“สุชาติ” เผยลู่ทาง “นำเข้า สินค้าไทยสู่
ตลาดยูเออี” ดันสินค้าชุมชน ประกาศศักดา Soft Power ไทย
รมช.สุชาติ ชมกลิ่น เยือนเมืองดูไบ พบผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่ในยูเออี ผลักดันเพิ่มการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะจาก SME หรือสินค้าชุมชน โชว์สินค้ามีคุณภาพ มาตรฐาน ถูกใจแน่นอน และพร้อมนัดหมายให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกันต่อไป
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 น. (เวลาท้องถิ่นดูไบ) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเยี่ยมชมโกดังของบริษัท Modhvadia General Trading TTC โดยได้หารือกับ Mr.BoB Modhvadia กรรมการผู้จัดการ บริษัท Modhvadia General Trading TTC และ คุณจิตรทิวัส จิตรบรรเทา ฝ่ายการตลาดของบริษัท ว่า “ ผมได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ปฎิบัติภารกิจ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยวันนี้ผมได้มาเยี่ยมชมคลังสินค้าของบริษัท Modhvadia ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและกระจายสินค้าอาหารไทยรายใหญ่ที่สุดในยูเออี โดยนำเข้าสินค้าหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง เครื่องแกง ซอสปรุงรส น้ำปลา กะทิ น้ำปลาร้า ขนม และอุปกรณ์เครื่องครัว เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้ง แต่บริษัทก็รับนำเข้าผักและผลไม้สดตามออเดอร์ของลูกค้าโดยจะนำเข้ามายังดูไบสัปดาห์ละสองวัน คือ วันอาทิตย์และวันพุธ
นายสุชาติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ”ได้ใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้บริษัทนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจาก SME โดยจากการที่ได้พูดคุยกับ Mr.BoB ทราบว่ายังมีความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตโดยชาวบ้านในชุมชน ผมจึงได้เสนอสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างเช่น สินค้า OTOP ของไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปิดตลาดของสินค้าชุมชนอีกตลาดหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าชุมชนไทยโดยเฉพาะสินค้า Soft Power ของไทยตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร “
นอกจากนี้ สินค้าไทยที่มีการส่งออกมา จะได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark หรือ T Mark คือ ตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการที่ออกโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า “โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในยูเออี พร้อมที่จะช่วย เป็นพี่เลี้ยง ประสานและนัดหมายให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการของไทยที่ผลิตสินค้าตามที่บริษัทต้องการ โดยยืนยันว่าสินค้าไทย มีคุณภาพ มาตรฐานตรงตามที่บริษัทต้องการแน่นอน”
ทั้งนี้ สินค้าไทยที่บริษัทนำเข้ามานั้น จะมีทั้งขายปลีกให้แก่ลูกค้าทั่วไป ลูกค้าที่เป็นร้านอาหารและโรงแรมในดูไบและรัฐใกล้เคียง ตลอดจนมีการขายส่งผ่าน Distributor เพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศใกล้เคียงอื่นๆ เช่น โอมาน บาห์เรน และกาตาร์ อีกด้วย โดยลูกค้าหลักของบริษัทคือร้านขายของชำสินค้าไทย (Thai Grocery) และร้านอาหารไทย
ในช่วง 9 เดือน ปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.) สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 569.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 212.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (181.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 179.06 ล้านเหรียญสหรัฐ และอัญมณีและเครื่องประดับ 177.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น โดยสินค้าอาหารที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 52.52% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 24.71% เครื่องดื่ม เพิ่ม 15.37% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 16,186.70% ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง เพิ่ม 82.14% และ น้ำตาลทราย เพิ่ม 287.61% เป็นต้น
อ่านข่าวฉบับเต็ม : “สุชาติ” เผยลู่ทาง “นำเข้า สินค้าไทยสู่ ตลาดยูเออี” ดันสินค้าชุมชน ประกาศศักดา Soft Power ไทย