หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > รวันดาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเบลเยี่ยม คาดส่งผลกระทบต่อราคาแร่หายากในตลาดพุ่งในตลาดโลก

รวันดาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเบลเยี่ยม คาดส่งผลกระทบต่อราคาแร่หายากในตลาดพุ่งในตลาดโลก

รวันดาตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเบลเยียม โดยระบุว่า รวันดา”ถูกบ่อนทำลายอย่างต่อเนื่อง” โดยประเทศในยุโรประหว่างความขัดแย้งในสงครามที่เมือง GOMA และ KIVU บริเวณภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่มีความไม่สงบมาแล้วกว่า 2 เดือน โดยประเทศยุโรปโดยเฉพาะเบลเยี่ยมได้กล่าวหาว่า รวันดาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนกลุ่มกองกำลัง M23 ให้ดำเนินการในสงครามดังกล่าว เบลเยี่ยมได้เรียกร้องให้ประเทศในยุโรปคว่ำบาตรรวันดา จากกรณีที่พวกเขาสนับสนุนกลุ่มกบฏ M23 ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่เป็นศูนย์กลางของวิกฤตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

 

โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ปธน.  Paul Kagame ของรวันดาประกาศและมีคำสั่งให้ขับนักการทูตของเบลเยี่ยมออกจากรวันดาภายใน 48 ชั่วโมง ในแถลงการณ์รัฐบาลรวันดา กล่าวหาเบลเยี่ยมว่าพยายาม “รักษาภาพลวงตาแบบนีโออาณานิคมเอาไว้”

 

“เบลเยียมเข้าข้างฝ่ายต่างๆ อย่างชัดเจนในความขัดแย้งในภูมิภาค และยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านรวันดาอย่างเป็นระบบในเวทีต่างๆ โดยใช้คำโกหกและการจัดฉากเพื่อให้ได้ความเห็นไม่เป็นมิตรต่อรวันดาโดยไม่มีเหตุผล เพื่อพยายามทำให้รวันดาและภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกเกิดความไม่มั่นคง” แถลงการณ์ระบุ

 

แม็กซิม เปรโวต์ รัฐมนตรีต่างประเทศเบลเยียม ตอบโต้มาตรการของรวันดาผ่านโซเชียลมีเดียว่า “นี่เป็นเรื่องที่ไม่สมส่วน และแสดงให้เห็นว่าเมื่อเราไม่เห็นด้วยกับรวันดา และพวกเขาไม่ต้องการเจรจา” Prevot กล่าวว่านักการทูตรวันดาในเบลเยียมจะถูกประกาศให้เป็น “บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา” การประกาศดังกล่าวอาจนำไปสู่การเพิกถอนสถานะทางการทูต และมักส่งผลให้มีการขับไล่หรือเพิกถอนการรับรองทูต ก่อนที่คิกาลีจะตัดความสัมพันธ์กับบรัสเซลส์ ประธานาธิบดีรวันดา Paul Kagame ได้ให้คำมั่นว่าประเทศของเขาจะ “ยืนหยัด” ต่อต้านเบลเยียม

 

“เราอยากถาม [เบลเยียม] ว่า ‘คุณเป็นใครกันแน่ ใครเป็นคนให้คุณเป็นหัวหน้าพวกเรา’ ชาวรวันดาเชื่อในพระเจ้า แต่พระเจ้าเป็นคนให้คนเหล่านี้เป็นหัวหน้ารวันดาจริงหรือ” คากาเมกล่าวในการปราศรัยเมื่อวันอาทิตย์

 

