ญี่ปุ่นเริ่มมีการวางจำหน่ายกล้วยนำเข้าจากประเทศใหม่ๆเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการนำเข้าจากประเทศใหม่ๆ เช่น ลาว และเวียดนาม บริษัท Trading Firm และร้านขายส่งผลไม้ก็เริ่มจำหน่ายกล้วยนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าพันธุ์กล้วยใหม่ๆที่เหมาะกับการใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารและแนะนำวิธีการรับประทานกล้วยต่างๆเพื่อเพิ่มการรับรู้และนำไปสู่การเพิ่มปริมาณการบริโภค
บริษัท ANA FOODS CO., LTD. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ANA TRADING CO., LTD. พยายามจัดซื้อและนำเข้ากล้วยจากประเทศลาวซึ่งปลูกในพื้นที่สูง โดยบริษัทเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 และมีช่องทางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศญี่ปุ่น และสามารถจำหน่ายได้เดือนละ 20,000 กล่อง (1 กล่องประมาณ 13-15 กิโลกรัม) ต่อเดือน กล้วยของประเทศลาวปลูกในพื้นที่สูงที่มีอุณหภูมิตอนกลางวันและกลางคืนต่างกันมาก และใช้เวลาเพาะปลูกนานกว่ากล้วยที่ปลูกในพื้นที่ต่ำหลายสัปดาห์ ผลกล้วยมีการสะสมแป้งสูงทำให้มีรสหวาน ราคาจำหน่ายในร้านค้าปลีกประมาณ 250 เยน (ประมาณ 65 บาท) ซึ่งราคาย่อมเยากว่ากล้วยฟิลิปปินส์
จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นพบว่า ปี 2565 มีการซื้อกล้วยประมาณ 19 กิโลกรัมต่อครัวเรือน (จำนวนสมาชิกครัวเรือน 2 คนขึ้นไป) และเป็นผลไม้ที่มีปริมาณการจำหน่ายสูงสุดภายในประเทศ สามารถรับประทานได้ตลอดปีและเกือบทั้งหมดเป็นกล้วยจากต่างประเทศ นำเข้าปริมาณกว่า 1 ล้านตันต่อปี
ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์และเอกวาดอร์ แต่เนื่องจากกล้วยฟิลิปปินส์ประสบปัญหาโรคระบาด ทำให้ญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้น ปริมาณนำเข้ากล้วยจากประเทศลาวปี 2565 เท่ากับ 3,200 ตัน เพิ่มขึ้น 4.6 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2564 นอกจากนี้ บริษัท Dole ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในสินค้าผักและผลไม้สด ได้พยายามนำเข้ากล้วยจากประเทศเวียดนาม ทำให้ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงเดียวกัน สำหรับกล้วยจากเอกวาดอร์ มีการนำเข้าในช่วงเดียวกันลดลงร้อยละ 16 เนื่องจากประสบปัญหาด้านการขนส่งทางทะเลในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
การนำเข้ากล้วยจากลาวแตกต่างจากการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์เพราะไม่เสียภาษีนำเข้า เจ้าหน้าที่ Japan Banana Importers Association ซึ่งเป็นสมาคมที่เป็นการรวมตัวกันของบริษัทผู้นำเข้าและบริษัทโลจิสติก กล่าวว่า ประเทศในเอเชียมีแนวโน้มเป็นประเทศส่งออกกล้วยสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้และมีความได้เปรียบเรื่องภาษีนำเข้า
เจ้าหน้าที่ บริษัท ANA FOODS CO., LTD. ได้กล่าวถึงข้อดีของกล้วยลาวว่า สามารถคุมต้นทุนในการจัดซื้อได้ดีกว่ากล้วยฟิลิปปินส์ที่ปลูกในพื้นที่สูง จึงสามารถตั้งราคาได้ย่อมเยา และบริษัทพยายามร่วมมือกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อยกระดับการควบคุมคุณภาพสินค้าและเทคนิคการห่อบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ร้อยละ 3 ของทั้งหมด แต่จะพยายามเพิ่มปริมาณการจำหน่ายให้มากขึ้นในอนาคต ด้านซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายกล้วยลาวให้ความเห็นว่า ทั้งรสชาติและรูปลักษณ์ไม่ด้อยไปกว่ากล้วยฟิลิปปินส์ และคาดว่า กล้วยลาวจะกลายเป็นอีกหนึ่งในเสาหลักของกล้วยนำเข้าที่วางจำหน่าย
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอการรับประทานกล้วยที่นอกเหนือจากการรับประทานผลสดอีกด้วย บริษัท Matsukou ซึ่งเป็นบริษัทขายส่งผักและผลไม้นำเข้าโดยเฉพาะ กำลังพยายามส่งเสริมการจำหน่ายกล้วยกล้าย (plantain) ซึ่งเป็นพันธุ์กล้วยจากอเมริกาใต้ที่นิยมใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหาร เช่น ทอดหรือย่างบนกระทะ เป็นต้น มีความคล้ายมันสำปะหลังและมันเทศ สำหรับบริษัท Matsukou แล้ว กล้วยเป็นสินค้าหลักของบริษัท ปัจจุบัน คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนมากขึ้น ทำให้กล้วยพันธุ์สำหรับทำอาหารมีวางจำหน่ายมากขึ้น เป็นโอกาสทำให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักวิธีการรับประทานกล้วยที่แปลกใหม่ ในปี 2565 บริษัทได้เริ่มนำเข้าและจำหน่ายกล้วยพันธุ์สำหรับทำอาหาร และมีซูเปอร์มาร์เก็ตในโตเกียววางจำหน่าย ปัจจุบัน มีการจำหน่าย 30 เคส/เดือน ในราคา 2 ลูก 430 เยน (ประมาณ 110 บาท) ซึ่งกล้วยสำหรับทำอาหารยังไม่เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น บริษัทจึงพยายามทำป้ายอธิบายให้ลูกค้าได้เข้าใจถึงรสชาติและวิธีการปรุงอาหารเพื่อส่งเสริมการรับรู้ต่อไป
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการบริโภคกล้วยหอมเป็นจำนวนมาก แต่มีการผลิตในประเทศน้อย โดยในแต่ละปีจะมีการนำเข้ากล้วยหอมถึงกว่าปีละ 1 ล้านตัน แหล่งนำเข้าที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าในปี 2565 สูงถึงร้อยละ 76 โดยมีประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 9
แม้ว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 จะให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยหอมจากประเทศไทยเป็นโควต้าส่งออกจำนวน 8,000 ตันแรกก็ตาม แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกได้สูงสุดเพียง 2,890.44 ตัน ในปี 2564 เท่านั้น โดยมีเหตุผลมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ราคากล้วยของไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง จำนวนผลผลิตกล้วยไทยที่ไม่สามารถส่งออกได้ในปริมาณมากตลอดทั้งปี และมาตรการของประเทศไทยในการควบคุมการจัดการสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เพื่อการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น (Control Measure) ซึ่งมีความเข้มข้นการควบคุมการบริหารจัดการในระดับสูง
———————————————————————————————–
ที่มา :
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 10 เมษายน 2566
https://www.nikkei.com/
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)