หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > “ของเล่น + IP” ร่วมเข้ากับอนิเมะ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมของเล่นของจีน

“ของเล่น + IP” ร่วมเข้ากับอนิเมะ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมของเล่นของจีน

ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในประเทศจีน ที่อัตราการเกิดของประชากรจีนในปี 2565 ต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้ที่อัตราการเกิดจะต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงได้เพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการคลอดบุตร เพื่อกระตุ้นการมีบุตรให้เพิ่มมากขึ้น บวกกับแนวคิดการเลี้ยงดูบุตรของคนยุคใหม่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจสินค้าแม่และเด็กเริ่มพัฒนาและมีโอกาสทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น กลุ่มคน Gen Z ซึ่งเป็นตัวแทนของคนยุค 95 และ 00 ที่ค่อยๆ เข้าสู่วัยที่เหมาะสำหรับการแต่งงานและคลอดบุตร นอกจากนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีความเต็มใจและความสามารถในการลงทุนต่อสิ่งของที่ดีที่สุดในการเลี้ยงดูบุตร การใช้จ่ายสำหรับเด็กในชีวิตประจำวันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ของเล่น นมผง ผ้าอ้อม เสื้อผ้า และยารักษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ของใช้ในครัวเรือน การศึกษา และการท่องเที่ยว เป็นต้น ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน คาดว่าในปี 2567 ขนาดของตลาดสินค้าแม่และเด็กจะสูงถึง 760,000 ล้านหยวน

จากการบริโภคสินค้าเด็กมีความสมบูรณ์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับเด็กมีการปรับแต่งให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าของเล่นเด็ก ที่แต่เดิมมีไว้เพื่อสร้างความสนุกเท่านั้น แต่ปัจจุบันสินค้าของเล่นขยายจากแค่การเล่นแบบธรรมดา เริ่มมีการสอดแทรกปริศนา เสริมสร้างสมอง ความสามารถ และสร้างประสบการณ์มากขึ้น อุตสาหกรรมของเล่นได้ขยายภาพลักษณ์ด้วยการเชื่อมต่อ IP ที่แตกต่างกันในรูปแบบต่าง ๆ โดยการออกแบบตัวละคร IP ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจของ iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2566 สินค้าของเล่นเป็นสินค้าที่ผู้ปกครองมักจะเลือกซื้อเป็นของขวัญให้กับบุตรหลานในวันสำคัญต่างๆ สูงสุด ซึ่งของเล่นบล็อคต่อปริศนา หรือตัวต่อเลโก้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้ปกครอง ของเล่นบล็อคหรือตัวต่อปริศนาไม่เพียงแต่สามารถกระตุ้นเคลื่อนไหว สร้างความคล่องแคล่วให้กับเด็กเท่านั้น แต่ยังสามารถฝึกฝนการเคลื่อนไหวและพัฒนาการสัมผัสที่ดีอีกด้วย จะเห็นได้ว่าของเล่นบล็อคหรือตัวต่อปริศนามีบทบาทเชิงบวกในการสร้างเสริมพัฒนาการของเด็ก

จากการสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อของเล่นของผู้ปกครอง มักจะคำนึงถึงความปลอดภัยของของเล่นมากเป็นอันดับแรก (คิดเป็นร้อยละ 63.7 ของเหตุผลการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค) รองลงมาคือ ฟังก์ชันของเล่น (คิดเป็นร้อยละ 56.3) ของเล่นที่เสริมสร้างการศึกษา (คิดเป็นร้อยละ 49.8) อายุการใช้งานของเล่น (คิดเป็นร้อยละ 41.4) วัสดุของเล่น (คิดเป็นร้อยละ 33.6) และราคาของเล่น (คิดเป็นร้อยละ 29.1) เป็นต้น ถึงแม้ว่าคุณสมบัติของของเล่น คือการ “เล่น” และ “ความบันเทิง” แต่ความปลอดภัยของของเล่นยังคงต้องคำนึงมาเป็นอันดับแรก ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าข้อเสียของของเล่นหลายแบรนด์ในปัจจุบัน คือรูปแบบของของเล่นคล้ายๆ กัน ขาดความแปลกใหม่  มีความหยาบของรูปทรงและสัมผัส มีความปลอดภัยไม่เพียงพอ และราคาไม่สมเหตุสมผล จึงทำให้อัตราการกลับมาซื้อซ้ำลดลง จากปัญหาที่เกิดขึ้นธุรกิจและผู้ประกอบการด้านของเล่นควรปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่วด่วน

