หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > ผู้บริโภคสินค้าลักชัวรี่รุ่นเยาว์ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก

ผู้บริโภคสินค้าลักชัวรี่รุ่นเยาว์ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก

บริษัทการตลาด Boston Consulting Group (BCG) ร่วมกับมูลนิธิ  Altagamma  ที่มีสมาชิกเป็นหน่วยงานทางด้านวัฒนธรรม ผู้ประกอบการงานฝีมือชั้นสูง และบริษัทออกแบบของประเทศอิตาลี ทำการศึกษาข้อมูลกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าหลักของตลาดสินค้าลักชัวรี่ (True-Luxury Global Consumer Insights) จากหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาตลาดสินค้าลักชัวรี่อันดับหนึ่งของโลก  จีนเป็นอันดับที่สอง  และประเทศอื่นๆอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศสและญี่ปุ่น   ด้วยการวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลจากลูกค้าทั้งสิ้น  12,000  รายที่มียอดซื้อสินค้ามากกว่า 39,000 ยูโรต่อคนต่อปี ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้บริโภคที่เรียกว่า True Luxury

กลุ่มลูกค้าระดับ True Luxury คิดเป็นจำนวนประมาณ 20 ล้านรายทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มีจำนวน 16.8 ล้านราย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • มียอดซื้อสินค้าต่อคนต่อปีมากกว่า 5,000 ยูโรซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าตลาดสินค้าลักชัวรี่ทั่วโลก
  • มีความต้องการในการบริโภคในระดับสูง และมีประสบการณ์ในการจับจ่ายสินค้าลักชัวรี่เป็นอย่างดี
  • คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 ผลประกอบการสินค้าลักชัวรี่จากกลุ่ม True Luxury นี้จะมีมูลค่าสูงถึง 4.3 – 4.7 แสนล้านยูโรจากผลประกอบการรวมของการบริโภคจากลูกค้าทุกกลุ่มรวมกันที่คิดเป็นมูลค่า 1.27 ล้านล้านยูโร  (แผนภูมิประกอบด้านล้าง)

สินค้าลักชัวรี่ตามเนื้อหาในรายงานแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่

  • Personal Luxury Goods  (สินค้าเครื่องหนัง, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, นาฬิกา, เครื่องประดับ ฯลฯ)
  • Luxury Experience Service  สินค้าลักชัวรี่ที่เกี่ยวข้องกับงานบริการและประสบการณ์ของผู้บริโภค (อาหาร,ไวน์, โรงแรมและการท่องเที่ยว ไปจนถึงเครื่องเรือนซึ่งต้องผ่านการสั่งทำเป็นพิเศษ ฯลฯ)

นาย Joel Hazan ผู้อำนวยการและหุ้นส่วนบริษัทการตลาด BCG Paris กล่าวว่า ผู้บริโภค True Luxury สามารถแบ่งตามอายุได้เป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่

  1. ผู้บริโภคเจเนอเรชั่น X (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1965-1979), Babyboomers (1946-1964)  และ กลุ่ม Seniors
  2. ผู้บริโภครุ่นเยาว์ (เจเนอเรชั่น Millennials เกิดระหว่างปี 1981-1996) และเจเนอเรชั่น Z (1997-2012) ซึ่งมีระดับการบริโภคสินค้ามากกว่าผู้บริโภคกลุ่มแรกถึงร้อยละ 15

โดยผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มเน้นการซื้อสินค้า Personal Luxury Goods เป็นหลัก ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคสำหรับสินค้าประเภทนี้จากผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มรวมกันสูงถึง 2 แสนล้านยูโร

ปัจจุบันแบรนด์ลักชัวรี่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกลับกลุ่มผู้บริโภครุ่นเยาว์เพิ่มมากขึ้นกว่าลูกค้ากลุ่มอายุอื่น  เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีบริโภคสินค้าลักชัวรี่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากปี 2016  เป็นต้นมา โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นสูงจนมีสัดส่วนในตลาดสินค้าลักชัวรี่ถึงร้อยละ 75 ในปี 2026

