หน้าแรกTrade insight > “ผู้ชายใส่สร้อยมุก” ภาพลักษณ์สินค้าสำหรับผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

“ผู้ชายใส่สร้อยมุก” ภาพลักษณ์สินค้าสำหรับผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบัน มีผู้ชายรุ่นใหม่ที่แต่งหน้า ใส่สร้อยมุกเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีภาพลักษณ์เป็นสินค้าสำหรับผู้หญิง กลุ่มผู้บริโภคชายกลุ่มนี้ นิยมแต่งตัวแบบที่ตัวเองชอบโดยไม่ยึดติดกับความแตกต่างทางเพศ อาจเป็นเพราะสังคมที่เริ่มยอมรับในความหลากหลาย (diversity) ทำให้มีสินค้าไม่แบ่งเพศ (genderless) วางจำหน่ายเพิ่มขึ้น แต่หากเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตผลิตโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคก็อาจไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ดังนั้น ความเข้าใจในความต้องการและความชอบของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต
“มุกแต่ละเม็ดมีความแตกต่างกันทางรูปทรงและแสงที่สะท้อน ทำให้แต่งตัวแฟชั่นได้โดยไม่ไปชนกับใคร” ความคิดเห็นของผู้ชายวัย 27 ที่ซื้อสร้อยมุกเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ที่ผ่านมาเขาไม่เคยสนใจเครื่องประดับเลย จนมาได้เห็นรูปถ่ายดาราชายที่ใส่สร้อยมุกในสื่อ SNS และคิดว่า เท่ดีจึงสนใจและหาซื้อใส่บ้าง ภาพลักษณ์ที่สร้อยมุกเป็นสินค้าสำหรับผู้หญิงก็ได้เปลี่ยนไป สร้อยมุกที่ซื้อนั้น ซื้อจากร้านจำหน่ายเครื่องประดับมุกย่านกินซ่า ชื่อร้าน “enwsp” ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกภายใต้การบริหารของบริษัท WSP Co., Ltd. โดยบริษัทให้ความเห็นว่า ในปี 2565 การจำหน่ายเครื่องประดับมุกผ่านช่องทางออนไลน์ (EC) นั้น มีผู้บริโภคผู้ชายที่ซื้อเครื่องประดับมุกเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน บริษัทจึงเพิ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภคชาย เช่น มุกดำ สร้อยที่ขนาดรอบคอใหญ่ขึ้น เป็นต้น
“มุก” มีภาพลักษณ์เป็นเครื่องประดับสำหรับผู้หญิงสวมใส่ไปงานพิธีการที่เป็นทางการต่างๆ เช่น งานแต่งงาน แต่ปัจจุบัน เริ่มมีผู้ชายสวมใส่เครื่องประดับมุกเป็นแฟชั่นมากขึ้น บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง K.MIKIMOTO & CO.,LTD. เป็นบริษัทแรกๆที่ได้วางจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับมุกสำหรับผู้ชาย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 บริษัทได้ Collaborate กับแฟชั่นแบรนด์ COMME des GARCONS จำหน่ายสินค้าเครื่องประดับมุก โดยภาพโฆษณาเป็นภาพที่ใช้นายแบบใส่สูทและสวมใส่เครื่องประดับมุก และในปี 2564 บริษัทได้ออกคอลเล็คชัน “PASSIONOIR”
ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 – เดือนพฤษภาคม 2566 ช่องทางจำหน่ายออนไลน์ (EC) ของบริษัทมีลูกค้าผู้ชายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ความชอบของผู้หญิงและผู้ชายเริ่มไม่แตกต่างกันมากนัก สินค้า เช่น แหวนขนาดเล็กที่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าผู้หญิง ก็มีลูกค้าผู้ชายสนใจซื้อเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน มีผู้บริโภคชายที่ไม่ยึดติดกับความแตกต่างทางเพศและเริ่มมีผู้ชายที่ชื่นชอบการแต่งหน้าทาเล็บมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นประเภทสินค้าสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคหญิง โดยแผนกวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคของบริษัท Hakuhodo Inc. ได้วิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะสังคมเริ่มยอมรับความหลากหลายและความเป็น genderless จึงทำให้ผู้คนสามารถเป็นอย่างที่ตัวเองอยากจะเป็นได้มากขึ้น
ร้าน Loft ที่จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้จัดชั้นวางสินค้า skincare สำหรับผู้ชาย และปี 2565 มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปี 2562 นั้น ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า สินค้าที่กลุ่มลูกค้าผู้หญิงนิยมซื้อ เช่น ปากกาวาดถุงน้ำตา หรือลิปที่ช่วยให้ดูริมฝีปากชุ่มฉ่ำก็มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้าน Loft สาขาชิบูยะ ณ ชั้นวางจำหน่ายเครื่องสำอางผู้ชาย มีลูกค้าผู้ชายยืนเลือกซื้อเครื่องสำอางอย่างไม่ขาดสาย ลูกค้านักศึกษาชายอายุ 23 ปีให้ความเห็นว่า เมื่อทาครีมลองพื้น BB ครีมแล้วทำให้มีความรู้สึกมั่นใจขึ้นและใช้มา 2 – 3 ปีแล้ว และอยากลองเครื่องสำอางสำหรับเขียนคิ้วดูบ้าง ส่วนพนักงานบริษัทชายอายุ 25 ปี ชื่นชอบการทาเล็บให้ความเห็นว่า เมื่อเห็นเล็บตัวเองสวยก็รู้สึกดี
Hot Pepper Beauty Academy ซึ่งเป็นหน่วยงานสำรวจและวิจัยของบริษัท Recruit Co., Ltd. ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับเครื่องสำอางผู้ชายเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และพบว่า ผู้บริโภคผู้ชายที่ซื้อเครื่องสำอางนั้น กลุ่มช่วงอายุ 20 ปีมีสัดส่วนการซื้อมากที่สุดหรือเท่ากับร้อยละ 20 รองลงมาคือกลุ่มช่วงอายุ 30 ปี และกลุ่มอายุ 15 – 19 ปี เท่ากับร้อยละ 17 เท่ากัน โดยกลุ่มช่วงอายุ 30 ปีมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น เจ้าหน้าที่ Hot Pepper Beauty Academy ให้ความเห็นว่า การแต่งหน้าของผู้ชายเริ่มกลายเป็นมารยาทการแต่งกายอีกด้วย

