หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > เตรียมผลิตรถถังจากโรงงานรถยนต์

เตรียมผลิตรถถังจากโรงงานรถยนต์

ความกดดันจากกรณีที่นาย Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ออกมาตั้งคำถามถึงการสนับสนุนยูเครนที่ถูกโจมตีโดยรัสเซีย รวมถึงความช่วยเหลือทางทหารสำหรับยุโรป ได้ทำให้นาย Friedrich Merz สังกัดพรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี (CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands นายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีท่าทีที่ต้องการแยกตัวด้านกิจการการป้องกันประเทศให้เป็นอิสระจากสหรัฐฯ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศของเยอรมนี และสหภาพยุโรป (EU) ให้เร็วที่สุด โดยบริษัทผู้ผลิตสินค้ายุทโธปกรณ์ต่าง ๆ คาดการณ์ว่า จะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกเขาจะต้องขยายกำลังการผลิตให้เร็วกว่าที่วางแผนไว้ โดยบริษัท Rheinmetall, KNDS, Hensoldt และ Renk กำลังปรับโครงสร้างกระบวนการของตน และเจรจากับบริษัทต่าง ๆ ที่ปกติผลิตสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้ายุทโธปกรณ์ โดยหันไปซื้อโรงงาน แต่ก็ติดกับปัญหากฎหมายของเยอรมนีที่ปัจจุบันอาจทำให้ขยายกำลังการผลิตเป็นไปได้ยาก กลุ่มบริษัท Rheinmetall ซึ่งตั้งในเมือง Düsseldorf กำลังปรับโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของตนเองให้กลายเป็นโรงงานผลิตอาวุธ นอกจากนี้ Rheinmetall ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ของเยอรมนีได้หันไปขยายความร่วมมือกับบริษัท Continental ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่กำลังประสบปัญหา จนทยอยปลดพนักงานอีกด้วย โดยบริษัท Rheinmetall ต้องการรับพนักงานของ Continental ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงาน เช่นจากโรงงานในเมือง Gifhorn ในรัฐ Niedersachsen ให้เข้ามาช่วยดำเนินการผลิตของบริษัทต่อ นอกจากนี้ บริษัท Continental เองก็ยังได้ร่วมมือกับบริษัท Hensoldt ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเรดาร์ พนักงานของ Continental จะต้องย้ายจากโรงงานในเมือง Wetzlar ที่กำลังจะปิดตัวลง ไปยังแผนกอาวุธของบริษัท Hensoldt นอกจากนี้ บริษัท Hensoldt ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัท Bosch อีกด้วย โดยในการหารือกับ Bosch น่าจะมีการถ่ายโอนพนักงานของบริษัท Bosch จากโรงงานในเมือง Schwäbisch Gmünd ในรัฐ Baden-Württemberg ไปไว้ที่โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ใกล้เคียงกับโรงงานเก่าของ Hensoldt ในเมือง Aalen ในขณะที่ บริษัท Hensoldt และ Rheinmetall กำลังมองหาพนักงาน แต่บางบริษัทก็เข้าเทคโอเวอร์โรงงานทั้งหมดเสียเลย โดยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท KNDS ได้เปิดตัวโรงงานผลิตรถถัง “แห่งใหม่” ในเมือง Görlitz ร่วมกับนาย Olaf Scholz สังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยโรงงานแห่งนี้เคยเป็นโรงงานของบริษัท Alstom ผู้ผลิตรถไฟสัญชาติฝรั่งเศส โดยในโรงงานดังกล่าวแทนที่จะผลิตรถไฟ และรถรางในภูมิภาค ปัจจุบันมีการผลิตส่วนประกอบสำหรับรถถังรุ่น Leopard แทน โดยภาคอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์เรียกการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต ซึ่งเยอรมนีเคยผ่านช่วงเวลานี้มาแล้ว โดยในช่วงทศวรรษ 1990 อุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตกในยุคสงครามเย็นหดตัวลงอย่างหนัก การผลิตแบบต่อเนื่อง (Series Production) ในการสร้างรถหุ้มเกราะ ปืนใหญ่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการป้องกันประเทศ ถูกปรับให้กลายมาเป็นโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคพลเรือนแทน แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมของเยอรมนีกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยจะเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าอุปโภคทั่วไป ไปผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางทหารแทน อย่างไรก็ตามนาย Tom Klindt หุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย Noerr มองเห็นอุปสรรคบางประการ และกล่าวว่า “อุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์มีแรงกดดันมากมายที่ต้อง รักษาเขตแดน และบุคคล แต่ข้อกำหนดทางกฎหมายก็จำกัดขอบเขตในการดำเนินการอย่างหนัก” นาย Klindt กล่าวกับ Handelsblatt ว่า “กฎหมายในเยอรมนีห้ามผลิตอุปกรณ์ทางทหารสต็อกไว้ ซึ่งหมายความว่า ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีคำสั่งซื้อที่แน่นอนก่อนจึงจะสามารถลงทุนผลิตได้

