ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังอียิปต์เป็นจำนวนมาก มีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 80 โดยมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าส่งออกของไทย อันดับ 1 จากสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร โดยช่วง ม.ค.-ต.ค. 67 ส่งออกมูลค่า 91.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 80.96 ของการส่งออกไทยภายใต้กลุ่มสินค้าดังกล่าว มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 110.67 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยทูน่ากระป๋องจากไทยครองตลาดอันดับ 1 ในอียิปต์ กว่าร้อยละ 80 ของแบรนด์ที่ขายในตลาด (โดยนำเข้าจากประเทศไทย และติดสติกเกอร์เป็นแบรนด์ท้องถิ่น) โดยมีคู่แข่งจากเวียดนามและจีนที่เข้ามาพยายามตีตลาดในราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็ตาม ทูน่ากระป๋องจากไทยได้รับการยอมรับมากกว่าในเรื่องของคุณภาพสินค้า จึงทำให้สามารถครองตลาดไว้ได้ โดยมีแบรนด์ต่างๆ ที่นำเข้าจากไทย จำนวน 8 แบรนด์ เช่น 1. Three Chefs 2. Dolphin 3. Sunshine 4. El Bostany 5. Tolido 6. Americana 7. Sea Whales 8. Stream
ความเห็น/ข้อเสนอแนะ
อียิปต์มีประชากรประมาณ 105 ล้านคน (ข้อมูลปี 2566) และมีเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยมีการเกษตรกรรม การผลิต และการบริการเป็นพื้นฐาน การเติบโตของประชากรทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งน้อยกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะปลาทูน่ากระป๋องถือเป็นสินค้าจำเป็นของอียิปต์
ทูน่ากระป๋องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสะดวกในการบริโภค และเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีหลายประเภท เช่น ทูน่ากระป๋องในน้ำมัน ทูน่ากระป๋องในน้ำเกลือ และทูน่ากระป๋องในน้ำ โดยมีลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การใช้ในการทำสลัด แซนด์วิช หรืออาหารจานหลัก
ประชาชนในอียิปต์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยมองหาอาหารที่มีคุณภาพและสะดวกในการทำอาหาร รวมถึงความสนใจในสุขภาพและโภชนาการที่ดี ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทย โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องที่นิยมในอียิปต์ จำนวน 3 ประเภท ดังนี้
- ทูน่ากระป๋องในน้ำมัน : ทูน่ากระป๋องในน้ำมันเป็นที่นิยมในตลาดอียิปต์ เนื่องจากมีรสชาติที่เข้มข้นและเหมาะสำหรับการใช้ในการทำอาหารหลากหลายประเภท
- ทูน่ากระป๋องในน้ำเกลือ : ทูน่ากระป๋องในน้ำเกลือมีไขมันต่ำและเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก สินค้าประเภทนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
- ทูน่ากระป๋องในน้ำแร่ : ทูน่ากระป๋องในน้ำมีแคลอรีต่ำและเหมาะสำหรับการทำอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
ในตลาดอียิปต์ทูน่าแบบแซนวิช (Shredded) จะเป็นที่นิยมมากกว่าแบบก้อน (Chunk) เนื่องจากราคาที่ถูกกว่า สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มลูกค้า
ปัญหาและอุปสรรคในการส่งออก
- มาตรการทางการค้า
อียิปต์มีมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าอาหาร ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งอาจทำให้ผู้ส่งออกต้องเตรียมเอกสารและการตรวจสอบมากขึ้น โดยควรติดต่อประสานงานกับผู้นำเข้าอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในการที่สินค้าติดอยู่ที่ท่าเรือ
- การแข่งขันจากประเทศอื่น
ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ผลิตทูน่ากระป๋องจากประเทศอื่น ๆ เช่น จีน และเวียดนาม ซึ่งมีการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังอียิปต์เช่นกัน โดยมีราคาที่ต่ำกว่าของไทย
- ปัญหาด้านโลจิสติกส์
การขนส่งทูน่ากระป๋องไปยังอียิปต์อาจมีความท้าทายเกี่ยวกับโลจิสติกส์ คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงและระยะเวลาการขนส่งที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งในภูมิภาค ส่งผลให้เส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอซ มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากค่าขนส่งและค่าประกันภัยที่ปรับตัวสูงขึ้น
การส่งออกทูน่ากระป๋องจากประเทศไทยไปยังอียิปต์มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยมีโอกาสในการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าในท้องถิ่นจะช่วยเพิ่มโอกาสในตลาดอียิปต์
——————————————————-
ที่มา : มูลค่าส่งออกโดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร
อ่านข่าวฉบับเต็ม : โอกาสของทูน่ากระป๋องไทยในอียิปต์