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
สังคมญี่ปุ่นเริ่มมีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความชอบและความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดโอกาสทางการค้าสำหรับสินค้าใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภค ดังเช่นสินค้าเครื่องสำอางและเครื่องประดับของผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นอีกกลุ่มสินค้าหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย
สำหรับสังคมไทยที่มีแนวโน้มเปิดกว้างและยอมรับในความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่อดีต ทำให้เรามีจุดแข็งในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ส่งผลให้เกิดกระแสซีรี่ย์วายซึ่งเป็นกระแสไปทั่วโลกรวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชื่นชอบซีรีย์วายไทยอย่างมาก ทำให้มีบริษัทหลายบริษัทสนใจนำเข้าคอนเทนต์ของไทยมาเผยแพร่ในญี่ปุ่น นอกจากนี้ นักแสดงในซีรีย์ยังมีแฟนคลับในญี่ปุ่นจำนวนมากจนกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าไทยในญี่ปุ่น ซึ่งสามารถต่อยอดสู่สินค้าต่างๆในวงกว้าง และอาจสร้างมูลค่าส่งออกได้อย่างมหาศาลในอนาคต

————————————–
ฉบับที่ 44 ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566

ที่มา :
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หนังสือพิมพ์ NIKKEI ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2566
https://www.nikkei.com/article/DGKKZO72972270S3A720C2MM0000/
https://www.mikimoto.com/jp_jp/jewellery/collections/passionoir
https://www.wsp.ne.jp/
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login