หน้าแรกTrade insightถั่วเหลือง > ตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดา  และโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวจากไทย

ตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดา  และโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวจากไทย

ความหมายและประเภทของอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตน

กลูเตน (Gluten) คือ ไกลโคโปรตีนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการผสมตัวกันของโปรตีนสองชนิด ได้แก่ โปรตีนไกลอะดิน (Gliadin) และโปรตีนกลูตินิน (Glutenin) ซึ่งสามารถพบได้ในข้าวสาลี (Wheat) ข้าวไรย์ (Rye) ข้าว ทริทิเคลี (Triticale) หรือธัญพืขที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวสาลีกับข้าวไรย์ ข้าวบาเลย์ และข้าวโอ๊ต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการนำมาทำขนมปังและอาหารประเภทเส้นต่างๆ อาทิ พาสต้า แคร๊กเกอร์ ซีเรียล ขนมปัง อาหารที่เป็นแป้งอบ น้ำสมสายชูจากข้าวบาลี่ (Malt Vinegar) ซอสถั่วเหลือง รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทเช่น เบียร์ ไวน์คลูเลอร์ที่มีส่วนประกอบของมอลต์

นอกจากนี้ ด้วยคุณลักษณะที่มีความยืดยุ่นทำให้อาหารคงรูปหรือมีความเข้มข้น กลูเตนจึงนิยมถูกนำมาเป็นส่วนผสมในขบวนการผลิตสินค้าอาหารหลากหลายรายการ อาทิ อาหารทะเลเทียมและเนื้อปูเทียม เนื้อสัตว์ชุบแป้งทอด เนื้อสัตว์หมักนุ่ม เนื้อสัตว์เทียมในอาหารเจและอาหารมังสวิรัติ ปลากระป๋องในน้ำซุป อาหารเสริมที่ทำมาจากสมุนไพร ผลไม้กวน และซอสปรุงรสต่างๆ เป็นต้น

สาเหตุและลักษณะอาการแพ้กลูเตน

แม้ว่ากลูเตนเป็นเพียงโปรตีนชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับคนทั่วไป เพียงแต่ต้องรับประทานอย่างพอเหมาะ เพราะกลูเตนจะส่งผลเสียกับ “ผู้ที่แพ้กลูเตน” ที่แม้กินเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยอาการและสัญญาณของโรคแพ้กลูเตน หลังจากรับประทานกลูเตนไปแล้วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ตามมา อาจหมายความว่า “คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคแพ้กลูเตน” ได้แก่

  • ท้องเสีย
  • ท้องอืด
  • แก๊สในกระเพาะอาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักลดลง
  • มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  • ท้องผูกรุนแรง หรือท้องผูกเป็นประจำ
  • โรคซึมเศร้า
  • ผื่นคัน

ความหมายและประเภทของสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน

อาหารปราศจากกลูเตนหรือกลูเตนฟรี หมายถึง อาหารที่ไม่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบหรืออาจจะมีในปริมาณน้อยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคที่มีภาวะแพ้กลูเตน ซึ่งกลุ่มอาหารปราศจากกลูเตน ​(Gluten Free) สามารถเลือกได้โดยตามธรรมชาติของอาหารไม่ผ่านกระบวนการผลิตใดๆ และไม่มีการปรุงแต่งรสชาติหรือใส่สารกันเสียที่มีส่วนผสมของกลูเตน ได้แก่

  • ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาจากข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ หรือข้าวไรย์ เช่น ข้าวขาว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ วุ้นเส้น เส้นเล็ก เส้นใหญ่ หมี่ขาว ขนมจีน ขนมปังจากแป้งข้าวเจ้า
  • เนื้อสัตว์ทุกชนิดเช่น หมู ไก่ ไข่ ปลา อาหารทะเล
  • ผักทุกชนิด ทั้งผักใบและผักหัวเช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง แครอท เผือก มัน ข้าวโพด
  • ผลไม้ทุกชนิดเช่น กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม มะละกอ ฝรั่ง แตงโม
  • ถั่วเปลือกแข็งเช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
  • ถั่วเมล็ดแห้งเช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง
  • นมจากสัตว์ นมจากถั่วเปลือกแข็งและถั่วเมล็ดแห้งเช่น นมวัว นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีกระแสเกี่ยวกับการรับประทานอาหารปราศจากกลูเตนมากขึ้น ด้วยเหตุผลอื่นๆ นอกเหนือจากภาวะการแพ้กลูเตน เช่น เพื่อการลดน้ำหนัก เพื่อการสร้างพลังงาน หรือบางคนอาจเชื่อว่าช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวไปยังประเทศแคนาดา เนื่องจากผลิตภัณฑ์ข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวแดง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวนั้น เป็นอาหารปราศจากกลูเตนโดยธรรมชาติ อีกทั้งไทยยังได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงรสชาติและคุณภาพของข้าวด้วยเช่นกัน