ในบรรดาผู้บริโภคในกลุ่ม True Luxury ลูกค้าที่มียอดซื้อสินค้าต่อปีมากกว่า  50, 000 ยูโรต่อคนต่อปีมีประมาณ 500,000 รายทั่วโลก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นลูกค้ากลุ่ม Beyond Money  เป็นตลาดเป้าหมายที่สำคัญของแบรนด์ลักชัวรี่ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2026 จำนวนลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเพิ่มสูงขึ้นเป็น 600,000 รายและส่งผลให้ยอดขายจากลูกค้ากลุ่มนี้สูงถึง 60,000 ล้านยูโร  (แผนภูมิประกอบด้านล่าง)

นอกเหนือจากกลุ่ม Beyond Money แล้ว ในบรรดาผู้บริโภค True Luxury มีกลุ่มอีกลูกค้าที่ใช้จ่าย มากกว่า 20,000 ยูโรต่อคนต่อปี   ซึ่งมีปริมาณไม่ถึงร้อยละ 1 ของผู้บริโภคสินค้าลักชัวรี่ทั้งหมด แต่สามารถสร้างผลประกอบการให้ตลาดสินค้าลักชัวรี่ได้ถึงร้อยละ 10 ของผลประกอบการโดยรวมของตลาดสินค้าลักชัวรี่ และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง      โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีอัตราการเติบโตในระดับร้อยละ 8 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2022 – 2026    ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคสินค้าลักชัวรี่โดยรวมซึ่งจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 6

ในรายงานข้อมูลกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าหลักของตลาดสินค้าลักชัวรี่ฉบับนี้ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจของกลุ่มลูกค้า  True Luxury ไว้เช่นเดียวกัน สรุปได้ว่า

  • ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่งมีความพอใจต่อประสบการณ์ที่ได้รับจากการซื้อสินค้าจากแบรนด์ ในขณะที่ร้อยละ 11 ยังคงมีความคาดหวังต่อสินค้าและบริการในระดับที่สูงกว่านี้ (ผู้บริโภคฝรั่งเศสมีความคาดหวังสูงที่สุดที่ร้อยละ 22 รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริการ้อยละ 14 และจีนร้อยละ 13)
  • ผู้บริโภคเจเนอเรชั่น Z ถึง 1 ใน 5 ยังเห็นว่าระบบการบริการด้านดิจิทัลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ในขณะที่ผู้บริโภคเจเนอเรชั่น Babyboomer มีเพียง 1 ใน 10

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดลงความเห็นว่าผู้บริโภคมีความคาดหวังเพิ่มสูงขึ้นในทุกด้าน   ถึงแม้ว่าประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากร้านค้าจะเป็นที่น่าพอใจ   แต่แบรนด์ต่างๆจำเป็นต้องเพิ่มประสบการณ์ด้านดิจิทัลและใช้กลยุทธ์การตลาดแบบผสมผสาน (omni-channel) 

ความเห็น สคต.

การเติบโตของตลาดลูกค้าเจเนอเรชั่น Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012) ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจจากแบรนด์สินค้าลักชัวรี่เท่านั้น   แบรนด์ต่างๆในฝรั่งเศสและบริษัทด้านการตลาดระดับนานาชาติต่างให้ความสนใจศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริโภคกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน  บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ Oxford Economics ร่วมกับบริษัท Snapchat เลือกทำการศึกษาข้อมูลผู้บริโภคเจเนอเรชั่น Z อย่างเจาะลึกในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส   เนื่องจากภายในปี 2030  ประชากรเจเนอเรชั่น Z ทั่วโลกรวมกันจะมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของประชากรวัยทำงานทั้งหมดทั่วโลก  สำหรับในประเทศฝรั่งเศสประชากรกลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มอายุที่จะเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของประชากรวัยทำงานในประเทศ  รายได้ของประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบ 9 เท่าในช่วงเวลา 10 ปีจาก 25,000 ล้านยูโรในปี 2019  เป็น 2.13 แสนล้านยูโร ในปี 2030  ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้ระดับการบริโภคของประชากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในอนาคต  การศึกษาข้อมูลของตลาดผู้บริโภคเจเนอเรชั่น Z มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและวางแผนการตลาดให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม

ที่มา :

Virginie Jacoberger-Lavoué

ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Les Echos

https://www.lesechos.fr/industrie-services/mode-luxe/luxe-lincroyable-montee-en-puissance-des-jeunes-acheteurs-1959308

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login