ตั้งแต่ต้นปี มีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบระหว่าง M23 และกองกำลังติดอาวุธของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทางตะวันออกของประเทศราว 7,000 ราย ทางการคองโกกล่าวว่า มีประชาชนมากกว่า 850,000 คนถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านเรือนของตนเอง นับตั้งแต่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนมกราคม 2568  โดย กองกำลัง M23 ได้เข้ายึดครองเมืองสำคัญสองเมือง ได้แก่ GOMA และ BIKAVU ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้คว่ำบาตรผู้บัญชาการทหารของรวันดา 3 คน โดยอ้างถึงความเชื่อมโยงกับ M23 การคว่ำบาตรซึ่งรวมถึงการอายัดทรัพย์สิน ยังใช้กับหัวหน้าหน่วยงานเหมืองแร่ของรัฐรวันดาด้วย สหภาพยุโรปกล่าวหาว่า หน่วยงานดังกล่าวใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งในคองโกเพื่อดึงทรัพยากรที่มีค่าจากภาคตะวันออกที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ อังกฤษและเยอรมนีได้ดำเนินมาตรการต่อรวันดาเช่นกัน โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ตัดความช่วยเหลือบางส่วนที่ให้แก่รวันดา และในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ M23 ยุติการสู้รบ และให้รวันดาถอนทหารออกจากคองโก ความขัดแย้งทางการทูตระหว่างรวันดากับเบลเยียมเกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนที่รัฐบาลคองโกและกลุ่มกบฏ M23 จะพบกันเพื่อเจรจาสันติภาพ แต่กลุ่มกบฏประกาศเมื่อบ่ายวันจันทร์ว่าจะไม่เข้าร่วมการเจรจาอีกต่อไป โดยกล่าวหาสถาบันระหว่างประเทศที่ไม่ระบุชื่อว่าบ่อนทำลายความพยายามในการสร้างสันติภาพ

 

ความเห็นของ สคต.

 

ความขัดแย้งใน สป.คองโก ซึ่งหลายประเทศในโลกต่างเชื่อว่า รัฐบาลรวันดาเป็นผู้อยู่เบื้องการกบฎและสงครามดังกล่าว เนื่องจากรวันดาประกอบด้วยชนชาติทูชี่ ซึ่งเป็นชาติพันธ์เดียวกับกลุ่มกองกำลัง M23 และประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคตะวันออกของ สป.คองโก ทั้งนี้ ขาติตะวันตกไม่ว่าจะเป็น เบลเยี่ยม สหรัฐ อังกฤษ หรือเยอรมัน หรือสหภาพยุโรป ต่างออกมาประนามและเรียกร้องให้รวันดาหยุดการสนับสนุนดังกล่าว แม้รัฐบาลรวันดาจะปฎิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนกองกำลัง M23 หรือให้การช่วยเหลือต่างๆ ตามที่ถูกกล่าวหา

 

โดยพื้นที่ของบริเวณเมือง GOMA, KIVU, หรือ BIKAVU เป็นพื้นที่ที่อุดมไปแร่หายาก เช่น ทองแดง โคบอล ดีบุก ที่ต่างเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตตารี่ของรถไฟฟ้า ทำให้มีนักลงทุนจากยุโรปเข้ามาพยายามสำรวจและนำเข้าแร่ต่างๆ จาก สป.คองโก อย่างไรก็ดี เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นจนไม่สามารถดำเนินกิจการเหมืองแร่หรือธุรกิจได้เป็นปกติดังกล่าว มีผลให้ราคาแร่หายากเหล่านี้ พุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30-40 % จากราคาในปีที่แล้ว โดย สป.คองโกมีปริมาณแร่โคบอลสำรองกว่าร้อยละ 70 ของโลก จึงเป็นที่หมายปองของขาติตะวันตกที่จะเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี จีนเองก็จ้องมองสถานการณ์นี้อย่างเงียบ เพื่ออาจจะใช้โอกาสนี้ เข้าไปรับช่วงในการทำเหมืองแร่ดังกล่าวต่อไปในอนาคต ซึ่งชาติตะวันตกหลายชาติไม่ยอม

 

สำหรับประเทศไทยนั้น นักธุรกิจที่มีการทำธุรกิจเกี่ยวกับ การนำเข้าแร่เหล่านี้ ควรติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าแร่เหล่านี้ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าแร่หลายคนเชื่อว่า หากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว ยังยืดเยื้อ ก็จะมีผลให้ราคาของแร่หายากที่ว่านี้ พุ่งสูงขึ้นต่อไป ทั้งเนื่องจาก การที่ไม่สามารถทำเหมืองแร่ได้ตามปกติแล้ว ก็จะมีปัญหาเรื่องการขนส่งแร่เพื่อส่งออกไปในตลาดด้วย

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : NTV

อ่านข่าวฉบับเต็ม : รวันดาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเบลเยี่ยม คาดส่งผลกระทบต่อราคาแร่หายากในตลาดพุ่งในตลาดโลก

Login