หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > สถานการณ์เครื่องประดับเงินของไทยในตลาดจีน

สถานการณ์เครื่องประดับเงินของไทยในตลาดจีน

เครื่องประดับเงินเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยประเทศปลายทางในการส่งออกมีหลายประเทศ เช่นอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งตลาดเครื่องประดับเงินในจีนนั้น   เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก และประเทศที่จีนนำเข้าเครื่องประดับเงินมากที่สุดคือ   ประเทศไทย โดยในปี 2565 มีมูลค่าการนำเข้ามายังประเทศจีนรวมทั้งสิ้น 74.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,611 ล้านบาท) โดยคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งสิ้นร้อยละ 39.37

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 การส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับเงินของไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากมาตรการการปิดประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์   โรคระบาด โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีมาตราการปิดประเทศอย่างเข้มงวดและยาวนาน ทำให้กระทบต่อปริมาณนำเข้าและส่งออก หากพิจารณาในช่วงระหว่างปี 2564 จนถึงกันยายนปี 2565 ที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยรวมเริ่มกลับมาสูงขึ้นนั้น เนื่องมาจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตราการการเดินทางระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่ประเทศจีนยังคงคุมเข้มเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศ และค่อยๆลดมูลค่าในการสั่งซื้อจากประเทศไทยในแต่ละปี มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในปี 2565 จีนจะมีการผ่อนคลายมาตราการป้องกันโควิด 19 และเปิดประเทศ         ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจีนได้แล้วนั้น แต่มูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องประดับเงินจากไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีอัตราการชะลอตัวน้อยลง อยู่ที่ -9.28 คาดว่าเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว และจีนเองก็เริ่มผ่อนคลายมาตราการปิดประเทศบางส่วนแล้ว ส่วนในช่วงต้นปี 2566 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่าการส่งออกไปประเทศจีนเพียง 7,465.31 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่าปี 2565 ในช่วงเดือนเดียวกัน และหากยังส่งออกในอัตรานี้ไปตลอดปี จะมีมูลค่าการขายตลอดปีลดลงกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน และมีมูลค่ารวมการส่งออกไปจีนสูงกว่าช่วงปี 2563 เพียงเล็กน้อย

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนมีแนวโน้มในการสั่งเครื่องประดับเงินจากไทยน้อยลง คือจีนเริ่มหันไปนำเข้าจากอิตาลีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอิตาลีถือเป็นประเทศคู่แข่งในการส่งออกเครื่องประดับเงินเข้ามายังประเทศจีน ในปัจจุบันมีเพียงประเทศอิตาลีเท่านั้นที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงทัดเทียมกับประเทศไทย และเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอิตาลีมีส่วนแบ่งการตลาดในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 31.33 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปี 2563 อิตาลีครองส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 14.77 เท่านั้น นับว่าเป็นประเทศที่     ส่วนแบ่งทางการตลาดในการนำเข้าเครื่องประดับเงินมายังประเทศจีนเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในปีนี้คาดว่าอัตราการเติบโตจะเริ่มขยับเป็นบวก มีมูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นกว่าปี 2565 เนื่องจากประเทศจีนเพิ่งเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจของจีนเริ่มฟื้นตัว ความต้องการนำเข้าเครื่องประดับเงินคาดว่าน่าจะสูงขึ้น และหากดูสัดส่วนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจีนจะมีการนำเข้าเครื่องประดับเงินน้อยลง และสั่งนำเข้าจากอิตาลีในอัตราที่สูงขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศที่จีน        สั่งนำเข้ามากที่สุด และกินส่วนแบ่งของตลาดนำเข้าสินค้าประเภทนี้ในจีนไปถึงร้อยละ 35-53 หากจีนมีความต้องการนำเข้ามากขึ้น เครื่องประดับเงินของไทยก็มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้ม    ที่จีนเริ่มนำเข้าเครื่องประดับเงินจากอิตาลีเพิ่มสูงขึ้น แล้วนำเข้าจากไทยลดน้อยลง ทำให้อิตาลีกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดนำเข้าเครื่องประดับเงินเข้าไปในจีน ซึ่งในปัจจุบัน อิตาลียังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยกว่าไทย แต่หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป อิตาลีอาจะเข้ามาครองส่วนแบ่งการตลาดนำเข้าเครื่องประดับเงินในตลาดจีนแทนที่ประเทศไทยได้

จีนเป็นหนึ่งในตลาดการส่งออกเครื่องประดับเงินที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก ทั้งด้านการซื้อขายภายในประเทศและการส่งออก หากสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดหรือเจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนได้ จะช่วยเพิ่มปริมาณและมูลค่าของสินค้าที่ส่งออกได้ อีกทั้งในปัจจุบันชาวจีนมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น วัยรุ่นเริ่มมีกำลังซื้อเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการซื้อเครื่องประดับในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ว่าจีนจะผลิตเครื่องประดับเงินได้เอง แต่ก็ยังมีความต้องการในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเครื่องประดับเงินของไทยนั้นนอกจากจะมีราคาที่ถูกแล้ว เครื่องประดับเงินของไทยยังมีเอกลักษณ์    ความประณีต และมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค มีลวดลายที่หลากหลายตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งยังมีโอกาสอีกมากที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในจีนได้

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจีนถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มการรับรู้ ประชาสัมพันธ์สินค้าเครื่องเงินไทยและสร้างโอกาสในการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการจีนและต่างชาติ        ที่เกี่ยวข้อง หรืออีกหนึ่งช่องทาง คือ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ    ในไทย อาทิ งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้     จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องผู้ประกอบการอาจมุ่งประชาสัมพันธ์หรือสร้างการรับรู้สินค้าเครื่องประดับเงินในสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ เช่น น่าน เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช เป็นต้น

_____________________________________________________________________

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=3&Lang=Th&ImExType=1

https://www.chinabaogao.com/detail/578584.html

https://www.chyxx.com/industry/202112/991005.html

https://infocenter.git.or.th/business-info/business-info-20200717

https://www.silverinstitute.org/wp-content/uploads/2020/12/SilverJewelryReport2020R.pdf

https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.3237.1.0.html

https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.3108.1.0.html

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login