1. ภาพรวม
เศรษฐกิจของบังกลาเทศแสดงสัญญาณการชะลอตัวลง แม้ว่าตัวชี้วัดบางประการ เช่น การส่งออกและการส่งเงินกลับจากต่างประเทศ ยังคงมีแนวโน้มบวก ภาคธุรกิจโดยรวมมีท่าทีระมัดระวัง มีการคาดการณ์การเลือกตั้งครั้งถัดไป และเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน จากความท้าทายหลักมาจากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป (Ready-Made Garment – RMG) ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ การพัฒนาที่น่าสังเกต คือ การเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) เพื่อรับเงินกู้รอบที่ 4 และ 5 หลังจากที่ยืดเยื้อเกี่ยวกับเงื่อนไขการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เสรีมากขึ้นและนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ โดยสุดท้ายแล้วบังกลาเทศต้องยอมตกลงดำเนินการปฏิรูปตามเงื่อนไข
2. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาค
2.1 การส่งออก
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567-2568 (กรกฎาคม 2567 – มีนาคม 2568) การส่งออกเติบโต 9.45% คิดเป็นมูลค่า 37.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.63% จาก 33.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือนมีนาคม การส่งออกเพิ่มขึ้น 11.44% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นมูลค่า 4.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุตสาหกรรม RMG ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน สิ่งทอเฉพาะทาง และผลิตภัณฑ์รองเท้ามีการเติบโตในระดับปานกลาง อุตสาหกรรมป่าน ยังคงซบเซาโดยแทบไม่มีการเติบโต ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรลดลง 25.72% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สะท้อนถึงความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ
2.2 การส่งเงินกลับจากต่างประเทศ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567-2568 การส่งเงินกลับจากต่างประเทศของแรงงานโพ้นทะเลเพิ่มขึ้น 28.3% เป็น 24.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนมีนาคมและเมษายนเพียงสองเดือน บังกลาเทศได้รับเงินส่งกลับถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้รับเพิ่มอีก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม ตั้งแต่ก่อนเทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา (ตรุษแขก) การส่งเงินกลับและเงินกู้ที่คาดว่าจะได้รับภายในเดือนมิถุนายนจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่องบประมาณที่ตึงตัวของบังกลาเทศในช่วงสิ้นปีงบประมาณ
2.3 การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
การเติบโตของ GDP ในปีงบประมาณนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.97% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 34 ปี หากไม่นับช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาคเกษตรกรรมและบริการเผชิญกับการเติบโตลดลง มีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรม RMG ที่สามารถเติบโตได้ ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังคงซบเซา รายได้ต่อหัวคาดว่าจะแตะ 2,820 ดอลลาร์สหรัฐ
2.4 การคาดการณ์และปัจจัยกระทบ
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ระบุว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจเกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการประท้วงยืดเยื้อของแรงงานในโรงงาน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังของบังกลาเทศคาดการณ์ว่า GDP ในปีงบประมาณ 2567-2568 น่าจะอยู่ที่ 462 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะทะลุ 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2568-2569 โดยคาดว่า GDP จะเติบโต 5.5% ในปีถัดไป
3. เงินกู้จาก IMF
บังกลาเทศตกลงเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นตามกลไกตลาด แทนการยึดติดกับระบบ crawling peg ที่กำหนดอัตรากลางที่ 119 ตากา (BDT) และอนุญาตให้ผันผวนได้เพียง 2.5% ส่งผลให้ IMF อนุมัติเงินกู้รอบที่ 4 และ 5 รวม 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากแพ็กเกจเงินกู้ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่อนุมัติในต้นปี 2566 โดยบังกลาเทศได้รับเงินกู้ไปแล้ว 2.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในสามรอบก่อนหน้า
3.1 ความคืบหน้าการเจรจา
