หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > Luckin Coffee ลงบันทึก MOU ในอินโดนีเซีย ขยายห่วงโซ่อุปทานมะพร้าว

Luckin Coffee ลงบันทึก MOU ในอินโดนีเซีย ขยายห่วงโซ่อุปทานมะพร้าว

 

Luckin Coffee แฟรนไชส์และบริษัทใหญ่ในด้านกาแฟของจีน ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับหมู่เกาะบังไก ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของจังหวัดสุลาเวสีกลาง ประเทศอินโดนีเซีย บันทึกความเข้าใจที่ลงนามร่วมกับเขตบังไกมอบสิทธิ์ให้ Luckin Coffee และพันธมิตรสามารถจัดหามะพร้าวจากภูมิภาคนี้ได้แต่เพียงผู้เดียว ในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนที่จะจัดหามะพร้าวจากเกาะบังไกประมาณ 1 ล้านตัน นับตั้งแต่วันที่ 13  มีนาคม 2568 เกาะดังกล่าวจะมีชื่อเรียกว่า.“Luckin Exclusive Coconut Island” โดยหมู่เกาะบังไกถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคผลิตมะพร้าวชั้นนำของโลก เป็นแหล่นต้นทางของกะทิคุณภาพสูงที่ใช้ในลาเต้มะพร้าว เครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของแบรนด์ Luckin Coffee

 

 

นอกเหนือจากการจัดหาวัตถุดิบแล้ว Luckin Coffee จะร่วมมือกับเขตเกาะบังไกในการปรับปรุงพัฒนาทรัพยากรมะพร้าวคุณภาพสูง โดยบริษัทและพันธมิตรมีแผนจัดตั้งศูนย์เกษตรกรรมในภูมิภาคนี้เพื่อเพิ่มผลผลิตมะพร้าว พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรด้วยต้นกล้า ปุ๋ย และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการลงทุน ในอุตสาหกรรมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน โดยเน้นการเติบโตระยะยาวและการสนับสนุนความยั่งยืนในท้องถิ่น ผ่านความช่วยเหลือทางเทคนิคและความร่วมมือ

 

 

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่จีนและอินโดนีเซียฉลองครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต และในขณะที่อินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของจีนที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าพหุภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น Luckin Coffee กำลังขยายห่วงโซ่อุปทานคุณภาพสูงระดับโลก พร้อมทั้งกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับแหล่งวัตถุดิบชั้นนำทั่วโลก ความเคลื่อนไหวนี้ยังสนับสนุนโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจโลกให้เปิดกว้างมากขึ้น และแสดงถึงศักยภาพของแบรนด์จีนในเวทีนานาชาติ

ที่มา : https://banggaikep.go.id/portal/category/berita/

 

 

ทำไมถึงเป็นมะพร้าวของหมู่เกาะบังไก

หลังจากที่ ลาเต้นมมะพร้าวสด (生椰拿铁) ของ Luckin Coffee ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย ราคามะพร้าวจากแหล่งผลิตหลักในมณฑลไหหลำพุ่งสูงขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ราคาที่โรงงานรับซื้อมะพร้าวไหหลำเพิ่มสูงขึ้นจากลูกละ 2 หยวน เป็น 6.5 หยวน และในเดือนสิงหาคม 2024 ราคามะพร้าวเหวินชางก็ปรับตัวสูงขึ้นจาก 5 หยวน เป็นประมาณ 7.2 หยวนต่อลูก

จากรายงานของสำนักข่าวด้านการเงิน east money กล่าวว่า ในความเป็นจริงปริมาณการผลิตมะพร้าวในมณฑลไหหลำไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้เพียงพอ โดยในปี 2022 ไหหลำผลิตมะพร้าวได้ 223 ล้านลูก คิดเป็นเพียง 10% ของความต้องการในตลาดจีน ขณะที่เมื่อพิจารณาเฉพาะความต้องการใช้มะพร้าวของ Luckin Coffee ในปี 2024 เพียงรายเดียวก็อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะเมนูลาเต้มะพร้าว ที่มียอดขาย มากกว่า 700 ล้านแก้วในปีเดียว หรือเฉลี่ยมากกว่า 2 ล้านแก้ว/วัน ตลอดทั้งปี 2024 ที่ผ่านมา Luckin Coffee ใช้มะพร้าวมากถึง 200,000 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 500,000 ลูก และลาเต้มะพร้าวมียอดขายทะลุ 1.2 พันล้านหน่วย เมื่อเดือนมกราคม 2025 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อดูจากยอดขายดังกล่าว เแม้ว่าจะใช้มะพร้าวจากมณฑลไหหลำทั้งหมดก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการตอบสนองความต้องการบริโภคมะพร้าวจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

