ไต้หวันก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” ในปี 2568 ซึ่งหมายความว่าหนึ่งในห้าของประชากรจะมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันได้เตรียมความพร้อมรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาโดยตลอด และดำเนินการตามโครงการดูและระยะยาว 2.0 มาตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้งบประมาณรวมประมาณ 2,810 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไต้หวันสามารถขยายจำนวนสถานดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 720 แห่งเมื่อ 9 ปีก่อน เป็น 15,000 แห่ง ในปัจจุบัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 รัฐบาลไต้หวันได้อนุมัติและเตรียมดำเนินโครงการดูแลระยะยาว 3.0 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการ 2.0 ที่ประสบความสำเร็จ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงระบบดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแนวทางหลัก 5 ประการ ได้แก่
- เพิ่มการเข้าถึงบริการ – ตั้งเป้าหมายให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงสถานดูแลได้ภายในเวลาขับรถไม่เกิน 10 นาทีจากทุกครัวเรือน
- ลดระยะเวลารอคอย – ลดเวลารอคอยของผู้ป่วยนอกให้เหลือเพียงไม่เกิน 0 วัน และเชื่อมโยงบริการดูแลระยะยาวกับระบบโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้ การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรับบริการดูแลระยะยาวจะต้องเสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล
- ขยายกลุ่มเป้าหมาย – ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยกลุ่มที่มีสิทธิ์รับบริการรวมถึง ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ชาวพื้นเมืองที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ และกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- บูรณาการระบบการดูแล – เชื่อมโยงบริการทางการแพทย์และการดูแลระยะยาว เช่น การแพทย์ทางไกล และการดูแลแบบประคับประคอง และจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์มการจัดการข้อมูล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างระบบการแพทย์และระบบดูแลระยะยาว
- นำ AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ – เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการดูแล
โครงการนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองและพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังมีการขยายขีดความสามารถในการให้บริการของศูนย์ดูแลในช่วงเวลากลางวัน เพิ่มบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ และเสริมสร้างศูนย์บริการขนาดเล็กที่ให้บริการหลายฟังก์ชัน โดยรวมถึงการจัดหาบริการช่วงเวลากลางคืนและเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับที่พักชั่วคราว นอกจากนี้ จะนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน โดยจะส่งเสริมการใช้ AI เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) และอุปกรณ์ช่วยเหลือทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการดูแล และพัฒนาการสนับสนุนผู้ดูแลในครอบครัว
โครงการดูแลระยะยาว 3.0 ถือเป็นแผนงานสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการการดูแลในไต้หวัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2571
ที่มา: Taipei Times / Economic Daily News (14 March 2025)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถือเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทย ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ จึงถือเป็นโอกาสในการทำตลาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดไต้หวันถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าและบริการของไทย ทั้งสินค้าอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ รวมไปจนถึง Medical Tourism นอกจากนี้ ในส่วนของการขยายสถานดูแลสำหรับผู้สูงอายุ ตามเป้าหมายของรัฐบาลไต้หวันนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาลงทุนในไต้หวัน โดยที่ผ่านมา เคยมีตัวอย่างความสำเร็จของศูนย์ดูแลจากญี่ปุ่น คือกลุ่ม Genki Group ซึ่งมาลงทุนจัดตั้งสถานดูแลฯ ในเมืองไถหนาน ทางใต้ของเกาะไต้หวัน ทั้งในส่วนของ Day Care Center / Long Stay Center / สถานดูแลฯ เต็มรูปแบบ / ร้านขายสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อปี 2555 ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ บริษัทฯ สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวัน
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รัฐบาลไต้หวันอนุมัติโครงการ Long-term care 3.0 รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด