สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2566
เกษตรกรชาวแคนาดาประสบปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตของข้าวสาลีลดลงครั้งใหญ่ในรอบเกือบทศวรรษ ปัจจุบันแคนาดาเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีใหญ่อันดับห้าของโลก (รองจาก จีน อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย) หน่วยงานสถิติแคนาดาประเมินปริมาณผลผลิตข้าวสาลีในปี 2566 ที่ระดับ 29.5 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 8 ปี ซึ่งต่ำกว่าที่เคยมีการประเมินในเบื้องต้นที่ระดับ 30.4 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่การผลิตที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ โดยนักวิเคราะห์มองว่าจะส่งผลต่อราคาและปริมาณการส่งออก ในปีนี้พื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีทั้งในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ภูมิภาคอเมริกาใต้ ยุโรป และออสเตรเลีย หรือเกือบทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกันคือภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ข้าวสาลีสายพันธุ์ Spring Wheat ที่นำมาผลิตขนมปัง มีผลผลิตลดลงร้อยละ 14.5 ที่ระดับ 22.1 ล้านตัน ในขณะที่ข้าวสาลีสายพันธุ์ Durum ที่นำมาผลิตเส้นพาสต้ามีผลผลิตลดลงร้อยละ 26 เหลือที่ระดับ 4.3 ล้านตัน นอกจากข้าวสาลีแล้ว ภัยแล้งส่งผลถึงพืชเศรษฐกิจอื่นที่สำคัญของแคนาดา อาทิ เมล็ดคาโนล่า (ที่นำมาผลิตน้ำมันพืชและอาหารสัตว์) โดยผลผลิตของคาโนล่าลดลงร้อยละ 6 อยู่ที่ปริมาณ 17.6 ล้านตัน เป็นระดับปริมาณผลผลิตที่ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ผลผลิตของธัญพืชข้าวโอ๊ต (Oat) ลดลงกว่าร้อยละ 50 ที่ระดับ 2.4 ล้านตัน เป็นปีที่ผลผลิตต่ำสุดในรอบ 32 ปี
ความเห็นของ สคต.
ภัยแล้งหรือผลกระทบจาก Climate Change ในปีนี้มีผลกระทบสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยแคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าธัญพืชหลักของโลกตั้งแต่ข้าวสาลี (แคนาดาส่งออกเป็นอันดับ 5 ของโลก) คาโนล่า (อันดับ 1 ของโลก) ถั่วเหลือง (อันดับ 4 ของโลก) ถั่ว Pulse (อันดับ 5 ของโลก) รวมถึงเนื้อหมู (อันดับ 3 ของโลก) เนื้อวัว (อันดับ 7 ของโลก) โดยกว่าร้อยละ 50 ของผลผลิตภายในประเทศเป็นการส่งออก เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีพื้นที่การเพาะปลูกและการทำปศุสัตว์มหาศาล แต่มีจำนวนประชากรเพียง 40 ล้านคน ทำให้ผลผลิตการเกษตรของแคนาดายังคงต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักและด้วยผลกระทบของภัยแล้งที่ส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตในปีนี้ จะส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าเกษตรและ Agri Food ของแคนาดาลดลง ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจในประเทศแคนาดาที่มีสัญญาณชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งทุกวันนี้ Climate Change เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่น้อย สำหรับไทยแคนาดาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับต้นๆ ของไทยในสินค้าเหล่านี้ด้วย ปี 2565 ไทยนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากแคนาดาเป็นอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. ๑๑๖๙ (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +๖๖ ๒๗๙๒ ๖๙๐๐)
ข้าวสาลีสายพันธุ์ Spring Wheat ที่นำมาผลิตขนมปัง |
ข้าวสาลีสายพันธุ์ Duram Wheat ที่นำมาผลิตเส้นพาสต้า |
ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)