จากการสำรวจงบประมาณสำหรับซื้อของขวัญที่เป็นของเล่นให้กับบุตรหลาน ส่วนใหญ่อยู่ที่ราคาประมาณ 301-500 หยวน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.5 ของราคางบประมาณที่ผู้ปกครองยอมจ่าย) รองลงมาราคา 100-300 หยวน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.9) และราคา 501-800 หยวน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.1) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนในด้านเศรษฐกิจสินค้าของเล่นเด็ก ที่สามารถยอมจ่ายเพื่อความสุขของบุตรหลาน

ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ของโลก โดยกว่าร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์ของเล่นทั่วโลกผลิตในประเทศจีน จากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2543 – 2564 มูลค่าการส่งออกของเล่นของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 5,575 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2543 เพิ่มเป็น 46,119 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอุตสาหกรรมของเล่นในจีนมีการเติบโตเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของแบรนด์ของเล่นสัญชาติจีน แบรนด์จีนของเล่นตัวต่อที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค อาทิ TOP TOY (https://www.toptoyglobal.com/), Sembo Block (https://semboblock.com/) และ WEKKI (https://m.tb.cn/h.UzEq1x4) เป็นต้น ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2565 ขนาดของอุตสาหกรรมของเล่นบล็อคหรือตัวต่ออยู่ที่ 26,190 ล้านหยวน และคาดว่าในปี 2568 ขนาดของตลาดจะสูงถึง 41,020 ล้านหยวน

                    ของเล่นตัวต่อแบรนด์ TOP TOY   ของเล่นตัวต่อแบรนด์ Sembo Block  ของเล่นตัวต่อแบรนด์ WEKKI

รูปแบบธุรกิจของตลาดของเล่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา โดยใช้รูปแบบ “ของเล่น + IP” ร่วมเข้ากับวัฒนธรรมอนิเมะ มีหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างแบรนด์ร่วมกับ IP (Intellectual Property) มีส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ธุรกิจจำเป็นต้องวางแผนเชิงกลยุทธ์ ดำเนินธุรกิจแบบบูรณาการร่วมกับการค้าข้ามพรมแดน สร้างเสริมและพัฒนาเชิงลึกผสมผสานสินค้ากับเทคโนโลยีให้เกิดความแปลกใหม่ และสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า เพื่อครองส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในประเทศจีน ที่อัตราการเกิดของประชากรจีนในปี 2565 ต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้เพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการคลอดบุตร เพื่อกระตุ้นการมีบุตรให้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมสินค้าแม่และเด็กมากขึ้น การพัฒนาของอุตสหากรรมของเล่นในปัจจุบัน ไม่เป็นเพียงสินค้าแค่การเล่น หรือแค่สร้างความสนุกที่ตอบสองแค่เด็กแต่ละช่วงอายุอีกต่อไป เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจซื้อไม่ได้กำหนดโดยตัวเด็ก แต่หากมาจากการตัดสินใจจากผู้ปกครองเป็นหลัก สินค้าจึงจำเป็นต้องพัฒนาตามความต้องการของผู้ปกครองตามไปด้วย ความกังวลด้านความปลอดภัย ฟังก์ชันของเล่นที่หลากหลาย และของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างการศึกษา เป็นต้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการด้านของเล่นควรคำถึงการพัฒนาสินค้ามากเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ การนำการ์ตูน คาร์เรคเตอร์และอนิเมะ Co-brand ทำเป็นของเล่น ก็เป็นอีกช่องทางที่จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมของเล่นในยุคปัจจุบัน

ตามสถิติศุลกากรจีนประมวลโดย Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ เดือนมกราคม- เมษายน ปี 2566  ที่ผ่านมาจีนนำเข้าของเล่นที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กจากประเทศไทย ซึ่งอยู่ในหมวดพิกัด HS CODE 95030060 รวมเป็นมูลค่า 429,106 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.94 YoY ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าของเล่นจากประเทศไทยได้รับการยอมรับ ในประเทศจีน ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับปรุงและพัฒนาสินค้าของเล่นในชีวิตประจำวันที่สามารถสร้างประสบการการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการเล่นไปพร้อมกัน คำนึงถึงความปลอดภัย และกฎระเบียบการผลิตสินค้าเป็นสำคัญ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ความปลอดภัยในการใช้สินค้า

https://mp.weixin.qq.com/s/3pMq6aU8of6yNnLFHLnmxQ

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเส ริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

16 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login