 

ภาพรวมตลาด

    ตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ปัจจุบันสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนมีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึง 5,870[1] ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 7.0 ส่งผลให้ในปี 2577 ความต้องการสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนของโลกจะคิดเป็นมูลค่าราว 11,587 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอเมริกาเหนือถูกจัดอันดับให้เป็นภูมิภาคที่มีตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสัดส่วนราวร้อยละ 50 จากตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนทั้งหมด

 

สำหรับประเทศแคนาดา บริษัท  Mordor Intelligence จำกัด สำรวจข้อมูลตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนพบว่า มีโอกาสขยายตัวได้เช่นเดียวกับตลาดโลก แต่อาจจะไม่เป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเหมือนกับในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ โดยเมื่อปี 2566 มูลค่าตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดาอยู่ราว 512.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจัยที่ส่งผลให้มีเกิดการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดา มาจากการตระหนักถึงภัยอันตรายของการรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบของผู้บริโภคที่มีอาการแพ้กลูเตน โดยชาวแคนาดาราวร้อยละ 1 ของประชากรในประเทศ หรือคิดเป็นจำนวน 355,000 คน ป่วยเป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) รวมไปถึงชาวแคนาดามากกว่า 2.1 ล้านคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้ข้าวสาลี

 

นอกจากนั้น ผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการแพ้กลูเตนโดยตรงต่างหันมานิยมเลือกซื้อและรับ ประทานสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกระแสนิยมในหมู่ศิลปิน ดารา และผู้ที่มีชื่อเสียงทางสังคมที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น โดยการสำรวจของสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งพบว่า ชาวแคนาดาส่วนมากหรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน เพราะคำนึงถึงประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าอาหารที่มีกลูเตนปนเปื้อนอยู่ และจากเหตุผลอื่นๆ ได้แก่ สมาชิกในครอบครัวมีอาการแพ้ข้าวสาลีหรือมีภาวะไวต่อกลูเตน ความต้องการในการควบคุมน้ำหนัก คุณภาพของสินค้า ปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อย (Low Carb)  สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคเซลิแอค และการรักษาทางการแพทย์ อาทิ รักษาโรคออทิซึม (Autism) ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) และการบาดเจ็บซ้ำซาก (Repetitive Strain Injury) เป็นต้น

 

หากมองในภาพรวมสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดาถือได้ว่ามีความหลากหลาย แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ อาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว (Snacks) ซึ่งมีมูลค่า 127.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 27.7 ของส่วนแบ่งทางการตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนทั้งหมดในแคนาดา ตามมาด้วย สินค้าอาหารประเภทขนมปัง ซีเรียล หรือธัญพืช และอาหารแช่เย็นหรือแช่แข็งสำเร็จรูป ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 24.8 และร้อยละ 20.5 ตามลำดับ

 

ดังนั้น ตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดา จึงจัดได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดาได้เปลี่ยนสถานะจากการเป็นตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มาเป็นตลาดสินค้าหลัก (Mainstream Market) ที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย และไม่ได้จำกัดเพียงแค่ร้านค้าปลีกเฉพาะสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน หรือร้านค้าปลีกที่เน้นจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเท่านั้น แต่หากยังรวมไปถึงร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไปของแคนาดา

 

นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มรายเล็ก-รายใหญ่ต่างก็พากันหันมาริเริ่มผลิตและวางจำหน่ายสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น PepsiCo ผู้ผลิตเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้นำเสนอมันฝรั่งอบกรอบปราศจากกลูเตนยี่ห้อ Lay’s และธัญพืชอัดแท่ง (Granola Bar) ปราศจากกลูเตนยี่ห้อ Quakers  รวมไปถึงห้างค้าปลีก Loblaws ได้วางจำหน่ายเบเกอรี่ปราศจากกลูเตน และเส้นพาสต้าปราศจากกลูเตน บริษัท General Mills จำกัดได้เปิดตัวซีเรียลอาหารเช้าปราศจากกลูเตนหลากหลายรสชาติ และบริษัท Western Rice Mill จำกัด ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของแคนาดาฝั่งตะวันตกที่ได้ตีพิมพ์คำว่า “Gluten-Free” ลงบนบรรจุภัณฑ์ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น

 

แนวโน้มตลาด

เมื่อมองถึงอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดา และการเพิ่มขึ้นของจำนวนและกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งรูปแบบของสินค้าจากผู้ผลิตและผู้ประกอบทั้งหลาย จึงอาจจะกล่าวได้ว่าการเลือกซื้อและบริโภคสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดานั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความนิยมตามเทรนด์ระยะสั้น หากแต่เป็นแนวโน้มของตลาดแคนาดาในระยะยาวที่มีศักยภาพและโอกาสมากเพียงพอในการเติบโตและขยายตัวในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการจัดจำหน่าย กลุ่มผู้บริโภค และรูปแบบของสินค้า

  • ช่องทางการจัดจำหน่าย
  1. ร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง หรือ Specialty Stores ที่จำหน่ายสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน อาหารเพื่อสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติโดยเฉพาะ แม้ว่าในปัจจุบัน ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนจะมีมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง เนื่องจากจะมีการแยกประเภทสินค้าต่างๆอย่างชัดเจน รวมทั้งมีพื้นที่การวางจำหน่ายสินค้าเหล่านั้นอย่างไม่จำกัด ทำให้ลูกค้ามีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และไม่ต้องเสียเวลาในการค้นหาสินค้า
  2. ร้านค้าปลีกหรือซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป นอกจากจากร้านค้าปลีกเฉพาะอย่างแล้ว ผู้บริโภคแคนาดายังสามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในค้าปลีกหรือซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป อาทิ Safeway, Sobeys, Loblaws, Save-On Foods, PriceSmart, Urban Fare, Shoppers Drug Mart เป็นต้น ส่งผลให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  3. ร้านอาหาร จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการร้านอาหารถึงกระแสความนิยมของเมนูอาหารในแคนาดา พบว่า อาหารปราศจากกลูเตนได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งร้านอาหารส่วนมากจะมีการระบุ “Gluten Free” บนเมนูอาหารที่ปราศจากกลูเตนอย่างชัดเจน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าในการพิจารณาเวลาสั่งอาหาร
  4. อินเตอร์เน็ต สื่อออนไลน์ เมื่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคอยู่ในสื่อออนไลน์มากขึ้น รวมไปถึงการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน ซึ่งผู้ประกอบการหลากหลายรายได้เริ่มหันมาขายสินค้าอาหารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่างๆ อาทิ เว็บไซต์ ca, Healthy Planet Canada, Vitacost, Specialty Food Shop, Kinnikinnick, Well.ca เป็นต้น
  • กลุ่มผู้บริโภค
  1. กลุ่มผู้บริโภคที่มีอาการ Gluten-Related Disorders จากความนิยมสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนที่พบแพร่หลาย ส่งผลให้ชาวแคนาดาเริ่มมีการตื่นตัวต่ออาการ Gluten-Related Disorders มากขึ้น จนอาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ว่า การตรวจพบผู้บริโภคที่มีอาการ Gluten-Related Disorders จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดความต้องการบริโภคสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนเพิ่มขึ้นตามกันไป
  2. กลุ่มคนรักสุขภาพ การที่ชาวแคนาดาจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและร่างกาย ประกอบกับกระแสอาหารเพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรงในแคนาดาอยู่ ณ ตอนนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ว่ากลุ่มคนรักสุขภาพจะหันมาเลือกซื้อสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนกันมากขึ้น เนื่องจากการบริโภคอาหารดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายหลายประการ อาทิ ลดโอกาสเสี่ยงการเป็นโรคเซลิแอค หรือมีภาวะไวต่อกลูเตน และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
  3. กลุ่มผู้บริโภคอื่นๆ การหันมาผลิตสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการจำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดความหลากหลายของสินค้าดังกล่าว ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่กลุ่มผู้บริโภคที่มีอาการ Gluten-Related Disorders หรือกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติในแคนาดา กลุ่มผู้สูงอายุ และอื่นๆอีกมากมาย
  • รูปแบบสินค้า
  1. ความหลากหลายของสินค้า แม้ว่ารูปแบบสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวแคนาดายังคงมีความต้องการที่จะให้สินค้าอาหารปราศจากกลูเตนมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันออกไปของกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้น สินค้าอาหารปราศจากกลูเตนที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทางด้านประเภทสินค้า รูปแบบ รสชาติ หรือคุณค่าทางสารอาหารและโภชนาการ จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในอนาคต
  2. คุณภาพของสินค้า หรือความคุ้มค่าคุ้มราคา ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ดังนั้น การที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนซึ่งมีราคาสูงกว่าอาหารทั่วไปแล้วนั้น ผู้บริโภคจะมีการคำนึงถึงคุณภาพและความคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ควรที่จะให้ความสำคัญเฉพาะด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความใส่ใจในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของสินค้าของตนเองด้วยเช่นกัน
  3. ความสะดวกสบายและความรวดเร็ว เนื่องจากสภาพสังคมทุกวันนี้ ทุกคนต่างใช้ชีวิตบนความเร่งรีบ ความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเตรียมและการประกอบอาหารจึงเป็นสิ่งที่ชาวแคนาดาจำนวนมากต้องการ ฉะนั้น สินค้าอาหารในรูปแบบสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) อาหารกึ่งสำเร็จรูป และในรูปแบบอื่นๆที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้ จึงมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงในอนาคต เช่นเดียวกันกับรูปแบบของสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน
การส่งออก กฎระเบียบ

