หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมายุโรปใต้ โตสวนกระแสความต้องการจากทั่วโลก

ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมายุโรปใต้ โตสวนกระแสความต้องการจากทั่วโลก

ปี 2567 (มกราคม – สิงหาคม) ไทยส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปทั่วโลก เป็นอันดับ 1 มีมูลค่าการส่งออก 20,809.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วน 10.55% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย) หดตัว 1.96% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง มูลค่า 8,258.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-1.04%) ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ มูลค่า 6,716.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+1.06%) และรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุก มูลค่า 5,834.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-6.40%) ในขณะที่ การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังยุโรปใต้ โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี กรีซ ไซปรัส และมอลตา มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นตลาดส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่สำคัญของไทย ได้แก่ อันดับ 24 อิตาลี (สัดส่วน 0.71%) อันดับ 63 กรีซ (สัดส่วน 0.12%) อันดับ 90 ไซปรัส (สัดส่วน 0.04%) และอันดับ 115 มอลตา (สัดส่วน 0.01%)

โดยปี 2567 (มกราคม – สิงหาคม) มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้นใน 4 ประเทศยุโรปใต้ พบว่าเป็นการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ได้แก่ อิตาลี ตลาดส่งออกอันดับ 9 มูลค่า 109.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+101.17%) กรีซ ตลาดส่งออกอันดับ 34 มูลค่า 23.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+222.47%) ไซปรัส ตลาดส่งออกอันดับ 60 มูลค่า 7.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+104.28%) และมอลตา ตลาดส่งออกอันดับ 84 มูลค่า 2.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+67.83%)

โดยรายละเอียดการนำเข้าสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในปี 2567 (มกราคม – กรกฎาคม) ของยุโรปใต้ 4 ประเทศ มีดังนี้
1. อิตาลี นำเข้าสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (HS code 87) จากทั่วโลก สูงเป็นอันดับ 2 (สัดส่วน 9.74% ของสินค้าที่อิตาลีนำเข้าทั้งหมด) มูลค่า 32,485.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 10.7% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เยอรมนี มูลค่า 8,544.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-13.29%) อันดับ 2 สเปน มูลค่า 3,391.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+20.55) และอันดับ 3 ฝรั่งเศส มูลค่า 2,772.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+19.14%) โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับ 21 มูลค่า 193.3 ล้านหรียญสหรัฐฯ (+22.99%) โดยอิตาลีนำเข้ารถยนต์ขนส่งสินค้า (HS code 8704) จากทั่วโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.85% หรือคิดเป็นมูลค่า 2,307.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอิตาลีนำเข้ารถยนต์ขนส่งสินค้าจากไทยเป็นอันดับ 8 มีมูลค่า 63.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+69.57%) (อันดับ 1 ตุรกี 524.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+12.80%) อันดับ 2 ฝรั่งเศส 497.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-6.41%) อันดับ 3 เยอรมนี มูลค่า 322.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+4.22%))
