หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > ผู้บริโภคโปแลนด์ยุค Digital Payments ในตลาดค้าปลีก

ผู้บริโภคโปแลนด์ยุค Digital Payments ในตลาดค้าปลีก

แม้ว่าธนบัตรและเงินสดจะยังคงเป็นรูปแบบการชำระเงินที่ผู้บริโภคโปแลนด์ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เลือกใช้ในการจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี Digital Payments ในรูปแบบใหม่ได้มีบทบาทมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระบบชำระเงินออนไลน์ ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น

1. รูปแบบของ Digital Payments ในโปแลนด์

Digital Payments ในโปแลนด์ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การใช้บัตรแทนเงินสดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความสะดวกรวดเร็ว โดยการชำระเงินในรูปแบบ Digital Payments สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
– Card Payment หรือบัตรแทนเงินสด เป็นระบบที่มีการใช้งานมากที่สุด มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 74 ของการชำระเงินแบบดิจิทัลทั้งหมด ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในโปแลนด์ได้มีการขยายฐานลูกค้าลงมายังกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยมีการให้บริการบัญชีธนาคารและบัตรแทนเงินสดสำหรับประชากรในช่วงอายุ 9-15 ปี
– Digital Banking เป็นการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์และ Application ในโทรศัพท์มือถือ มีการใช้งานประมาณร้อยละ 37 และมีการขยายกลุ่มลูกค้า Mobile Banking ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่นเดียวกับบัตรแทนเงินสด
– อุปกรณ์ IoTs และระบบชำระเงิน Quick Transfer ซึ่งเป็นรูปแบบการชำระเงินที่มีความสะดวกรวดเร็ว และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสัดส่วนการใช้งานประมาณร้อยละ 44 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคในช่วงอายุ 18-44 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มในช่วงเริ่มต้นวัยทำงานและวัยทำงานที่มีการใช้งานอุปกรณ์ IoTs ประเภทต่างๆ ในชีวิตประจำวันเป็นประจำ สำหรับระบบชำระเงินที่ได้รับความนิยมในโปแลนด์ อาทิ เช่น BLIK, PayPal, PayU, Przelewy24 และ Google Pay เป็นต้น

2. พฤติกรรมผู้บริโภคโปแลนด์กับ Digital Payments

พฤติกรรมผู้บริโภคโปแลนด์กับ Digital Payments มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านอุปกรณ์ IoTs และระบบชำระเงิน Quick Transfer ซึ่งปัจจัยสำคัญได้แก่ ความสะดวก ความปลอดภัย การยืนยันตัวตัวในครั้งเดียว ความรวดเร็ว เช่น ใช้ระยะเวลาที่น้อยลง ลดขั้นตอนการเข้ารหัสผ่าน เป็นต้น ทั้งนี้ พบว่า ระบบ Quick Transfer ที่มีการใช้งานมากที่สุด ได้แก่ BLIK มีสัดส่วนการประมาณร้อยละ 59 ของระบบชำระเงิน รองมาได้แก่ PayPal ประมาณร้อยละ 33 ขณะที่ระบบอื่นๆ อาทิ PayU, Przelewy24 และ Google Pay มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 18
เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุและความถี่ของการชำระเงินในระบบ Digital Payments รูปแบบต่าง ของผู้บริโภคโปแลนด์ พบว่า ผู้บริโภคในช่วงอายุ 18-34 ปี มีการชำระเงินผ่านอุปกรณ์ IoTs และระบบชำระเงิน Quick Transfer อื่นๆ โดยเฉพาะ BLIK ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวยอมรับว่ามีการใช้งานอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน ขณะที่ผู้บริโภคในช่วงอายุ 35-44 ปี มีการใช้งานระบบ Digital Banking ผสมกับการใช้งาน Quick Transfer อาทิ PayU และ Przelewy24 เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูงและมีระยะเวลาในการตัดเงินจากระบบอย่างน้อย 14-30 วัน ส่วนผู้บริโภคในกลุ่มอายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่นิยมใช้บริการ Digital Banking ขณะที่ผู้บริโภคในช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป จะนิยมใช้บัตรแทนเงินสดในการชำระเงิน
พฤติกรรมการชำระเงินในระบบ Digital Payments ที่ผู้บริโภคโปแลนด์นิยม มีความแตกต่างไปตามจำนวนเงินและสถานที่ โดยพบว่า ผู้บริโภคนิยมชำระเงินผ่านบัตรแทนเงินสด ในการจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร ซึ่งชำระเงินในจำนวนที่มากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ขณะที่การชำระเงินผ่านอุปกรณ์ IoTs และระบบชำระเงิน Quick Transfer อื่นๆ จะนิยมใช้บริการในร้านสะดวกซื้อ การซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และการใช้งานที่มีวงเงินไม่สูงมาก เช่น การเดินทางในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ในส่วนของ Digital Banking จะใช้เพื่อชำระค่าบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำในครัวเรือน

3. แนวโน้มตลาดค้าปลีกกับ Digital Payments

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกมีการปรับเปลี่ยนการให้บริการและรูปแบบการชำระเงินเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าของตน อาทิ เช่น เครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่จะมีการให้บริการเว็บไซต์ Online Shopping และ Mobile Applications ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถติดตั้งลงในโทรศัพท์มือถือเพื่อรับข่าวสารโปรโมชั่นต่างๆ รวมถึงเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านทางระบบชำระเงิน Quick Transfer หรือ Mobile Banking รวมไปถึงการจัดให้มี Self-Cashier ซึ่งผู้บริโภคสามารถสแกนสินค้าและชำระเงินผ่านอุปกรณ์ IoTs และระบบชำระเงิน Quick Transfer อื่นๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ในส่วนของผู้ให้บริการระบบชำระเงิน Digital Payments เองก็มีการแข่งขันในการให้บริการด้วยเช่นกัน ตัวอย่าง เช่น การให้บริการแบบ “buy now, pay later” ซึ่งมีผู้บริโภคสามารถชำระเงินหลังจากได้รับสินค้าแล้ว ในระยะเวลาตั้งแต่ 14 – 30 วัน หรือการชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล เป็นต้น

ความเห็น/ข้อสังเกต

1. ระบบชำระเงิน Digital Payments ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจ Fintech ที่มีการขยายตัวอย่างมากในยุโรป ซึ่งโปแลนด์ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาการให้บริการระบบชำระเงิน Digital Payments และ Digital Banking ที่มีความทันสมัยของสหภาพยุโรป โดยธุรกิจ Fintech ยังเป็นหนึ่งในสาขาเศรษฐกิจที่โปแลนด์ให้ความสำคัญและมีการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูผู้พัฒนาและนักลงทุนในสาขาดังกล่าว เพื่อผลักดันให้โปแลนด์เข้าสู่ยุค Digital ในอนาคต

2. โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงในโปแลนด์และสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นถึงกลุ่มอายุของผู้ใช้งานระบบชำระเงิน Digital Payments ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มเยาวชนและผู้เริ่มต้นวัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานระบบชำระเงิน Digital Payments เพิ่มมากขึ้นและมีความถี่ในการใช้งานมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนและเริ่มคุ้นเคยกับการใช้งานระบบชำระเงิน Digital Payments แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานในรูปแบบบัตรแทนเงินสด แต่ก็มีความถี่ในการใช้งานเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานที่อยู่ในช่วงวัยทำงานถือเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานอยู่เป็นประจำและมีกำลังซื้อสูงรวมถึงมีการใช้งานระบบ Digital Payments ที่หลากหลาย

3. การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโปแลนด์ การพัฒนาระบบชำระเงิน Digital Payments ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสามารถเข้าถึงได้จากทุกกลุ่มช่วงอายุประชากร จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และยังเป็นส่วนในการกระตุ้นภาคธุรกิจในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคค้าปลีก-ค้าส่ง ภาคการขนส่ง Logistics เป็นต้น

Wiadomosci Handlowe

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login