แคนาดาเป็นประเทศที่ถือได้ว่ามีตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนที่มีศักยภาพแห่งหนึ่ง เนื่องจากความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตอาหารในประเทศและจากทั่วโลกจึงให้ความสนใจต่อตลาดแคนาดา แต่อย่างไรก็ตาม แคนาดามีกฎระเบียบและข้อบังคับด้านอาหารอย่างเคร่งครัด ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ รวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ อาทิ การติดฉลากปราศจากกลูเตน บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตอาหารจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของแคนาดาอย่างเคร่งครัด

  • การติดฉลากปราศจากกลูเตน หรือ Gluten-Free

          แม้ว่าการติดฉลากปราศจากกลูเตน หรือ “Gluten-Free” บนผลิตภัณฑ์สินค้าอาหาร จะไม่ได้เป็นกฎข้อบังคับอย่างเป็นทางการ แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากมีความนิยมที่จะติดฉลากดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าเอง

ทั้งนี้ การจะติดฉลากปราศจากกลูเตนบนผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารได้นั้น จะต้องไปตามกฎระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเรื่องการติดฉลากปราศจากกลูเตนที่ได้มีการกำหนดไว้ใน Food and Drugs Act และ Food and Drugs Regulations จากทางการแคนาดา รวมทั้งยังต้องได้มาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแคนาดา ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา และ หน่วยงานมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency) ซึ่งรายละเอียดการติดฉลากปราศจากกลูเตนบนผลิตภัณฑ์อาหาร[2] สรุปได้ดังต่อไปนี้

  • การติดฉลากปราศจากกลูเตนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 24 ของ Food and Drugs Regulation ที่ว่าด้วยเรื่องความหมายและขอบเขตของสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน โดยสินค้าอาหารที่จะสมารถติดฉลากดังกล่าวได้ จะต้องเป็นอาหารเพื่อการบริโภคแบบพิเศษ (Foods for Special Dietary Use) และในกรณีนี้ หมายถึง อาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต หรือการคิดค้นอย่างพิถีพิถันเพื่อตอบสนองการบริโภคของผู้บริโภคที่มีอาการ Gluten-Related Disorders โดยเฉพาะ ซึ่งอาหารเหล่านั้น จะต้องมีคุณลักษณะดังนี้
  • จะต้องไม่มีส่วนประกอบของกลูเตนที่มาจากข้าวสาลี ข้าวบาเลห์ ข้าวไรน์ ข้าวโอ๊ต ข้าวทริทิเคลี หรือจากการผสมข้ามสายพันธุ์ข้าวอย่างน้อย 1 ชนิด (Hybridized Strain) หรือมีส่วนประกอบของกลูเตนดัดแปลงที่มากจากข้าว หรือการผสมข้ามสายพันธุ์ข้าวอย่างน้อย 1 ชนิดดังกล่าว
  • มีส่วนประกอบของกลูเตนที่ไม่ได้มาจากข้อ 1) หรือมาจากข้อ 1) แต่ได้ผ่านขบวนการขจัดกลูเตนแล้ว และปริมาณกลูเตนทั้งหมดในผลิตภัณฑ์สุดท้ายน้อยกว่า 20 ppm (Parts Per Million)
  • สินค้าอาหารที่ได้มาตรฐานตามข้อ 1 และ 2 จะต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต หรือ Good Manufacturing Practices ร่วมด้วย

ข้อควรระวัง: การติดฉลากปราศจากกลูเตนบนผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในคำจำกัดความ หรือมีกลูเตนตกค้างอยู่ 20 ppm หรือมากกว่านั้น จะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับของแคนาดาที่ได้กำหนดไว้ใน Food and Drugs Act และ Food and Drugs Regulation รวมทั้งมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา และจะต้องได้รับมาตราการลงโทษที่เหมาะสมจาก CFIA ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเรียกคืน หรือยกเลิกสินค้าดังกล่าว

  • การติดฉลากว่า low gluten หรือ reduced gluten ลงบนผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารนั้น ไม่สามารถที่จะกระทำได้ในแคนดา
  • ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆที่ปรากฏอยู่บนฉลากปราศจากกลูเตน รวมทั้ง เครื่องหมายการค้า ชื่อยี่ห้อ รูปภาพ โลโก้ หรือสโลแกน จะต้องได้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานที่ได้กล่าวมาข้างต้น และอาจจะได้รับการตรวจสอบจาก CFIA ในกรณีที่ข้อมูลหรือรายละเอียดบางอย่างขัดต่อกฎข้อบังคับของแคนาดา
  • การติดฉลากปราศจากกลูเตนลงบนผลิตภัณฑ์สินค้าอาหาร ไม่ได้ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของส่วนผสมในอาหาร รวมทั้งคุณค่าทางโภชนาการ หรือข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้น สินค้าอาหารที่ได้รับการติดฉลากปราศจากกลูเตน ยังคงจำเป็นที่จะต้องแสดงข้อมูลของส่วนผสมต่างๆ รวมถึงกลูเตนหรือแหล่งที่มาของกลูเตน ลงในรายการส่วนผสมอาหาร (ingredient list) หรือตรงช่อง Contains โดยจะต้องใช้ภาษาที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา นอกจากนี้ กลูเตนที่อยู่ในเครื่องปรุงหรือเครื่องเทศ ก็ต้องได้รับการระบุด้วยเช่นกัน

 

  • เครื่องหมายรับรองสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนของแคนาดา

ในแคนาดา จะมีหน่วยงานที่ให้บริการติดเครื่องหมายรับรองสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนอยู่ แม้จะไม่ได้มีข้อบังคับของภาครัฐกำหนดว่าจะต้องมีเครื่องหมายรับรองสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน แต่ปัจจุบันพบว่า มีสินค้าหลายรายการติดเครื่องหมายรับรองสินค้าอาหารปราศจากกลูเตน ในแง่ของการสร้างความน่าเชื่อถือในตัวสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการบริโภคง่ายยิ่งขึ้น โดยหน่วยงานที่ได้รับความนิยมในการติดเครื่องหมายรับรองสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดา คือสมาคม Canadian Celiac Association (CCA) โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.celiac.ca.

