“I love cash” นาย Peer Steinbrück อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลกลางเยอรมนี ในสังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ได้เคยกล่าวไว้ เมื่อปี 2010 และนี่อาจเป็นการพูดที่ถูกใจชาวเยอรมันจำนวนมากแบบไม่ได้ตั้งใจ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคชาวเยอรมันยังคงนิยมชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสดบ่อยครั้งกว่าอัตราเฉลี่ยในยุโรป ซึ่งพบว่า จะมีก็เพียงชาวอิตาลี มอลตา สเปน และออสเตรียเท่านั้น ที่หันไปใช้สมาร์ทโฟน หรือบัตรเครดิตในการชำระเงินที่ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน หรือเมื่อซื้อสินค้าปลีก น้อยกว่าชาวเยอรมัน และจากข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์ ซึ่งผลได้ถูกเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยบริษัท Boston Consulting Group พบว่า จากข้อมูลของธนาคาร Deutsche Bundesbank มากกว่าทุก ๆ วินาทีของการชำระเงินในเยอรมนีเป็นการชำระด้วยด้วยเงินสด โดยในปี 2023 เมื่อวัดตามยอดขายบัตรเดบิตครองอันดับ 1 ของรูปแบบการชำระเงินในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งสูงถึง 32% ของการใช้จ่ายทั้งหมด โดยเงินสดตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 26% แซงหน้าการโอนเงิน และชำระเงินทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ความจริงที่มักถูกลืมก็คือ เงินสดเป็นเพียง “วิธีการชำระเงิน” เพียงวิธีเดียวที่ได้รับรองตามกฎหมายสหภาพยุโรปในฐานะวิธีการชำระเงิน ที่เจ้าหนี้มีภาระผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องยอมรับเงินสดในการชำระหนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ผู้ค้าปลีก และผู้ให้บริการ ไม่สามารถปฏิเสธเงินสดได้ เว้นแต่พวกเขาจะตกลง “วิธีการชำระเงิน” แบบอื่นกับลูกค้าไว้ล่วงหน้าหรือไม่รวมภาระผูกพัน (Obligation to Accept) ในการรับเงินสดแสดงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบ และเห็นล่วงหน้าอย่างชัดเจน การชำระหนี้ด้วยเงินสดไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ เงินสดยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความจำกัดในการเข้าถึงวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถชำระเงิน และประหยัดเงินได้ตามความต้องการของพวกเขา เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ตัวเลือกรูปแบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่เงินสดหมุนเวียนในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือประมาณ 6% ต่อปี หรือเติบโตกว่าผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก และนับตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2022 เงินสดหมุนเวียนมีมูลค่ามากกว่า 1.5 ล้านล้านยูโร ทำให้ Euro Zone มีเงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่าตัว นับตั้งแต่เริ่มใช้เงินสดสกุลยูโรออกครั้งแรกในปี 2002
ธนาคารกลางเยอรมันระบุบนเว็บไซต์ไว้ว่า “เงินสดยังได้รับความไว้วางใจในระดับที่สูงมากในกลุ่มประชากร” การเลือกใช้เงินสดจะเห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในช่วงเริ่มต้นที่เริ่มมีวิกฤติต่าง ๆ และในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งสามารถเห็นได้จากที่มีการใช้จ่ายเงินกับธนบัตรเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เงินสดไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยัง “มีคุณค่าในฐานะการเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) ที่มั่นคงในระดับนึง” อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมด้วยเงินสดถูกจำกัดในหลาย ๆ ประเทศ รัฐบาลอินเดียใช้แนวทางที่รุนแรงเป็นพิเศษในปี 2016 และลดมูลค่าธนบัตรที่ใช้กันมากที่สุดในชั่วข้ามคืน นาย Modi นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวว่า “ใครที่เก็บธนบัตรใบละ 500 และ 1,000 รูปี ซึ่งเป็นธนบัตรมีองค์ประกอบทำให้เกิดการต่อต้านชาติ และต่อต้านสังคม สะสมอยู่ที่บ้านธนบัตรเหล่านี้จะกลายเป็นเพียงกระดาษไร้ค่า” และเขากล่าวต่อว่า “การคอร์รัปชั่น และระบบเงินมืดแพร่กระจายในประเทศมาก ซึ่งเบื้องหลังปัญหาเหล่านี้ก็คือ ความเห็นแก่ตัวของคนบางส่วนในสังคมของเรา” ด้วยวิธีนี้ 86% ของเงินสดจึงถูกถอนออกจากระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม ซึ่งในยุโรปมีความเข้มงวดเรื่องดังกล่าวน้อยกว่า ในเดือนพฤษภาคม 2016 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจหยุดการผลิต และการออกธนบัตร 500 ยูโร เริ่มตั้งแต่ในช่วงสิ้นปี 2018 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ธนบัตรที่ออกก่อนหน้านี้ยังคงใช้ได้โดยไม่มีกำหนด นอกจากนี้ประเทศหลาย ๆ ประเทศในสหภาพยุโรปยังมีการกำหนดวงเงินการใช้เงินสดอีกด้วย ในประเทศกรีซอยู่ที่ไม่เกิน 500 ยูโร ซึ่งถือว่าต่ำมาก ในขณะที่สเปนกำหนดการชำระเงินด้วยเงินสด ไม่เกิน 1,000 ยูโร ด้านโปรตุเกสห้ามชำระเงินด้วยเงินสดหากเกิน 3,000 ยูโร เป็นต้นไป เมื่อต้นปีนี้ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปตกลงที่จะจำกัดการใช้เงินสดทั่วไปไว้สูงสุดที่ 10,000 ยูโร ซึ่งกฎเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2027 โดยจำกัดการใช้เงินสดมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การประกอบอาชญากรรมยากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีการจำกัดวงเงินสูงสุดที่มีผลผูกพันดังกล่าวในประเทศเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องให้ผู้ซื้อต้องแสดงระบุตัวตนหากมีการชำระด้วยเงินสดตั้งแต่ 10,000 ยูโรขึ้นไป และเพื่อทำการบันทึก และจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป ธนาคารจะต้องแสดงหลักฐานแหล่งที่มาของเงินสดที่เกินกว่า 10,000 ยูโร ขึ้นไปจำนวนนี้ โดยผู้ฝากเงินที่ไม่มีบัญชีกับสถาบันฯ และต้องการฝากเงินสูงกว่า 2,500 ยูโร เป็นต้นไปจะต้องแจ้งแหล่งที่มาของเงินด้วย