กฎหมายดังกล่าว มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเยอรมนีในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่ใช้เรียกเยอรมนีในยุคสาธารณรัฐระหว่างปี ค.ศ. 1918 – 1933) ซึ่งเป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์และกองทหาร ได้เตรียมพร้อมอย่างลับ ๆ สำหรับสงครามครั้งใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดตามประวัติศาสตร์นี้ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ในปัจจุบัน ผู้จัดการอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์อาวุโสคนหนึ่งของเยอรมนีกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เขาจะกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมทันที หากเขาสั่งซื้อวัสดุจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้เองจนถึงขณะนี้ทำให้การจัดหาเงินทุนจึงค่อนข้างยาก ถึงแม้ว่ามีแนวโน้มที่จะคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะทำให้การขยายการผลิตเป็นเรื่องยาก แต่ฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเยอรมนีก็ช่วยได้ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีศักยภาพด้านโรงงาน และบุคลากรเฉพาะด้านที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเป็นบุคลากรที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตอาวุธ ตัวอย่างเช่น พนักงานจากอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะพวกเขาถือว่า เป็นบุคลากรได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และมีประสบการณ์ด้านการผลิตแบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการมากในอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ โดยสามารถดูประวัตินาย Emmerich Schiller แสดงให้ตัวอย่างดังกล่าว นาย Schiller อดีตผู้บริหารบริษัท Mercedes ได้เข้ามาร่วมกับงานกับบริษัท Renk ซึ่งเป็นผู้นำตลาดโลกด้านระบบส่งกำลังหรือ เกียร์รถถังในปี 2024 โดยนาย Schiller เข้ามารับตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการบริหารตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมและ เข้ามารับผิดชอบด้านการเร่งการผลิตแบบต่อเนื่อง ซึ่งเขาเองก็เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารส่วนต่าง ๆ ของ Mercedes มาก่อนแล้ว บริษัท Renk ผลิตเกียร์ที่มีความแม่นยำสำหรับรถหุ้มเกราะและมีแนวโน้มว่า ในอนาคตจะต้องผลิตเกียร์เหล่านี้ในจำนวนมาก สำหรับ Rheinmetall ดูจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ที่บริษัทจะเริ่มขั้นตอนแรกด้วยการปรับโครงสร้างโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก่อน ในขณะที่ธุรกิจยุทโธปกรณ์กำลังเฟื่องฟู บริษัท Rheinmetall ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์แบบสันดาปไปสู่ระบบการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยบริษัทมีแผนในโอกาสแรกก็คือ การปรับโครงสร้างโรงงานขนาดใหญ่ 2 แห่งในเมือง Neuss และในกรุงเบอร์ลิน พนักงานจะได้รับการฝึกอบรมใหม่ โดยบริษัทประกาศ Rheinmetall ว่า ในอดีตบริษัทจะใช้สายพานการผลิตสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ปัจจุบันบริษัทจะปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปผลิต “อาวุธและกระสุน” แทน เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการกระสุนปืนใหญ่สูง เป็นไปได้ที่โรงงานที่ผลิตสินค้าพลเรือนอื่น ๆ ของ Rheinmetall ก็อาจปรับโครงสร้างสายพานการผลิตตามเช่นกัน โดยปัจจุบันบริษัท Rheinmetall มีโรงงานทั้งหมด 180 แห่ง โดย 24 แห่ง เป็นโรงงานที่ใช้สำหรับชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งก็เป็นไปได้ที่อนาคตของโรงงาน Volkswagen ในเมือง Osnabrück ก็อาจจะดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดย VW ไม่มีคำสั่งผลิตในโรงงานดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นไปได้ที่อาจจะมีการขายโรงงาน VW นี้ให้กับ Rheinmetall นอกจากนี้ ตามแหล่งข่าววงในอุตสาหกรรมฯ มีการรายงานให้ทราบว่า มีการติดต่อจากภาคการเมืองอีกด้วย ซึ่งตอนนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องชัดเจนมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เนื่องจากเมือง Osnabrück นั้นเป็นเขตเลือกตั้งของนาย Boris Pistorius (SPD) รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แต่การปรับเปลี่ยนโรงงานผลิตรถยนต์ให้เป็นโรงงานผลิตอาวุธเป็นภารกิจที่ซับซ้อนมาก นาย Klindt เตือนว่า “การผลิตทางทหารต้องดำเนินตามข้อกำหนดที่เข้มงวด โรงงานจะต้องถูกปิดกั้น และต้องคัดกรองบุคลากรอย่างเข้มงวด การใช้บริษัทงานภายนอกถูกจำกัดอย่างเข้มงวด” เฉพาะการดัดแปลงโรงงาน Alstom ในเมือง Görlitz เพียงแห่งเดียวก็ใช้เวลานานถึง 2 ปี แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดในปัจจุบันก็คือ รัฐบาลกลางเยอรมันในอนาคตจะต้องเร่งความเร็วในการทำงาน และให้แน่ใจได้ว่าภาคอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์จะสามารถส่งมอบงานได้อย่างรวดเร็วตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาอันยาวนานระหว่างการวางคำสั่งซื้อ และการเร่งการผลิต ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ นาย Klindt กล่าวว่า “งบประมาณด้านการป้องกันประเทศจะต้องถูกแยกออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ เราจำเป็นต้องมีการวางแผนงบประมาณเป็นระยะเวลา 10  – 15 ปี รัฐบาลกลางชุดต่อไปจะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็ว” หากไม่มีการวางแผนระยะยาว การลงทุนก็จะไม่เกิดขึ้น และเอกราชทางการทหารจากสหรัฐอเมริกาก็จะไม่เกิดขึ้น

 

จาก Handelsblatt 17 มีนาคม 2568

อ่านข่าวฉบับเต็ม : เตรียมผลิตรถถังจากโรงงานรถยนต์

Login