หน้าแรกTrade insightทุเรียน > ผลไม้ไทยเข้าตลาดจีนตอนกลางอย่างราบรื่น หลังจากเที่ยวบิน Cargo ระหว่างเมืองฉางซา-กรุงเทพฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ผลไม้ไทยเข้าตลาดจีนตอนกลางอย่างราบรื่น หลังจากเที่ยวบิน Cargo ระหว่างเมืองฉางซา-กรุงเทพฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 737 ที่บรรทุกผลไม้สดของไทยจำนวน 20 ตันจากกรุงเทพฯ เข้าถึงสนามบินนานาชาติฉางซา หวงฮัว มณฑลหูหนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะเวลาการขนส่ง 4 ชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเส้นทางขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระหว่างเมืองฉางซา-กรุงเทพฯ ได้ฟื้นฟูการทำงานอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ

เที่ยวบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระหว่างเมืองฉางซา-กรุงเทพฯ ดําเนินการโดยสายการบิน   K-Mile Air รุ่นที่ใช้เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าเต็มรูปแบบของโบอิ้ง 737-800BCF น้ำหนักบรรทุกสูงสุดประมาณ 20 ตัน และเริ่มดําเนินการขนส่งในช่วงระยะแรกเป็นสัปดาห์ละ 2 เที่ยว และจะเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้นตามความต้องการของตลาด สินค้านําเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าผลไม้สด เช่น ทุเรียน มะพร้าว มังคุด เป็นต้น สำหรับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ E-Commerce ข้ามพรมแดน ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น

สถานการณ์เที่ยวบิน Cargo เมืองฉางซา – กรุงเทพฯ ของสนามบินสนามบินนานาชาติ หวงฮัว เมืองฉางซา

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 สนามบินฯ เปิดเที่ยวบิน Cargo โบอิ้ง 737-800 ระหว่างเมืองฉางซา – กรุงเทพฯ เป็นเที่ยวแรกหลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย สินค้านำเข้าหลัก คือ ผลไม้ ซึ่งทำให้ผลไม้ได้เข้าสู่ตลาดมณฑลหูหนานโดยตรงในรูปแบบการขนส่งเหมาลำ ช่วงแรก มีเที่ยวบินขนส่งสินค้าสัปดาห์ละ 4 เที่ยว น้ำหนักสินค้าที่ขนส่งได้ประมาณ 20 ตัน แต่เนื่องจากปริมาณการขนส่งมีจำนวนไม่แน่นอน ทำให้มีการบริการขนส่งไม่ใช่เที่ยวบินถาวร

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 สนามบินฯ ได้เปิดเที่ยวบิน Cargo ระหว่างเมืองฉางซา – กรุงเทพฯ อีกครั้งหลังจากมีการปิดบริการชั่วคราวไป โดยใช้ขนาดเครื่องบินโบอิ้ง B737-800F สินค้าที่นำเข้าส่วนมากเป็นผลไม้สดและสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง และเปิดให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยว หลังจากเปิดเที่ยวบินดังกล่าวไปแล้วพบว่าปริมาณของสินค้าที่ขนส่งยังมีความไม่แน่นอน เช่น ปริมาณสินค้าที่ส่งออกจากเมืองฉางซาได้เต็มน้ำหนัก แต่ขากลับจากกรุงเทพฯ จะมีปริมาณไม่มาก โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด ปริมาณการขนส่งจะขึ้นอยู่ช่วงฤดูกาลผลไม้ และผลผลิต รวมถึงทางเลือกรูปแบบการขนส่งของผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้ต้นทุนของบริการสูง เที่ยวบิน Cargo นี้จึงปิดบริการชั่วคราว

และล่าสุดได้เปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 โดยบริษัท Hunan Airport Logistics Co., Ltd ซึ่งเป็นบริษัทควบคุมและดูแลด้านการขนส่งสนามบินฯ ประกาศว่า การฟื้นฟูการให้บริการของ Cargo เมืองฉางซา –  กรุงเทพฯ จะมีการขนส่งสินค้าระหว่างกันสู่ช่วงปกติ และจะขยายช่องทางการขนส่งทางอากาศของเมืองฉางซา และเพิ่มขีดความสามารถทางด้านกระจายสินค้าทางโลจิสติกส์มากขึ้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของเมืองฉางซาทั้งปีเป็น 5,000 ตัน ซึ่งจะส่งเสริมให้ผลไม้สด และสินค้าอาหารทะเลจากไทยเข้าถึงตลาดเมืองฉางซามากขึ้น รวมถึงเข้าถึงตลาดเมืองอื่นของมณฑลหูหนานและเมืองอื่นๆ ที่เป็นเมืองตั้งอยู่ในภูมิภาคจีนตอนใน

