รายงานจากเว็บไซต์ ProduceReport (国际果蔬报道) รายงานว่า ม.ค.- ก.ย. 2024 จีนมีปริมาณการนำเข้าผลไม้รวมทั้งสิ้น 6.0337 ล้านตัน ลดลง 0.15% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่หากพิจารณาจากมูลค่าแล้ว จีนมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1,433.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.7% ซึ่งแม้ว่าปริมาณนำเข้าจะลดลงเล็กน้อย แต่มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการผลไม้คุณภาพสูงของผู้บริโภค โดยมีประเภทสินค้าดังนี้
ประเทศผู้นำเข้าสำคัญตลาดผลไม้ของจีน
ข้อมูลจาก Produce Report ตั้งแต่ปี 2022-2024 ไทย ชิลี เวียดนาม นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ยังคงเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้หลักของจีน โดยในช่วงเดือน ม.ค. -ก.ย. 2024 มูลค่าการนำเข้าจากประเทศไทยอยู่ที่ 5,286 ล้านเหรียญสหรัฐ ชิลี 3,249 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนาม 3,020 ล้านเหรียญสหรัฐ นิวซีแลนด์ 717 ล้านเหรียญสหรัฐ และฟิลิปปินส์ 356 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อพิจารณาจากปริมาณการนำเข้า เดือน ม.ค. – ก.ย. 2024 เวียดนามกลายเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้ปริมาณมากที่สุดของจีนด้วยปริมาณ 1.67 ล้านตัน ตามมาด้วยประเทศไทย (1.57 ล้านตัน) ชิลี (573,600 ตัน) ฟิลิปปินส์ (509,100 ตัน) และนิวซีแลนด์ (202,600 ตัน)
สถานการณ์ทุเรียนสดในประเทศจีน
ปัจจุบัน สินค้าประเภททุเรียนสดได้รับการอนุญาตนำเข้าจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ประกาศจากศุลกากรแห่งชาติว่าด้วยข้อการนำเข้าและการกักกันพืช จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากประเทศมาเลเซีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มาเลเซียได้รับอนุญาตเพียงทุเรียนแช่แข็ง (มูซานคิง) มาเลเซียจึงนับเป็นประเทศน้องใหม่ล่าสุดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสด
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2567 พิกัดศุลกากร (HS Code) 081060 สินค้าประเภท ทุเรียนสด จีนนำเข้าหลักจากประเทศไทย และ เวียดนาม โดยนับแต่ปี 2022-2024 จีนยังคงมีการนำเข้าทุเรียนสดจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง โดยในปี 2024 มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3,734.46 ล้านเหรียญ-สหรัฐ และมีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 60.20% ในขณะที่สัดส่วนการนำเข้าลดลง 13.12% YoY
ทั้งนี้ สัดส่วนการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนาม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการนำเข้าในปี 2022 อยู่ที่ 6.02 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนการนำเข้า 0.18%) เพิ่มเป็น 2,448.63 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนการนำเข้า 39.47%) ในปี2024 โดยมีข้อสังเกตว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มจะมีการนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น อาทิ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
โดยทุเรียนสดที่จีนนำเข้าจากประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2567 มีการนำเข้าหลักผ่านมณฑลกว่างตง ยูนนาน เจ้อเจียง กว่างซี และเสฉวน มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1,036.54 700.21 424.47 382.54 และ 222.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ และมีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 27.76% 18.75% 11.37% 10.24% และ 5.95% ตามลำดับ
โดย 9 เดือนแรกปี 2567 มีการนำเข้าทุเรียนสดผ่านมณฑลฝูเจี้ยนเป็นอันดับที่ 14 จากการนำเข้าทั่วประเทศจีน โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 40.35 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการนำเข้า 1.08% เพิ่มขึ้นถึง 71.66% YoY
สถานการณ์ทุเรียนเวียดนามในตลาดจีน
ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทุเรียนเวียดนามทีมูลค่าการส่งออกเพียง 212 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของเวียดนาม มากกว่า 90% ของการส่งออกรวม แต่ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณการส่งออกลดลงเหลือ 70% ซึ่งปริมาณลดลงเดือนต่อเดือน