 

โอกาสและข้อเสนอแนะ

ข้อมูลสำรวจของ  Mordor Intelligence คาดว่า ตลาดอาหารปราศจากกลูเตนในประเทศแคนาดาจะมีโอกาสเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 9.07 ต่อปีในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าตลาดจะมีมูลค่า 791 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2571 เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรแคนาดา ส่งผลให้มีสัดส่วนผูบริโภคที่ต้องการอาหารปราศจากกลูเตนเพิ่มขึ้นตามกันไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีการพัฒนาอาหารปราศจากกลูเตนหลากหลายขึ้น รวมถึงมีการวางจำหน่ายอาหารในห้างค้าปลีกทั่วไป จึงทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกมากขึ้น

จากการที่ตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในแคนาดา จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารที่ปราศจากกลูเตน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากข้าว เนื่องจากข้าวเป็นแหล่งธัญพืชปราศจากกลูเตนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงสามารถใช้เป็นจุดขายเพื่อการส่งเสริมและขยายตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทยไปสู่ตลาดแคนาดาได้ รวมทั้งยังสามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของไทยอีกทางหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่อาจบั่นทอนการเติบโตของอาหารปราศจากกลูเตน คือ ราคาอาหารปราศจากกลูเตนที่มีราคาสูงกว่าราคาอาหารทั่วไป เนื่องจากวัตถุดิบที่มีกระบวนการผลิตซับซ้อนและราคาสูงกว่าแป้งสาลีทั่วไป ซึ่งในกรณีผู้บริโภคที่มองหาอาหารปราศจากกลูเตนเพื่อทางเลือกด้านสุขภาพนั้น อาจมองหาทางเลือกอาหารชนิดอื่นๆ มาทดแทน

ข้อเสนอแนะ

  1. ผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของชนิดข้าวของไทยในการผลิตสินค้าข้าวแปรรูป เพื่อให้เกิดความหลากหลายของสินค้าที่จะสามารถตอบสนองความต้องการและรสนิยมการบริโภคของกลุ่มผู้บริโภคในแคนาดาได้เป็นจำนวนมาก
  2. ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการศึกษาค้นคว้าวิจัย หรือคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวให้มีคุณภาพและรสชาติที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ อาทิ การเพิ่มสารที่ช่วยให้อาหารอยู่ตัวมากขึ้นอย่าง สารไฮโดรคอลลอยด์ (สารสกัดจากพืชที่ใช้ในการเพิ่มความคงตัวให้กับอาหาร) หรือแป้งมัน หรือการเพิ่มโปรตีนสกัดและโปรตีนสกัดดัดแปลง เพื่อเพิ่มคุณภาพและสารอาหารให้กับสินค้า เป็นต้น
  3. ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารของผลิตภัณฑ์จากข้าวให้ยังคงมีความใกล้เคียงหรือมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ โดยอาจจะเพิ่มส่วนผสมที่มีประโยชน์และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลงไปในสินค้า อาทิ โปรตีนสกัด และผลไม้ เป็นต้น
  4. นอกจากคุณภาพ รสชาติ และคุณค่าทางสารอาหารของผลิตภัณฑ์จากข้าวแล้วนั้น ผู้ประกอบการไทยก็ควรที่จะใสใจในปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็น การติดฉลากปราศจากกลูเตนลงบนผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค หรือการแสดงรายละเอียดส่วนผสมต่างๆลงในรายการส่วนผสมให้ชัดเจน เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้พิจารณาเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นต้น
  5. ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรการหรือวิธีการอื่นๆในการประชาสัมพันธ์หรือทำการตลาดโปรโมทสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทย อาทิ การใช้ชื่อเสียงและความเป็นที่รู้จักของข้าวไทยในการโปรโมทผลิตภัณฑ์จากข้าว การผลิตรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์จากข้าวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น ทั้

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากข้าวแล้วนั้น ยังอาจนำไปสู่การขยายกลุ่มผู้บริโภคให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มที่มีภาวะไวต่อกลูเตนและโรคแซลิแอค หรือกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ได้ต่อไป

 

 โดย… สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตลาดสินค้าอาหารปราศจากกลูเตนในแคนาดา  และโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวจากไทย

Login