IMF และบังกลาเทศบรรลุข้อตกลงระดับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับนโยบายที่จำเป็นสำหรับการทบทวนรอบที่สามและสี่ของโปรแกรมปฏิรูปที่สนับสนุนโดย Extended Credit Facility, Extended Fund Facility และ Resilience and Sustainability Facility ข้อตกลงนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของ IMF โดยขึ้นอยู่กับการดำเนินการล่วงหน้าตามเงื่อนไข
3.2 นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
บังกลาเทศยอมรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยอนุญาตให้ผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด แต่ธนาคารแห่งบังกลาเทศ (Bangladesh Bank) ยังคงมีอำนาจแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพ รวมถึงการใช้กองทุน stabilization fund มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดความผันผวนที่มากเกินไป
3.3 การขยายวงเงินกู้
ในเดือนธันวาคม 2567 รัฐบาลบังกลาเทศร้องขอเพิ่มวงเงินสนับสนุนจาก IMF อีก 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคและเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความผันผวนจากภายนอก นายกฤษณะ ศรีนิวาสาน (Krishna Srinivasan) ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของ IMF ระบุว่า การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการคลังจะช่วยให้บังกลาเทศฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากวิกฤตที่ภูมิภาคเผชิญจากปัจจัยกระทบหลายประการ
3.4 ปัจจัยสนับสนุน
การเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นเป็นไปได้เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้นหลังการชำระเงินในเดือนธันวาคม 2567 การส่งออกที่แข็งแกร่ง การเพิ่มขึ้นของเงินส่งกลับผ่านธนาคาร และการลดลงของการไหลออกของเงินทุนที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยเสริมปริมาณเงินสำรองในประเทศ
4. ความท้าทาย
4.1 นโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ
4.1.1 ผลกระทบจากภาษี
สหรัฐฯ ภายใต้นโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กำหนดอัตราภาษี 37% สำหรับบังกลาเทศ ซึ่งสร้างความกังวลอย่างมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรม RMG โดยมีการนำเข้าประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี บังกลาเทศเป็นผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่อันดับสามของสหรัฐฯ รองจากจีนและเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 9.3% ของการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด บังกลาเทศมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มาหลายปี โดยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงถั่วเหลือง ฝ้าย และเหล็กกล้า
4.1.2 การตอบสนองของบังกลาเทศ
นายมูฮัมหมัด ยูนูส (Muhammad Yunus) ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรัฐบาลชั่วคราว จึงได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีทรัมป์ ขอให้เลื่อนการบังคับใช้ภาษีออกไป 3 เดือน และเสนอซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งเสนอการลดภาษี และขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี โดยในเดือนพฤษภาคม ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นายเจมีสัน เกรียร์ (Jamieson Greer) ส่งจดหมายถึงที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ของบังกลาเทศ (รมว. พาณิชย์) ชื่นชมความริเริ่มในการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม พร้อมกระตุ้นให้บังกลาเทศแก้ไขประเด็นอื่น ๆ เช่น สิทธิแรงงานและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าดิจิทัล สหรัฐฯ จะเริ่มการเจรจาเมื่อได้รับข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรจากบังกลาเทศ
4.1.3 มุมมองภาคเอกชน
นักธุรกิจในอุตสาหกรรม RMG ยังคงมองโลกในแง่ดีว่าผลกระทบต่อธุรกิจจะลดลงในที่สุด เนื่องจากบังกลาเทศนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯ เพื่อผลิต RMG และสิ่งทอ นอกจากนี้ คู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้ เช่น จีน เวียดนาม และกัมพูชา เผชิญกับอัตราภาษีที่สูงกว่าบังกลาเทศ
4.2 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดียและบังกลาเทศที่ถดถอย
4.2.1 การยกเลิกการขนส่งผ่านแดน
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 อินเดียยกเลิกการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งผ่านแดนสำหรับการส่งออกของบังกลาเทศไปยังประเทศที่สามผ่านชายแดนทางบก โดยอ้างถึง “ความแออัดที่สนามบินและท่าเรือ” ซึ่งนำไปสู่ “ความล่าช้าและต้นทุนที่สูงขึ้น” ที่ขัดขวางการส่งออกของอินเดีย มาตรการนี้จะกระทบการส่งออก RMG ของบังกลาเทศไปยังผู้ซื้อที่เคยใช้สนามบินอินเดีย เช่น Zara