2. กรีซ นำเข้าสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (HS code 87) จากทั่วโลก เป็นอันดับ 4 (สัดส่วน 6.04% ของสินค้าที่กรีซนำเข้าทั้งหมด) มูลค่า 3,222.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.34% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เยอรมนี มูลค่า 860.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.60%) อันดับ 2 อิตาลี มูลค่า 298.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.57) และอันดับ 3 ฝรั่งเศส มูลค่า 284.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+3.10%) โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับ 23 มูลค่า 19.5 ล้านหรียญสหรัฐฯ (+41.56%) โดยกรีซนำเข้ารถยนต์ขนส่งสินค้า (HS cod 8704) จากทั่วโลก หดตัว 1.19% หรือคิดเป็นมูลค่า 219.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งกรีซนำเข้ารถยนต์ขนส่งสินค้าจากไทยเป็นอันดับ 8 มีมูลค่า 10.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+96.17%) (อันดับ 1 เยอรมนี 54.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+11.14%) อันดับ 2 แอฟริกาใต้ 33.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+66.63%) อันดับ 3 อิตาลี มูลค่า 23.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-22.24%))
3. ไซปรัส นำเข้าสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (HS code 87) จากทั่วโลก เป็นอันดับ 2 (สัดส่วน 8.97% ของสินค้าที่ไซปรัสนำเข้าทั้งหมด) มูลค่า 577.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 3.64% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ญี่ปุ่น มูลค่า 141.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+10.35%) อันดับ 2 สหราชอาณาจักร มูลค่า 121.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+11.07) และอันดับ 3 เยอรมนี มูลค่า 97.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-10.09%) โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับ 14 มูลค่า 7.3 ล้านหรียญสหรัฐฯ (+80.79%) โดยไซปรัสนำเข้ารถยนต์ขนส่งสินค้า (HS cod 8704) จากทั่วโลก ขยายตัว 2.67% หรือคิดเป็นมูลค่า 49.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไซปรัสนำเข้ารถยนต์สำหรับการขนส่งสินค้าจากไทยเป็นอันดับ 2 มีมูลค่า 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+150.03%) (อันดับ 1 สหราชอาณาจักร 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+12.05%) อันดับ 3 ตุรกี มูลค่า 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-29.23%))
4. มอลตา นำเข้าสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (HS code 87) จากทั่วโลก เป็นอันดับ 6 (สัดส่วน 4.85% ของสินค้าที่มอลตานำเข้าทั้งหมด) มูลค่า 222.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 18.04% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เยอรมนี มูลค่า 42.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-10.04%) อันดับ 2 สหราชอาณาจักร มูลค่า 33.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+11.50) และอันดับ 3 สเปน มูลค่า 29.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-16.99%) โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับ 13 มูลค่า 3.4 ล้านหรียญสหรัฐฯ (+5.65%) ถึงแม้มอลตานำเข้ารถยนต์ขนส่งสินค้า (HS cod 8704) จากทั่วโลก หดตัว 21.67% หรือคิดเป็นมูลค่า 19.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มอลตานำเข้ารถยนต์ขนส่งสินค้าจากไทยเป็นอันดับ 5 มีมูลค่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+21.17%) (อันดับ 1 สหราชอาณาจักร 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+14.33%) อันดับ 2 ญี่ปุ่น 3.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-36.64%) อันดับ 3 ตุรกี มูลค่า 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-44.76%))


จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ (ANFIA-Associazione Nazionale Filiera Industria Automobilistica) เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคม 2567 การผลิตรถยนต์ในอิตาลี มีจำนวนประมาณ 23,000 คัน ลดลง 54.7% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีการผลิตรถยนต์ในอิตาลี 225,000 คัน ลดลง 35.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
เดือนกรกฎาคม 2567 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์ ตัวถังรถยนต์ รถพ่วง รถกิ่งพ่วง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมยานยนต์และเครื่องยนต์ ไม่รวมยางรถยนต์) ของอิตาลีโดยรวม หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ -24.8% ดัชนีการผลิตยานยนต์ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กและขนาดใหญ๋) หดตัว 35.1% การผลิตงานตัวถังสำหรับยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง เพิ่มขึ้น 10.3% และดัชนีการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ หดตัว 20.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในขณะที่ ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์ ตัวถังรถยนต์ รถพ่วง รถกึ่งพ่วง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมยานยนต์และเครื่องยนต์ ไม่รวมยางรถยนต์) ของอิตาลีโดยรวม หดตัว 17.6% ดัชนีการผลิตยานยนต์ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กและขนาดใหญ๋) หดตัว 21.8% การผลิตงานตัวถังสำหรับยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง เพิ่มขึ้น 12.9% แล ดัชนีการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ หดตัว 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1.แนวโน้มการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบจากไทยมายังประเทศยุโรปใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่อยู่ในภาวะหดตัว เช่น สหราชอาณาจักร -49.01% (อันดับ 18) เนเธอร์แลนด์ -4.24% (อันดับ 47) ฝรั่งเศส -46.59% (อันดับ 56) ออสเตรีย -62.48% (อันดับ 86) และสวิตเซอร์แลนด์ -51.02% (อันดับ 96) ในขณะที่ หากพิจารณาตัวเลขการนำเข้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบจากไทยของอิตาลีในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ารถปิกอัพ รถบัสและรถบรรุทก ในขณะที่ การผลิตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในอิตาลีหดตัวลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้งานรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการบรรทุกขนส่งหรือการเกษตร ดังนั้น ปี 2567 คาดว่า สถานการณ์การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบจากไทยมายังอิตาลี จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตเช่นเดียวกับกรีซ ไซปรัส และมอลตา
2. ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการยานยนต์กิจการพิเศษ (Special Purpose Motor Vehicles) ซึ่งออกแบบตามความต้องการพิเศษ เพื่อใช้ในภารกิจพิเศษ เช่น กิจการทหาร การบรรเทาสาธารณภัย เริ่มเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในตลาดยุโรป เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างสูงสุด เช่น รถยนต์ Cyber truck ของ Tesla ทั้งนี้ หากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของไทยที่สนใจเจาะตลาดรถยนต์ SPV ในยุโรปใต้เพิ่มมากขึ้น อาทิ ไซปรัส กรีซ มอลตา ควรศึกษาข้อมูลเชิงลึกของประเทศนั้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม วัฒนธรรม รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในประเทศ และกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมายังยุโรปใต้ เนื่องจากตลาดดังกล่าวเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีจำนวนคู่แข่งไม่สูงมาก ในขณะที่ ตลาดรถยนต์ในอิตาลียังคงเป็นตลาดที่ค่อนข้างท้าทายแก่ผู้ส่งออกไทย เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ในอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน รวมถึงมีแบรนด์เป็นของตัวเอง มาตรฐานของสินค้าค่อนข้างสูง และมีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาใช้ในการพัฒนาให้รถยนต์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสูงสุด และเป็นไปตามแนวนโยบายของสหภาพยุโรปในการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือน
3. ไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่มีศักยภาพของโลก ดังนั้น ผู้ส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยที่มีความสนใจ ในการขยายการส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังตลาดในยุโรปใต้ ควรเข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้ารถยนต์ที่สำคัญ ดังนี้
3.1 อิตาลี อาทิ งานแสดงรถยนต์ รถจักรยานยนต์โบราณ Auto e Moto d’Epoca Bologna 2024 (https://autoemotodepoca.com/en-GB/il-salone) (วันที่ 24-27 ตุลาคม 2567) งานแสดงรถยนต์คลาสสิค Milano AutoClassica 2024 (https://milanoautoclassica.com/en/) (วันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2567) งานแสดงรถยนต์สำหรับใช้แข่งขัน MIMO 2025 (https://www.milanomonza.com/en/event-info) (วันที่ 27-29 มิถุนายน 2568) งานแสดงรถยนต์ Salone Auto Torino 2025 (https://www.saloneautotorino.com/) (วันที่ 12-14 กันยายน 2568) เป็นต้น
3.2 กรีซ งานแสดงรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ทันสมัย Auto Athina (https://autoathina.gr/en/) ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรป พฤติกรรมของผู้บริโภค และแนวโน้มของสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
——————————————————————-
ที่มา: 1.สำนักสถิติแห่งชาติอิตาลี และกรมศุลกากร โดยความร่วมมือศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
2. https://www.anfia.it/it/comunicazione/notizie-e-comunicati/comunicati-stampa/produzione-industria-automotive-italia/in-caduta-libera-lindice-della-produzione-dellindustria-automotive-italiana-a-luglio-24-8
3.Global Trade Atlas
4.เครดิตรูปภาพประกอบข่าว https://stockcake.com/i/automotive-assembly-line_325348_466953 , https://stockcake.com/i/port-logistics-hub_88162_1183

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมายุโรปใต้ โตสวนกระแสความต้องการจากทั่วโลก

Login