อย่างไรก็ตาม มีเพียงเงินสดเท่านั้นที่สามารถรับประกันการไม่เปิดเผยตัวตนได้ จะมีก็แต่เพียงการใช้ธนบัตรและเหรียญเท่านั้น จึงจะสามารถซ่อนค่าใช้จ่ายบางอย่างจากภาครัฐ สาธารณะ หรือแม้แต่จากสมาชิกในครอบครัวได้ ซึ่งถ้าเงินสดถูกยกเลิก การทำงานของเงินในรูปแบบ “คุณค่าในฐานะการเก็บรักษามูลค่า” แบบเดิมก็จะตกอยู่ในความเสี่ยง นอกจากนี้ มันจะเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับธนาคารกลางในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราค่าปรับเที่เกิดขึ้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการถอนเงินสดอีกต่อไป การยกเลิกการใช้เงินสดจะทำให้พลเมืองทุกคนกลายเป็น “ผู้บริโภคที่โปร่งใส” ไม่ว่า นิสัย ความชอบ ความโน้มเอียง และความปรารถนาทั้งหมดที่ผู้บริโภคหนึ่งคนใช้จ่ายเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ไม่เพียงจะถูกรับทราบโดยสถาบันการเงินที่ประมวลผลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ให้บริการสินค้า และบริการทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชันข้อมูลขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับหน่วยงานราชการ และหน่วยสืบราชการลับอีกด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับระบบการให้คะแนนด้านสังคมกับประชาชนของประเทศจีน ซึ่งสถานการณ์ที่กล่าวมานี้มีความไกล้เคียงกับบันเทิงคดีการเมืองและบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์ดิสโทเปียของนาย George Orwell เรื่อง “1984” นั้นเอง แต่ “ผู้บริโภคที่โปร่งใส” มีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เฉพาะสำหรับภาครัฐเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ให้บริการภาคเอกชนด้วย ทันทีที่ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกรู้ หรืออย่างน้อยสามารถประมาณความชอบ และตัวเลือกทางการเงินของลูกค้าได้ ราคาแต่ละรายการก็สามารถกำหนดได้แบบตอบสนองความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ซื้อแต่ละคนสูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์กับผู้ให้บริการ และเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคแน่นอน แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้อย่างถูกกฎหมายก็ตาม การชำระด้วยเงินสดจึงเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเสียหาย และกระจายความเสี่ยงได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในกรีซการจำกัดการใช้เงินสดที่เข้มงวดนั้นสามารถต่อสู้กับกลุ่มอาชญากร การก่อการร้าย การฟอกเงิน และการหลีกเลี่ยงภาษี ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในเยอรมนีหรือประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีการจำกัดการใช้เงินสดสูงสุดหรือไม่ เราสามารถสรุปได้ว่า ผู้มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจสีเทา นั้น มักจะหาวิธีจัดการกับข้อจำกัดดังกล่าวเรื่อยไป ตัวอย่างเช่น อาชญากรสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ทองคำ หรือ อัญมณี แทน หรือชำระค่าไถ่ด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่สามารถติดตามได้ เช่น ในกรณีที่เรียกค่าไถ่จากการโจมตีทางไซเบอร์เป็นต้น ซึ่งการพยายามทำลายล้างระบบเศรษฐกิจสีเทาในอินเดียก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน ประการแรกเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย หลายคนต้องหิวโหยในช่วงเวลาสั้น ๆ แม้ว่าเงินสดดังกล่าวจะสามารถแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้ในภายหลังเมื่อมีการแสดงบัตรประจำตัวประชาชนก็ตาม ตามรายงานของธนาคารกลางอินเดียในปี 2018 พบว่า 99.3% เปอร์เซ็นต์ของธนบัตรทั้งหมดที่ถูกส่งคืนนั้นเป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า เจ้าของเงินมือเกือบทั้งหมดสามารถแลกเปลี่ยนเงินได้ หมายความว่า พวกเขาสามารถหาทาง “ฟอกเงิน” ได้นั้นเอง นาย Fjodor Michailowitsch Dostojewski นักเขียนชาวรัสเซียเขียนเมื่อกว่า 160 ปีที่แล้วในนิยาย “บันทึกจากบ้านคนคุก (The House of the Dead)” ว่า “เงินคือเสรีภาพที่ถูกปั๊มนูนออกมา” โดยเมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน ความจริงในเรื่องนี้ยังมีมากกว่าที่ผู้เขียนชาวรัสเซียจะจินตนาการได้ในขณะนั้น ซึ่งวันนี้เขาอาจจะเพิ่มบางสิ่งลงในคำพูดนี้ว่า “… เพราะเมื่อเงินสดหายไป เสรีภาพส่วนบุคคลส่วนหนึ่งก็หายไป” ตาม
บทความโดยศาสตราจารย์ Bert Rürup หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Handelsblatt
จาก Handelsblatt 20 ธันวาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : คนเยอรมันรักเงินสดเหนียวแน่น