นาย Dang Phuc Nhuyen เลขานุการ สมาคมผักและผลไม้เวียดนาม อธิบายว่า เหตุผลหลักที่การส่งออกทุเรียนลดลง มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว (ฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานและแสงแดดที่รุนแรง) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณและคุณภาพของทุเรียน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลผลิตและคุณภาพ ทำให้ทุเรียนจำนวนมากมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานการส่งออก
นอกจากนี้ข้อมูลจาก Produce Report สาเหตุที่ราคาลดลงอย่างมากนั้นเชื่อว่าได้รับผลกระทบจาก เนื่องจากผลกระทบของตลาดไทย-จีน ข้อมูลจาก นาย Thanh พ่อค้าในเมือง Tien Giang กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ทุเรียนไทยยังคงมีวางจำหน่ายในตลาด ซึ่งสร้างความกดดันด้านราคาเป็นอย่างสูงต่อทุเรียนเวียดนาม ในขณะเดียวกันทุเรียนบางส่วนจากเวียดนามก็ถูกตีกลับจากจีน เนื่องจากตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนัก (แคดเมียม) เกินปริมาณที่กำหนดในทุเรียนที่นำเข้าจีน ซึ่งลดทอนความน่าเชื่อถือและความสามารถในการแข่งขันลง
อีกทั้งผู้นำเข้าและโกดังขนาดใหญ่จีนยังร่วมกันปรับลดราคาซื้อลง เหลือยู่ที่ 20,000-30,000 ดอง/กก. (ประมาณ 27-40บาท/กก.) ส่งผลให้ราคาทุเรียนลดลงเป็นอย่างมาก และเนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าว เกษตรกรสวนทุเรียนหลายๆราย เลือกที่จะไม่เก็บเกี่ยวทุเรียนตามรอบเวลา เพื่อรอให้ราคาทุเรียนมีการปรับตัวสูงขึ้น ณ ปัจจุบันหลายๆโรงงานในเวียดนานประสบปัญหาขาดแคลนทุเรียนหมอนทอง ในขณะที่ทุเรียน Ri6 ของเวียดนามเองถึงจะยังมีอยู่ แต่กระบวนการจัดหาจัดซื้อก็เผชิญหน้ากับอุปสรรคในหลายๆด้าน
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ทุเรียนจากประเทศไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดทั้งในด้านมูลค่าและปริมาณสูงสุด อย่างไรก็ตาม ทุเรียนสดของเวียดนามมีการขยายตัวปีต่อปีอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านปริมาณและมูลค่าการส่งออก ขณะที่ฟิลิปปินส์ และล่าสุดอย่างมาเลเซียก็ก้าวเข้าสู่ตลาดทุเรียนสดของประเทศจีนเช่นกัน ดังนั้นการรักษาคุณภาพสินค้ายังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่การเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างแบรนด์ประเทศ และการเน้นย้ำจุดเด่นของทุเรียนไทยก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญ โดยสคต.ในภูมิภาคจีน รวมถึง สคต.เซี่ยเหมิน กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนไทย ตลอดจนสร้างกระแสให้บริโภคทุเรียนไทยมากขึ้นในกิจกรรม Thai Fruit Golden Months ในภูมิภาคจีน นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ทุเรียนไทย ในกิจกรรมส่งเสริมการขายในเมืองต่างๆ รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ด้วย
การปรับตัวในด้านโลจิสติกส์ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากทุเรียนสดเป็นสินค้าที่ต้องการการขนส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงใช้ประโยชน์จากเส้นทาง BRI ของจีน พัฒนาระบบการขนส่งโดยใช้ Multimodal Transport คือ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจากต้นทางไปยังปลายทาง โดยใช้ประเภท การขนส่งแบบต่างๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมไปถึงทางราง หรือการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการขนส่งจะช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าและลดต้นทุน การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าผลไม้ในจีน การเจรจาความร่วมมือกับ ผู้นำเข้าจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมทุเรียนไทยในอนาคต
ดังนั้นการรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน และความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว การมองหาโอกาสใหม่ ๆ และการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ทุเรียนไทยยังคงเป็นที่หนึ่งในใจของผู้บริโภคชาวจีนอย่างยั่งยืน
Global Trade Atlas
https://guojiguoshu.com/article/9656
https://guojiguoshu.com/article/9666
https://guojiguoshu.com/article/9679
https://guojiguoshu.com/article/9683
http://www.customs.gov.cn//customs/302249/302266/302267/5954417/index.html
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
13 ธันวาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ความท้าทายผลไม้นำเข้าในตลาดจีน ปี 2024