หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > “ผลประกอบการบริษัทแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น”

“ผลประกอบการบริษัทแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น”

UNIQLO
ยอดจำหน่ายเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12
บริษัท FAST RETAILING CO., LTD. ผู้จำหน่ายแบรนด์เสื้อผ้า “UNIQLO” ประกาศยอดจำหน่ายเดือนมีนาคม 2566 (รวมร้านค้าและเว็บไซต์ EC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4 เดือนต่อเนื่อง เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ทำให้ผู้คนออกไปนอกบ้านมากขึ้น เสื้อแจ๊คเก็ตและกางเกงสำหรับฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนจำหน่ายได้ดี แบรนด์เสื้อยืด “UT” Kando-Jacket กางเกงทรง cargo กลุ่มเสื้อผ้าและกางเกงสำหรับสวมใส่ นอกบ้านยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้เสื้อแจ๊คเก็ตและสินค้าอื่นๆจะขึ้นราคาในสินค้าบางรุ่น แต่จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้านก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกันเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ ยอดซื้อสินค้าของลูกค้า 1 รายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 13 เดือนเมื่อเทียบกับปีก่อน

Shimamura
ผลกำไรสูงสุด 3 ปีซ้อน
บริษัท SHIMAMURA Co., Ltd. คาดการณ์ผลกำไรสุทธิเดือนมีนาคม 2566 – เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ของบริษัทในเครือทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือเท่ากับ 39,500 ล้านเยน (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) ผลกำไรสูงสุดต่อเนื่องกัน 3 ปี สาเหตุจากการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกและการเพิ่มจำนวนสินค้าระดับราคาสูง ประธานบริษัทได้แถลงว่า “ได้วางแผนเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกกว่า 50 สาขาในทุกปี”
ยอดจำหน่ายเดือนมีนาคม 2565 – เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 หรือเท่ากับ 617,500 ล้านเยน (ประมาณ 158,000 ล้านบาท) และผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 หรือเท่ากับ 38,000 ล้านเยน (ประมาณ 9,700 ล้านบาท) เนื่องจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และคาดการณ์ยอดจำหน่ายปีนี้ (เดือนมีนาคม 2566 – เดือนกุมภาพันธ์ 2567) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 หรือเท่ากับ 636,500 ล้านเยน (ประมาณ 160,000 ล้านบาท) เนื่องจากยอดจำหน่ายของร้าน “Shimamura Fashion Center” ซึ่งเป็นร้านค้าหลักของบริษัทมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และ แบรนด์ “CLOSSHI PREMIUM” ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัท (Private Brand) ได้เพิ่มการจำหน่ายสินค้าที่มีฟังก์ชันและระดับราคาสูง คาดการณ์ราคาต่อหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 – 9 และแม้ขึ้นเงินเดือนพนักงาน แต่บริษัทก็ยังสามารถควบคุมอัตรารายจ่าย (ค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายและบริหารจัดการ) ให้ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย
บริษัทได้ประกาศมีแผนระยะยาวถึงปี 2573 โดยเพิ่มยอดจำหน่ายเท่ากับ 800,000 ล้านเยน (ประมาณ 200,000 ล้านบาท) อัตรากำไรข้างต้นร้อยละ 35 (อัตรากำไรข้างต้นปีนี้เท่ากับร้อยละ 34)

Nishimatsuya
ผลกำไรหลังหักภาษี ลดลงร้อยละ 10
บริษัท NISHIMATSUYA CHAIN Co., Ltd. ได้ประกาศผลกำไรหลังหักภาษีช่วงเดือนมีนาคม 2565 – เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับ 7,600 ล้านเยน (ประมาณ 1,950 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า แม้ยอดจำหน่ายของร้านค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นติดต่อกันหลายปี แต่ด้วยเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้การจัดซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์จากประเทศในทวีปเอเชียมีต้นทุนที่สูงขึ้น ผลกำไรจึงลดลงในรอบ 3 ปี
ยอดจำหน่ายบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือเท่ากับ 169,500 ล้านเยน (ประมาณ 43,000 ล้านบาท) และยอดจำหน่ายของร้านค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 มีจำนวนร้านทั้งหมด 1,067 ร้าน และในปีที่ผ่านมามีจำนวนร้านเพิ่มขึ้น 31 แห่ง สินค้าสำหรับเด็กประถมปลายที่ราคาต่อหน่วยสูงจำหน่ายได้ดี และเว็บไซต์ออนไลน์ของบริษัทที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ก็มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย กำไรจากการดำเนินงาน (Operating profit) ลดลงร้อยละ 11 หรือเท่ากับ 10,900 ล้านเยน (ประมาณ 2,800 ล้านบาท) เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนการจัดซื้อสูงขึ้น และบริษัทไม่ได้ขึ้นราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมา
บริษัทคาดการณ์ยอดจำหน่ายเดือนมีนาคม 2566 – เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เท่ากับ 180,000 ล้านเยน (ประมาณ 46,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดการณ์กำไรหลังหักภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หรือเท่ากับ 9,200 เยน (ประมาณ 2,400 ล้านบาท) บริษัทจะขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่ฤดูกาลใบไม้ผลิและฤดูร้อนนี้ ในงานแถลงการณ์ ประธานบริษัทได้กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่ต้นทุนการจัดซื้อสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย และจะพยายามลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ ภายในบริษัทต่อไป”

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
แบรนด์เสื้อผ้าของบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่น มียอดจำหน่ายที่สูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนออกนอกบ้านมากขึ้น ประกอบกับอากาศที่เริ่มอบอุ่นขึ้นมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้คนออกจากบ้านและทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนประกาศลดระดับโควิด-19 จากโรคระบาดประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 8 พฤษกาคม 2566 เป็นต้นไป และจากการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศ จึงทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจของ The Japan Research Institute, Limited พบว่า เดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 9.3 แสนคนหรือเทียบเท่ากับ ร้อยละ 40 ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 จะทะลุ 20 ล้านคน มีการใช้จ่ายเกิดขึ้น 3.1 ล้านล้านเยนและช่วยดัน GDP ขึ้นร้อยละ 0.4 ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงคาดการณ์ได้ว่า การบริโภคสินค้าแฟชั่นภายในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวสู่ประเทศญี่ปุ่น

*******************************************************


ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2566
https://www.uniqlo.com/jp/ja/
https://www.shimamura.gr.jp/shimamura/
https://www.24028.jp/
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login