หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > โต้วอิน (Tiktok จีน) เปิดตัวร้านค้า “Import supermarket” เดินหน้าธุรกิจสู่อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

โต้วอิน (Tiktok จีน) เปิดตัวร้านค้า “Import supermarket” เดินหน้าธุรกิจสู่อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โต้วอิน หรือ Tiktok App ในประเทศจีน ได้เปิดตัวร้านค้าใหม่ชื่อ “Tiktok Import Supermarket” (https://v.douyin.com/iJt4XUDJ/) ภายใต้ TikTok e-Commerce ที่มียอดผู้ติดตามบัญชีประมาณ 660,000 คน ผลงานคลิปวิดีโอสั้นกว่า 200 รายการ ที่เน้นจำหน่ายสินค้ากรรมสิทธิ์นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากระบบกำลังเปิดบริการในระยะแรก จึงทำให้สินค้าในร้านค้ายังคงมีจำนวนไม่มาก ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์เพียง 28 รายการ ซึ่งในจำนวนนี้ มีจำหน่ายมาสก์แผ่นแบรนด์ Dr.Jart+ และ แบรนด์ JMsolution จากเกาหลี ที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่ง Tiktok Import Supermarket ยังมีแผนขยายหมวดหมู่สินค้ากว่า 30 หมวดหมู่ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลายร้อยรายการ อาทิ สิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าความงามและการดูแลผิว สินค้าแม่และเด็ก เป็นต้น โดยสินค้าจะจัดส่งจากคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ครอบคลุมในจีน นอกจากนี้ สินค้ายังผ่านธุรกรรมและการตรวจสอบด้านการนำเข้าและภาษีจากศุลกากรจีน ก่อนส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค

การเปิดตัวของ Tiktok Import Supermarket เป็นการประกาศว่า Tiktok ได้ดำเนินการธุรกิจเข้าสู่อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างเป็นทางการ จากข้อมูลด้านอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ในปี 2565 มูลค่าตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ในประเทศจีนสูงถึง 300,000 ล้าน โดย Tmall ครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 39.6 และ  JD.com ครองสัดส่วนตลาดถึง 20.1 ของตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งหมดในโดยการระงับการนำเข้ามะม่วงของจีนแผนดินใหญ่ ทั้งหมดในประเทศจีน จากการดำรงอยู่ของสองแบรนด์อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนยักษ์ใหญ่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งถูกบีบจากการแข่งขันอย่างรุนแรง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง yMatou.com, meilishuo.com, fengqu.com, GMALL Global Shopping และอื่นๆ เริ่มปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

จากการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ กลายเป็นความท้าทายสำหรับ Tiktok Import Supermarket แต่อย่างไรก็ตาม Tiktok  ยังมีข้อได้เปรียบมากมายในการผันตัวมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซ เนื่องจาก Tiktok มีการใช้ระบบกลไกลอัลกอริทึมในการเก็บข้อมูลของผู้ชม บวกกับความสามารถของระบบการถ่ายทอดสดที่ดี ส่งผลให้ความสามารถในการสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักกลายเป็นเรื่องง่าย ในขณะเดียวกัน Tiktok เว่อชันสากลที่ใช้ในต่างประเทศ ที่มีฐานผู้ใช้เป็นจำนวนมากในหลายประเทศ อาทิ ประเทศบลาซิลมีจำนวนผู้ใช้ถึง 74.07 ล้านคน และจำนวนผู้ใช้ในเม็กซิโกมีถึง 11 ล้านคน ด้วยจำนวนผู้ใช้และฐานข้อมูลของผู้ใช้เหล่านี้ จะสามารถช่วยให้ Tiktok เข้าถึงผู้บริโภคและเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ จากประสบการณ์การดำเนินงานและการมีเครือข่ายจากรอบโลก จะให้ Tiktok สามารถสร้างความได้เปรียบด้านราคาผลิตภัณฑ์ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายรอบด้าน

ข้อมูลเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2565 Tiktok มีจำนวนผู้ใช้งานในประเทศจีนกว่า 700 ล้านคน จึงทำให้ Tiktok ไม่มีความกังวลกับจำนวนผู้ใช้งาน เหมือนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแข่งขันแข่งขันด้านอีคอมเมิร์ซกับแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง JD.com และ Taoba ความสามารถในด้านซัพพลายเชน ยังคงเป็นข้อจำกัดของ Tiktok Import Supermarket จากข้อมูลของ JD.com บริษัท มีคลังสินค้าทัณฑ์บน ในต่างประเทศกว่า 90 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ กว่า 900,000 ตารางเมตร และยังเปิดเส้นทางขนส่งทางอากาศกว่า 1,000 เส้นทาง นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับคลังสินค้าข้ามพรมแดนของบริษัทขนส่งชั้นนำอย่าง Cainiao ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 ล้านตารางเมตร และเที่ยวบินขนส่งแบบเช่าเหมาลำกว่า 245 เที่ยวบิน โดยในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา บริษัท Cainiao ทำการบินขนส่งสินค้าแบบเช่าเหมาลำจากจีนไปยังประเทศบราซิล 8 เที่ยวต่อสัปดาห์ และยังมีศูนย์กระจายสินค้า โลจิสติกส์ และคลังสินค้าในต่างประเทศอีกมากมาย อาทิ บราซิล ชิลี เม็กซิโก และประเทศอื่นๆ ในแถบละตินอเมริกา เห็นได้ชัดว่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพในประเทศจีนในปัจจุบัน จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า Tiktok Import Supermarket จะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคของการแข่งขันในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในครั้งนี้ไปได้หรือไม่

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกออนไลน์ของจีนมีการพัฒนา เติบโต และมีการแข่งขันอย่างรุนแรง  อุปทานและการบริการอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในช่องทางหลักของการบริโภคสินค้าของคนในประเทศ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายต่างๆ ในอุตสาหกรรมค้าปลีกในจีนได้เกิดขึ้นทีละน้อย ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ความชาญฉลาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนได้พัฒนาเข้าสู่การค้าปลีกยุคใหม่ ที่มีการพัฒนาผสมผสานธุรกิจทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ พัฒนาแบรนด์สินค้าและบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น การบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเลื่อนเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรม Cross-border e-commerce ยังคงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลและให้ความสำคัญ ที่จะสามารถประหยัดต้นทุน ลดระยะเวลาการจัดส่ง และสามารถส่งสินค้าคุณภาพให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม การที่ Tiktok เข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างเป็นทางการ จะกลายเป็นโอกาสทางการค้าสำคัญอีกช่องทางหนึ่ง ในการขยายตลาดมายังประเทศจีน นอกจากนี้ ช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ของจีนที่ไม่ควรละเลย ไม่ว่าจะเป็น Wechat, taobao live, Xiaohongshu, sunung.com เป็นต้น ที่มีอัตราการแข่งขันที่สูงและสูงมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในแต่ละปี กลายเป็นช่องทางตลาดที่ทรงประสิทธิภาพมากในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมนี้ยังมีพื้นที่การแข่งขันในตลาดอีกมาก ตราบใดที่วิสาหกิจขนาดย่อยและขนาดกลาง สร้างจุดแข็งในการดำเนินงานและพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ก็จะความสามารถเข้าแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรม Cross-border e-commerce ได้

https://www.cbndata.com

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

25 สิงหาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login