คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากยุโรปร้อยละ 25 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันพุธที่ 12 มีนาคม 2025
การขึ้นภาษีของสหภาพยุโรปจะมีผลกระทบกับการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ มูลค่าสูงสุด 26,000 ล้านยูโร และจะมีมาตรการตอบโต้ออกเป็น 2 ขั้นตอน (1) สหภาพยุโรปจะนำมาตรการตอบโต้ที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ปี 2018 และ 2020 กลับมาใช้กับสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง (Reimposing suspended countermeasures) ครอบคลุมสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ วิสกี้เบอร์เบิน (Bourbon) เนยถั่ว ยีนส์ เรือ และรถจักรยานยนต์ Harley Davidson โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เพื่อตอบโต้ต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับการส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมของสหภาพยุโรปมูลค่า 8 พันล้านยูโร (2) คณะกรรมาธิการยุโรปจะนำมาตรการตอบโต้ชุดใหม่มาใช้กับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ (Additional Countermeasures) ในช่วงกลางเดือนเมษายน ซึ่งจะมีการหารือกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์หนัง เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน พลาสติก ผลิตภัณฑ์ไม้ เนื้อไก่ เนื้อหมู อาหารทะเล ไข่ ผลิตภัณฑ์นม น้ำตาล และผัก เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของสหภาพยุโรปมูลค่ากว่า 18,000 ล้านยูโร
Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อมาตรการนี้ ด้วยตระหนักดีว่าภาษีนำเข้าจะส่งผลกระทบทางลบต่อทั้งภาคธุรกิจและยิ่งส่งผลกระทบที่เลวร้ายกว่าต่อผู้บริโภค ภาษีเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และส่งผลต่อการจ้างทำให้ตำแหน่งงานมีความเสี่ยง รวมถึงราคาสินค้าที่จะสูงขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น
สถาบันการเงินหลายแห่งในเนเธอร์แลนด์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเดือนธันวาคม ธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ (Dutch central bank : DNB) เรียกร้องให้สหภาพยุโรปไม่ดำเนินการตอบโต้มาตรการภาษีนำเข้าของทรัมป์ โดยเตือนว่าสงครามการค้าจะส่งผลเสียอย่างมากต่อเนเธอร์แลนด์ในฐานะประเทศการค้า หากเกิดสงครามการค้า การเติบโตของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์จะลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2025 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2026 นอกจากนี้ ธนาคาร ABN Amro ยังเตือนว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การส่งออกอาหารของเนเธอร์แลนด์ไปยังสหรัฐฯ ลดลงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ธนาคาร Robobank เตือนว่าภาวะเงินเฟ้อในเนเธอร์แลนด์จะสูงขึ้น
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้นำเข้าเหล็กของเนเธอร์แลนด์รายใหญ่ที่สุด ในปีที่แล้วมีมูลค่าการนำเข้าเหล็กจากเนเธอร์แลนด์ประมาณ 700 ล้านยูโร โดยบริษัท Tata Steel เพียงแห่งเดียวส่งออกเหล็กประมาณ 800,000 ถึง 900,000 ตันต่อปีไปยังสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 12 ของการผลิตทั้งหมดของโรงงานที่ IJmuiden
บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.
มาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรปต่อสหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สร้างความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ การค้า และผู้บริโภค โดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศการค้าและมีสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญ สถาบันการเงินคาดการณ์ว่าสงครามการค้าจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น
ผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยมายังเนเธอร์แลนด์เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม สินค้าเหล็กของไทยที่ส่งออกมายังเนเธอร์แลนด์อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุน และราคา สินค้าไทยบางรายการอาจมีโอกาสขยายตลาดในเนเธอร์แลนด์หากสามารถทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ที่มีการขึ้นภาษีนำเข้าได้ แต่หากเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก ก็อาจจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยของผู้บริโภคลดลง ดังนั้น ผู้ส่งออกควรต้องศึกษาแนวโน้มสินค้าและความต้องการของตลาด เพื่อปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ และสามารถพัฒนาสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สหภาพยุโรปตอบโต้มาตรการทางภาษีของทรัมป์ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันมูลค่า 26,000 ล้านยูโร