หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > สวีเดนรวมพลังคว่ำบาตรค้าปลีกรายใหญ่

สวีเดนรวมพลังคว่ำบาตรค้าปลีกรายใหญ่

ผู้บริโภคในสวีเดนจำนวนมากร่วมกันคว่ำบาตรร้านซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น ICA, Coop, Lidl และ Willys เพื่อประท้วงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 22% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ซึ่งผู้บริโภคเชื่อว่าเกิดจากการผูกขาดของผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่มุ่งหวังกำไรเกินควร
การประท้วงเริ่มขึ้นบนโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 17 มีนาคม โดยมีแคมเปญ Bojkotta vecka 12 (สัปดาห์แห่งการคว่ำบาตร ระหว่างวันที่ 17 – 23 มีนาคม 2568) ที่เชิญชวนให้ผู้คนหยุดซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตและใช้ของที่มีอยู่ในบ้านในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว การเคลื่อนไหวนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงลักษณะเดียวกันในบัลแกเรียและโครเอเชีย ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวได้รับความสนใจจากทางการเมืองเมื่อรัฐบาลสวีเดนเปิด การเจรจากับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อหารือปัญหาค่าครองชีพ และความไม่พอใจของผู้บริโภคบางกลุ่ม
สมาคมผู้ค้าปลีกอาหารของสวีเดนปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการแสวงหากำไรเกินควร โดยระบุว่าร้านค้าหลายแห่งกำลังประสบปัญหาขาดทุน และมีอัตรากำไรเฉลี่ยอยู่เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ สาเหตุที่ราคาสินค้าพุ่งสูงมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ สงครามในยูเครน ผลกระทบใน supply chain ภาวะโลกร้อน เงินโครนสวีเดนอ่อนค่า ต้นทุนการผลิต และต้นทุนโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานการแข่งขันทางการค้าของสวีเดนตั้งข้อสังเกตว่าตลาดค้าปลีกอาหารในประเทศมีลักษณะกระจุกตัวสูง โดย 3 บริษัทใหญ่ถือครองสัดส่วนถึงเกือบ 90% ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันเสรี และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเกินความเหมาะสม
ล่าสุด ผู้ประท้วงได้ประกาศ Boycott 2.0 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม โดยเริ่มจาก ICA เป็นรายแรก และจะเพิ่มการคว่ำบาตรร้านค้ารายใหม่ทุกสัปดาห์ รวมทั้งหันไปสนับสนุนผู้ผลิตท้องถิ่นมากขึ้น
ที่มา: Food Ingredients First

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. โคเปนเฮเกน:
ถึงแม้ว่าสถานการณ์การคว่ำบาตรซูเปอร์มาร์เก็ตในสวีเดนอาจส่งผลกระทบต่อสินค้ากลุ่มต่างๆ ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ยังเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์การเจาะตลาด โดยสามารถพิจารณาเพิ่มช่องทางจำหน่าย เช่น ร้านค้าอิสระ ร้านของชำท้องถิ่น และร้านค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชียเพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนผู้ขายรายเล็ก อีกทั้งยังเป็นโอกาสดีในการผลักดันสินค้า ที่สอดคล้องกับกระแสผู้บริโภคยุโรป เช่น สินค้าออร์แกนิก สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดแข็งของผู้ผลิตไทยหลายรายอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาการปรับลดขนาด และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าให้มีราคาจับต้องได้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงนี้ พร้อมทั้งเน้นการประชาสัมพันธ์สื่อสารภาพลักษณ์ร่วมกับผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อการขยายตลาดอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สวีเดนรวมพลังคว่ำบาตรค้าปลีกรายใหญ่

Login