4.2.2 การจำกัดการนำเข้าเส้นด้าย
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2568 บังกลาเทศจำกัดการนำเข้าเส้นด้ายผ่านชายแดนทางบก หลังผู้ผลิตในประเทศร้องเรียนว่าเส้นด้ายราคาถูกจากอินเดียทำให้พวกเขาขาดทุนหนัก
4.2.3 การจำกัดการนำเข้าสินค้าบางประเภท
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2568 อินเดียจำกัดการนำเข้าสินค้าบางรายการจากบังกลาเทศ เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูป และสินค้าพลาสติก เว้นแต่จะขนส่งผ่านท่าเรือที่กำหนดสองแห่ง
5. ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต
5.1 การสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันระหว่างประเทศ
นอกจาก IMF แล้ว คาดว่าธนาคารโลก (World Bank) และ ADB จะให้การสนับสนุนงบประมาณอีก 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนหน้า กระทรวงการคลังกำลังเจรจาขอเงินทุน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank – AIIB) และญี่ปุ่น ซึ่งอาจสรุปได้ก่อนเดือนมิถุนายน
5.2 การเจรจาเงินกู้ที่กำลังดำเนินการ
• จากธนาคารโลกภายใต้โปรแกรม Resilience and Recovery Development Policy Credit-II สำหรับเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• จากADB ด้วยวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้ Banking Sector Reforms Subprogramme 1 และ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้ Climate Responsive Inclusive Development Program (CRID) – Subprogramme 2
• จากญี่ปุ่นสำหรับเงินกู้ 418 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้ Japan’s Development Policy Loan for Economic Reform and Strengthening Climate Change Resilience
5.3 ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น
ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นสามารถทำให้การส่งออกของบังกลาเทศมีราคาถูกลงและแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก ซึ่งอาจดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ส่งผลให้ภาคการส่งออกแข็งแกร่งขึ้นและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม อาจเพิ่มภาระให้รัฐบาลที่ต้องชำระหนี้ต่างประเทศในอนาคต
5.4 การปฏิรูปตามเงื่อนไข IMF
เงื่อนไขเงินกู้ของ IMF บังคับให้บังกลาเทศใช้แนวทางที่เน้นกลไกตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน และปฏิรูปภาคธนาคารเพื่อความโปร่งใสมากขึ้น มีการออกระเบียบควบคุมไม่ให้สมาชิกครอบครัวจำนวนมากเข้าร่วมคณะกรรมการธนาคารเดียวกันพร้อมกัน เพื่อป้องกันการกู้ยืมที่ไม่โปร่งใสและกลายเป็นหนี้สูญ (Non-Performing Loan – NPL) ในเดือนมกราคม 2568 รัฐบาลชั่วคราวตั้งทีมสืบสวนเพื่อตรวจสอบการฉ้อโกงเงินกู้ขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ 10 กลุ่มธุรกิจที่มีหนี้ค้างชำระ 4.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทเหล่านี้ เช่น Beximco, S Alam, Summit, Bashundara และ Sikder มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคสันนิบาตประชาชน (Awami League)
5.5 ทิศทางเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลชั่วคราว
ภายใต้การนำของรัฐบาลชั่วคราว เศรษฐกิจของบังกลาเทศมุ่งสู่ความมั่นคง ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ด้วยวาระที่คาดว่าจะสั้นและขาดประสบการณ์ทางการเมือง รัฐบาลนี้มีข้อจำกัดในการปฏิรูประบบทั้งหมด แม้จะมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตภายใต้รัฐบาลก่อนหน้า แต่บริษัทท้องถิ่นและต่างชาติยังรายงานว่าพบอุปสรรค เช่น การจงใจชะลอการออกใบอนุญาตหรือการผ่านพิธีการศุลกากร
5.6 โอกาสสำหรับนักลงทุนไทย
สำหรับนักลงทุนไทย โอกาสอยู่ที่การเข้าร่วมในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่อยู่ในงบประมาณ ซึ่ีงส่วนใหญ่จะได้รับเงินกู้จากญี่ปุ่นและจีน ดังนั้น บริษัทเอกชนไทยควรหาทางร่วมงานมากกว่าการแข่งขันโดยการการรับเหมาช่วงและการร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศที่สามยังคงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากกว่าเข้ามาแข่งขันด้วยตนเอง
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สภาวะเศรษฐกิจของบังกลาเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2568