(ที่มา : สำนักข่าว The KoreaTimes ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2567)
จากข้อมูลของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567 ร้านสะดวกซื้อซึ่งเคยเป็นที่นิยมในกลุ่มอาหารราคาย่อมเยา เริ่มมีความต้องการที่ลดลง เนื่องจากอาหารพร้อมรับประทานในร้านสะดวกซื้อมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างล่าสุดของ “Luchflation” หรือ ราคาอาหารกลางวันที่สูงขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อร้านสะดวกซื้อในปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าจัดส่งแพงขึ้น เครือร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ เช่น BGF Retail และ GS Retail ซึ่งต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์รายเล็กกล่าวว่า ไม่สามารถหลีกเหลี่ยงการขึ้นราคาเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งห่วงโซ่อุปทาน
CU ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดดำเนินการโดย BGF Retail ได้เปิดตัวข้าวกล่องอาหารกลางวัน ซึ่งประกอบไปด้วยหมูทอด ราคา 6,900 วอน (4.97 ดอลลาร์) นับว่าราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่คาดว่า จะจ่ายน้อยกว่า 5,000 วอนสำหรับมื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อ ในส่วนของ Emart24 ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ดำเนินการโดย Emart แบรนด์ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีก ได้เปิดตัวมื้ออาหารที่คล้ายกันในราคาเดียวกัน
อาหารที่เพิ่งเปิดตัวใหม่หลายรายการใน CU, Emart24, GS25 และ 7-Eleven มีราคาตั้งแต่ 6,000 วอนไปจนถึงเกือบ 7,000 วอน โดยที่ GS25 มีอาหารพร้อมทาน 5 รายการ จากทั้งหมด 16 รายการ ที่มีราคาเกือบ 6,000 วอน
สำหรับอาหารอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมในผู้บริโภคก็พบว่าราคาสูงขึ้นเช่นกัน ณ ตอนนี้ คิมบับ (ข้าวห่อสาหร่าย) ที่ร้านสะดวกซื้อทั้ง 4 แบรนด์มีราคาสูงกว่า 3,000 วอน โดยราคาสูงสุดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์ คิมบับสามเหลี่ยม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ซัมกักคิมบับ ซึ่งเดิมเคยขายในราคาไม่เกิน 1,500 วอน ได้ปรับขึ้นเป็น 1,700 วอนแล้ว
ผู้แทนบริษัทระบุว่า การขึ้นราคาดังกล่าวถือเป็นก้าวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อรับมือกับราคาเนื้อสัตว์และวัตถุดิบอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การจ้างคนดังมาโปรโมตสินค้ากล่องอาหารกลางวันของบริษัท ส่งผลให้เป็นการสร้างราคาขั้นต่ำของทั่วทั้งอุตสาหกรรม และช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าเหล่านี้
เจ้าหน้าที่จากบริษัทแฟรนไชส์กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันให้แก่ซัพพลายเออร์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ของพวกเขา ให้ไม่สามารถคงราคาเดิมได้ ดังนั้น การขึ้นราคาสินค้าจึงเป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนคู่ค้าของพวกเขา
ตามดัชนีราคาผู้ผลิตที่เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศเกาหลี (BOK) ในเดือนกันยายน เนื้อหมูมีการปรับราคาขึ้นสูงที่สุด ที่ร้อยละ 16.1 รองลงมาคือเนื้อวัวที่ร้อยละ 11.2 เปอร์เซ็นต์ โดยรวมแล้ว ราคาสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร้อยละ 5.7 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์ประมง 5.3 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลของ Korea Consumer Agency รายงานว่า ราคาอาหารในร้านค้าปลีกและร้านอาหารทั่วประเทศเกาหลี รวมถึงตัวเลือกรับประทานอาหารราคาไม่แพงมากในร้านอาหารเกาหลีบ้าน ๆ ที่มีเมนู เช่น กิมจิจิแก (ซุปกิมจิ) และจาจังมยอน (บะหมี่ซอสดำ) กำลังมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวได้รายงานว่า หลังจาก คัลกุกซู (ก๋วยเตี๋ยวร้อน) ซึ่งราคาสูงกว่า 10,000 วอนไปแล้ว อาหารจานโปรดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มค่อยๆ ขยับราคาขึ้นไล่เลี่ยกัน อนึ่ง จากเมนูอาหาร 27 ชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศเกาหลี มี 14 ชนิดที่มีราคาแพงขึ้นถึงร้อยละ 7.2 เปอร์เซ็นต์
ความเห็น สคต.
ข้าวกล่องพร้อมทานและอาหารพร้อมทานในร้านสะดวกซื้อซึ่งเคยเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ต้องการ ประหยัดค่าใช้จ่ายท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ผลิตไม่สามารถคงราคาเดิมไว้ได้เนื่องด้วยราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น บริษัทแฟรนไชส์เอง จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากขึ้นราคาสินค้าเพื่อปกป้องห่วงโซ่อุปทานของตน
กลุ่มผู้บริโภคที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก Lunchflation คงหนีไม่พ้นพนักงานออฟฟิศ และคนที่อาศัยคนเดียว ซึ่งต้องการมื้อกลางวันที่ทานได้สะดวก รวดเร็ว และราคาประหยัด เป็นที่น่ากังวลว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้ออาจราคาสูงเทียบเท่ากับอาหารจานด่วนในร้านอาหาร และผู้บริโภคอาจไม่สามารถรับประทานที่เป็นมื้ออาหารได้ในงบประมาณ 10,000 วอน
การขึ้นราคาของสินค้าดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคเกาหลี โดยผู้บริโภคที่มีแนวโน้มที่ จะต้องรัดเข็มขัด ซึ่งเดิม ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยลดการบริโภคในร้านอาหาร แต่ซื้ออาหารกลางวันที่ร้านสะดวกซื้อแทน อาจจะต้องลดการซื้ออาหารกลางวันที่ร้านสะดวกซื้อ และหันไปทำข้าวกล่องมารับประทานเอง หรือรับประทานเท่าที่จำเป็น
ในส่วนของผู้ประกอบการไทย ควรที่จะต้องเตรียมการรับมือกับเทรนด์ดังกล่าว โดยการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม รวมถึงการเน้นการส่งวัตถุดิบในรูปอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารเพิ่มมากขึ้น สำหรับสินค้าพร้อมรับประทาน อาจจะพิจารณาลดปริมาณ หรือลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่สามารถปรับลดได้ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต รวมถึงหาจุดแข็งใหม่ๆ เช่น ความเป็นอาหารรักสุขภาพ อาหารรักสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้สินค้าสามารถมีที่ยืนในใน Modern Trade ของเกาหลีใต้ต่อไป
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ราคาอาหารกลางวันที่เพิ่มสูงขึ้น (Lunchflation) ขยายวงกว้างไปถึงร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้