.6 และร้อยละ 17.3 ตามลําดับ

จากข้อมูลการสํารวจสํามะโนประชากรทางเศรษฐกิจครั้งที่ 4 โดยหน่วยงานตลาดที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ของจีนพบว่า ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2021 มีผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระดับ A เกือบ 8,000 รายในประเทศจีน รายได้รวมของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ 50 อันดับแรกของจีนเพิ่มขึ้นจากมากกว่า 700,000 ล้านหยวน (3.5 ล้านล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2012 เป็นมากกว่า 2 ล้านล้านหยวน (10 ล้านล้านหยวน) ในปี ค.ศ. 2022

ด้วยการพัฒนาเชิงลึกของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้โลจิสติกส์สมัยใหม่จําเป็นต้องรวมเข้ากับการผลิตขั้นสูง การไหลเวียนทางการค้า และการค้าและบริการทางการเงิน เพื่อปรับปรุงความยืดหยุ่นและความปลอดภัยของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน ประกอบกับนโยบาย “การไหลเวียนแบบคู่ขนานระหว่างประเทศและในประเทศ” (Dual-Circulation) “Belt and Road Initiative” และ “การสร้าง Logistics Power” ซึ่งทั้งหมดนั้นแยกออกจากโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไม่ได้ ทำให้ต้องเร่งพัฒนาโลจิสติกส์ภายใน ประเทศควบคู่กันไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายงาน China Modern Logistics Industry Development Analysis and Investment Prospect Forecast (ปี ค.ศ. 2023 – 2028) ที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม Puhua ของสถาบันวิจัยจีน แสดงให้เห็นว่าด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลจิสติกส์และคลังสินค้าที่ทันสมัยในประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาควบคู่กับความต้องการเร่งด่วนที่เกิดจากความเจริญรุ่งเรืองในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดส่งเร่งด่วนของจีน (Express Delivery) ได้รับการส่งเสริม และปริมาณของธุรกิจจัดส่งเร่งด่วนดังกล่าวก็เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจจัดส่งเร่งด่วนก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยพบว่าปริมาณธุรกิจจัดส่งเร่งด่วนของจีนอยู่ที่ 110.58 พันล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 (YoY) รายได้จากธุรกิจอยู่ที่ 1.06 ล้านล้านหยวน (5.3 ล้านล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 (YoY) โดยเมื่อพิจารณาตามโครงสร้างการแบ่งสัดส่วนปริมาณธุรกิจในปี ค.ศ. 2022 พบว่าปริมาณธุรกิจบริการจัดส่งเร่งด่วนในประเทศจีนจะอยู่ที่ 95,770 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.6 ของธุรกิจทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 (YoY) ปริมาณธุรกิจภายในเมืองอยู่ที่ 12,8000 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.6 ของธุรกิจทั้งหมด ลดลงร้อยละ 1.4 (YoY) ปริมาณธุรกิจระหว่างประเทศ/ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันอยู่ที่ 2,020 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.8 ของธุรกิจทั้งหมด ลดลงร้อยละ 0.2 (YoY)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีนระบุนโยบายเพื่อส่งเสริมการก่อสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติประมาณ 120 แห่ง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์และส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่าง Hub ให้เป็นเครือข่าย พร้อมทั้งอาศัย Hub เพื่อรวบรวมทรัพยากรโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค และรูปแบบสิ่งอํานวยความสะดวกแบบบูรณาการ นอกจากนี้ ยังวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ แพลตฟอร์มการขนส่งสินค้าเครือข่าย แพลตฟอร์มข้อมูลยานพาหนะและสินค้าของผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โลจิสติกส์ เป็นต้น รวมทั้ง กำหนดกลยุทธ์พัฒนาองค์กรโลจิสติกส์ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องผ่านการยกระดับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการรวมทรัพยากรและพัฒนาการดําเนินงานด้านโลจิสติกส์ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ให้มีความหลากหลาย เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีฉบับที่ 14 ยังแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนยังอยู่ในช่วงที่เพิ่มขึ้นและยังมีแนวโน้มในการพัฒนาและพื้นที่ขยายตัวเพียงพอ โดยเฉพาะการสร้างระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนในรูปแบบใหม่ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2035 ระบบโลจิสติกส์ของจีนจะมีความทันสมัย และสมบูรณ์แบบมากขึ้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่มีความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศจะเติบโต และขยายตัวเครือข่ายบริการโลจิสติกส์ที่มีการเข้าถึงได้จากทั่วโลก และสามารถบูรณาการร่วมกันระหว่างภูมิภาคและได้รับการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคและโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

การที่ภาพรวมของธุรกิจโลจิสติกส์ของจีนยังคงฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นผลดีและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากการเติบโตของการให้บริการโลจิสติกส์ของจีนในการเร่งผลักดันการค้าระหว่างประเทศ และความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันไทย – จีนได้มีข้อตกลงการค้า RCEP เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับนอกเหนือจาก ASEAN – CHINA FTA ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจดิจิทัล การแลกเปลี่ยนระหว่างห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมทั้ง ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศให้แก่ไทย – จีนได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากจีนกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศกับนานาประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหลังยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 และเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ จีนได้เร่งยกระดับความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศกับคู่ค้าภายใต้ FTA และข้อตกลงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการไทยและและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งทิศทาง นโยบาย และกฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนรับมือกับนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีนได้อย่างทันท่วงที และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเจาะตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

https://www.chinairn.com/news/20230629/103325513.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login