สนามบินนานาชาติฉางซา หวงฮัว มีพื้นที่ควบคุมและตรวจสอบสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ (1) พื้นที่ควบคุมและตรวจสอบสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งที่นำเข้า (2) พื้นที่ควบคุมและตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าเพื่อรับประทาน (3) พื้นที่ควบคุมและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยานำเข้า และ (4) พื้นที่ควบคุมและตรวจสอบผลไม้นำเข้า ปัจจุบันเส้นทางเที่ยวบินต่างประเทศที่เป็น Cargo ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ มีจำนวน 4 เส้นทาง และมี 13 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สามารถขนส่งสินค้าปริมาณ 34,000 ตันต่อปี ในขั้นตอนต่อไป สนามบินฯ จะใช้โอกาสของนโยบายสำหรับการพัฒนาของภาคกลางของจีนเสริมสร้างความร่วมมือการขนส่งทางอากาศกับต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางอากาศ ให้การบริการที่มีความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็วและความประสิทธิภาพแก่ผู้ใช้บริการ

ความเห็นจาก สคต. ณ เมืองหนานหนิง

สคต.ณ เมืองหนานหนิง ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของบริษัท Hunan Airport Logistics Co., Ltd และได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสินค้าไทยที่นำเข้าสู่ตลาดมณฑลหูหนานโดยผ่านสนามบินนานาชาติฉางซา หวงฮัว ประกอบด้วย 2 รูปแบบ ได้แก่ การขนส่งโดยเที่ยวบินผู้โดยสาร และการขนส่งโดยเที่ยวบิน Cargo สำหรับการขนส่งโดยเที่ยวบินผู้โดยสาร สัปดาห์ละ 3 – 4 เที่ยว สามารถขนส่งสินค้าได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ตันต่อเที่ยวบิน สำหรับการขนส่งโดยเที่ยวบิน Cargo สัปดาห์ละ 2 เที่ยว สามารถขนส่งสินค้าได้ 20 ตันต่อเที่ยวบิน และจะมีการเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้บริการ

สินค้าไทยที่เข้าสู่ตลาดมณฑลหูหนานโดยการขนส่งทางอากาศ นอกจากการขนส่งผ่านสนามบินนานาชาติฉางซา หวงฮัวแล้ว ยังสามารถขนส่งได้ที่สนามบินนานาชาติเหอฮัว จางเจียเจี้ย เนื่องจากสนามบินนี้ได้ผ่านการตรวจรับเป็น พื้นที่ควบคุมและตรวจสอบสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง     ที่นำเข้า พื้นที่ควบคุมและตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าเพื่อรับประทาน และพื้นที่ควบคุมและตรวจสอบผลไม้นำเข้า ซึ่งอนุญาตนำเข้าสินค้า 3 ประเภทดังกล่าวได้

มณฑลหูหนานตั้งอยู่ภาคกลางของจีน ไม่มีพื้นที่ติดชายแดนและทะเล แต่เป็นมณฑลที่มีเศรษฐกิจดี ในปี 2023 GDP ติดอันดับที่ 7 ในบรรดา 31 มณฑลของประเทศจีน มูลค่าการค้ากับต่างประเทศเป็นอันดับที่ 14 ของประเทศจีน

ทั้งนี้ มณฑลหูหนานเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่ประสงค์เข้าสู่ตลาดตอนกลางของจีน สำหรับสินค้าที่เหมาะสมกับการขนส่งผ่านทางอากาศ จะเป็นสินค้าผลไม้สด อาหารทะเลแช่แข็ง สินค้าอาหารและสินค้าประเภทอื่นที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการกระจายสินค้าไปยังตลาดภูมิภาคจีนตอนในอีกด้วย

————————————————————————————

 

แหล่งที่มา

https://mp.weixin.qq.com/s/zj6vfc8nDGzlNlf3rK0AHg

https://www.icswb.com/newspaper_article-detail-1785931.html

https://www.chinanews.com.cn/cj/2022/06-01/9769320.shtml

http://hn.people.com.cn/n2/2022/0602/c195194-35297844.html

 http://zn.caac.gov.cn/ZN_XXGK/ZN_HYDT/202104/t20210416_207183.html

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลไม้ไทยเข้าตลาดจีนตอนกลางอย่างราบรื่น หลังจากเที่ยวบิน Cargo ระหว่างเมืองฉางซา-กรุงเทพฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

Login