- สถานการณ์ต่างๆที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤตโควิดจนถึงสงครามยูเครน ต่างส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารของฝรั่งเศสในหลายด้าน โดยภาวะเงินเฟ้อในช่วงสองปีที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารปรับเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดที่ร้อยละ 23 ถึงแม้ว่าในปี 2024 นี้ระดับอัตราเงินเฟ้อได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติจนต่ำกว่าร้อยละ 2 ช่วยให้ราคาสินค้าอาหารปรับตัวลดลงจนอาจเทียบได้กับภาวะเงินฝืดระดับอ่อน แต่กระนั้นก็ตามผู้บริโภคในประเทศยังคงใช้จ่ายด้วยความระมัดระวังและปริมาณการบริโภคสินค้าอาหารโดยรวมยังคงลดลง
- นาย Jean-François Loiseau ประธานสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ (l’Ania) กล่าวว่าถึงแม้ว่าวิกฤตต่างๆจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เนื่องจากในช่วงที่ราคาพลังงานปรับขึ้นสูงผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้เงินทุนสำรองล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาความสามารถในการผลิต ดังนั้นเมื่อมาถึงปัจจุบันผู้ประกอบการย่อมต้องคาดหวังให้สภาพรวมของสถานการณ์ตลาดมีความมั่นคงและชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม
- การคำนวณสถานการณ์โดยรวมของตลาดอุตสาหกรรมอาหารในฝรั่งเศสให้ได้ตัวเลขที่มีความชัดเจนทำได้ค่อนข้างยาก ถึงแม้ว่าสินค้าที่ผลิตออกสู่ตลาดจะมีความใกล้เคียงกันและส่งขายให้กับห้างค้าปลีกเจ้าเดียวกันก็ตาม เนื่องมาจากความแตกต่างเป็นอย่างมากของขนาดแต่ละบริษัท โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในประเทศมีจำนวนประมาณ 20,000 ราย เริ่มตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 10 คน ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ระดับนานาชาติซึ่งมีเพียงร้อยละ 2 จากทั้งหมด ซึ่งเป็นมาเช่นนี้ตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด
- นาย Vincent Chatellier นักเศรษฐศาสตร์ประจำสถาบันค้นคว้าด้านการเกษตร,อาหารและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ – INRAE กล่าวว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ประกอบการที่เน้นการผลิตสินค้าเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจหลายด้านที่เกิดขึ้นมากกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดได้มากกว่า
- โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ (บริษัทที่มีลูกจ้างระหว่าง 250 – 4,999 ราย และผลประกอบการต่ำกว่า 1,5 พันล้านยูโร) ที่ผลิตสินค้าเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงเท่านั้น จะประสบปัญหาในการจัดการปัจจัยภายนอกที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้มากกว่าบริษัทประเภทอื่นๆ เช่น ราคาต้นทุนวัตถุดิบ
- ตัวอย่างเช่น ราคาเมล็ดโกโก้ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นหรือปัญหาขาดแคลนส้มเพราะผลจากภัยแล้งที่ประเทศบราซิล บริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น น้ำส้ม หรือช็อกโกแลตย่อมได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หรืออีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ บริษัท Remy Cointreau เจ้าของแบรนด์คอนยัค Remi Martin ของฝรั่งเศสที่พึ่งพาการส่งออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาความต้องการที่ลดลงในตลาดใหญ่นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทเป็นอย่างมาก
- สำหรับในส่วนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากนม ทางธนาคาร Credit Agricole ได้ให้ข้อมูลว่าผู้ประกอบการแต่ละรายมีผลประกอบการมากน้อยแตกต่างกันไป โดยบางรายทำกำไรได้เป็นอย่างมากจากการพัฒนาตลาดต่างประเทศและอาศัยช่วงเวลาที่ระดับราคานมในตลาดขึ้นสูงเพื่อทำกำไร ในขณะที่บางรายกลับได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนราคานมและราคาแรงงานในประเทศที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน
- อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมเช่นเดียวกัน ธนาคาร Credit Agricole กล่าวว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการผลิตเนื้อหมูปิดกิจการเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากราคาต้นทุนในประเทศที่สูงเพิ่มขึ้นในทุกด้าน และผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูก ในขณะที่ราคาเนื้อวัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 2023 แต่เนื่องจากปริมาณวัวไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ประกอบการเช่นโรงฆ่าสัตว์ไม่สามารถเปิดทำการได้ตลอดเวลา บางรายลดเหลือเพียงสามวันต่อสัปดาห์ จากข้อมูลกระทรวงเกษตรฝรั่งเศสระบุไว้ว่าจำนวนโรงฆ่าสัตว์ถึง 1 ใน 5 กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งอาจจะส่งผลให้ร้อยละ 30 ของจำนวนโรงฆ่าสัตว์ทั้งหมด (40แห่งจากจำนวน 230แห่ง) จำเป็นต้องปิดตัวลงในอีกไม่เกินสามปีข้างหน้า
- ในขณะที่ตลาดอื่นๆต่างประสบกับปัญหา ตรงกันข้ามกับตลาดเนื้อไก่และไข่กลับเป็นที่ต้องการสูงมาก เนื่องจากมีราคาถูก, มีภาพลักษณ์ของอาหารสุขภาพ, ไม่มีข้อกำหนดทางศาสนาและสะดวกในการประกอบอาหาร ความต้องการของตลาดนี้จึงเพิ่มสูงขึ้น สามารถสร้างกำไรให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
ความคิดเห็น สคต.
- จากข้อมูลของ INSEE ระบุว่าระดับการบริโภคฝรั่งเศสยังไม่สามารถกลับมาเท่ากับก่อนหน้าสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตามในแต่ละภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ดังเช่น ภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มรวมถึงรองเท้า (-6.3%) และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (-3.7%) ที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยได้รับผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมอาหารและเนื้อสัตว์ เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ตามผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารในฝรั่งเศสที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้ย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
- ดังนั้นผู้ประกอบการสินค้าอาหารไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย อาจต้องพิจารณาผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น แทนการผลิตสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยไม่พึ่งพาการใช้วัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ซึ่งนอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่นเรื่องราคาวัตถุดิบได้แล้ว ยังสามารถสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และช่วยสร้างโอกาสทางค้าได้มากขึ้น
ที่มาของข่าว
Marie-Josée Cougard
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/linegale-sante-des-entreprises-agroalimentaires-face-aux-effets-de-linflation-2118405
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ในฝรั่งเศสได้รับผลกระทบ จากภาวะเงินเฟ้อที่ผ่านมาน้อยกว่าผู้ประกอบการรายย่อย