 

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมองว่า Luckin Coffee ใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อเข้าถึงแหล่งผลิตโดยตรง เพื่อควบคุมมาตรฐานของห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น พร้อมจัดตั้งระบบควบคุมคุณภาพที่ครอบคลุมตั้งแต่แหล่งผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยอินโดนีเซียถือเป็นประเทศผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก และ หมู่เกาะบังไก (Banggai Islands)  ซึ่งมีพื้นที่รวม 268 ตารางกิโลเมตร ก็เป็นหนึ่งในแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญที่สุดของประเทศ และบนเกาะเปอ (Peleng Island) เกาะที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะนี้ ชาวบ้านท้องถิ่นทำอาชีพเพาะปลูกมะพร้าวมาหลายชั่วอายุคน บนเกาะดังกล่าวมะพร้าวเติบโตตามธรรมชาติ มีรอบการเก็บเกี่ยวปีละ 3-4 ครั้ง โดยไม่มีการใช้สารเร่งโตและไม่มีการเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด

 

 

จีนนำเข้ามะพร้าวในปี2024

ในปี 2024 จีนนำเข้ามะพร้าว (พิกัด 0801) มูลค่ารวม 745.97 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าหลักจากประเทศ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ มีมูล่าการนำเข้าอยู่ที่ 286.73,  235.50,  130.78,  23.52 และ 22.08 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ และสัดส่วนการนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 38.44, 31.57, 17.53, 3.15 และ 2.96 ตามลำดับ

 

 

ในแง่ปริมาณ ปี2024 จีนนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซียมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 405,523.85 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 40.71% ของจีนนำเข้าจากทั่วโลก และจีนนำเข้ามะพร้าวมากเป็นอันดับสองจากไทย โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 340,978.65 ตัน คิดเป็นร้อยละ 34.23% รองลงมาคือเวียดนาม(19.24%) ฟิลิปปินส์(3.11%) และสาธารณรัฐโกตดิวัวร์(0.41%)

นอกจากนี้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2025 มีมูลค่าการนำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าอยู่ที่ 27.83 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 31.89% ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 101.50 ปริมาณจีนนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซีย 59,596.08 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 51.16% และนำเข้ารองลงมาจากประเทศเวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ ตามลำดับ

 

 

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง Luckin Coffee และหมู่เกาะบังไกในอินโดนีเซีย เพื่อขยายห่วงโซ่อุปทานและตอบสนองต่อความต้องการบริโภคลาเต้มะพร้าว เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง  นอกจากนี้ การตั้งศูนย์เกษตรกรรมในภูมิภาคนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ยังเป็นส่วนหนึ่งของการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างจีนและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ภาคเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความแข่งแกร่งและเป็น อู่ข้าวอู่น้ำครัวของโลกที่สำคัญ รวมถึงจีนเองก็ให้ความสำคัญ ดังนั้น ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลก ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนเกษตรกรให้เข้าถึงเทคโนโลยี และผลักดันมาตรฐานสินค้าสู่ระดับสากล เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยมีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

 

https://finance.eastmoney.com/a/202503173347556731.html

https://bangkepkab.bps.go.id/en/publication/2024/02/28/ecdf348abd9a417009625c76/kabupaten-banggai-kepulauan-dalam-angka-2024.html

https://www.globaltimes.cn/page/202503/1330189.shtml

https://banggaikep.go.id/portal/category/berita/

      เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

28 มีนาคม 2568

อ่านข่าวฉบับเต็ม : Luckin Coffee ลงบันทึก MOU ในอินโดนีเซีย ขยายห่วงโซ่อุปทานมะพร้าว

Login