หน้าแรกTrade insightทุเรียน > ตลาดผลไม้ของเกาหลีใต้

ตลาดผลไม้ของเกาหลีใต้

ในปี 2567 คาดการณ์ว่า การนำเข้าผลไม้ทั้งชนิดสด แห้ง และแช่แข็ง จะเพิ่มขึ้นเป็น 669,000 ตันหรือร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากการขยายปริมาณโควตาในการนำเข้าของรัฐบาลเกาหลี ในส่วนของผลไม้เขตร้อน คาดการณ์ว่า ความต้องการต่อมะม่วง อะโวคาโด และกล้วยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี จาก 517,000 ตันในปี 2567 เป็น 559,000 ตันในปี 2576

 

สถานการณ์โดยรวม

ประเภทผลไม้ในตลาดเกาหลี

  • ในเกาหลี มีการผลิตและบริโภคผลไม้หลักทั้งสิ้น 6 ชนิด ได้แก่ แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ส้ม พีช องุ่นและลูกพลับหวาน นอกจากนี้ ยังนิยมบริโภคพลัม มะเดื่อ บลูเบอร์รี่ แอพริคอต และเชอร์รี่เช่นกัน
  • สำหรับผลไม้นำเข้าที่ได้รับความนิยม ประกอบด้วย ผลไม้เขตร้อน (Tropical fruit) เช่น กล้วย สับปะรด มะม่วง และอาโวคาโด ผลไม้เขตอบอุ่น (Temperate fruit) เช่น องุ่น เชอรี่ กีวี่ ทับทิม บลูเบอร์รี่ และผลไม้ตระกูลส้ม (Citrus Fruit) เช่น ส้ม เลมอน และเกรปฟรุต
  • นอกจากนี้ ยังมีผลไม้ที่ถูกจัดในทั้งประเภทผักและผลไม้ ได้แก่ สตรอว์เบอร์รี่ แตงโม เมลอน และมะเขือเทศ

การบริโภคผลไม้ของตลาดเกาหลี และแนวโน้มการเติบโต

  • ราคาของผลไม้ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการเก็บเกี่ยวที่ลดลงในปี 2566 อย่างไรก็ดี ปริมาณการบริโภคผลไม้หลัก 6 ชนิดของเกาหลีอยู่ที่ประมาณ 31.2 กิโลกรัมต่อคน ในส่วนของส้มและผลไม้เขตร้อนนำเข้า มีปริมาณบริโภคประมาณ 12.1 กิโลกรัมต่อคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากปีก่อนหน้า
  • แม้ในปี 2567 จะคาดการณ์ว่า การบริโภคผลไม้เกาหลีหลัก 6 ชนิดต่อคนจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.6 กิโลกรัม จากสถานการณ์อุปทานและอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น และการบริโภคส้มและผลไม้เขตร้อนนำเข้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากปีก่อนเป็น 12.4 กิโลกรัม
    • หลังปี 2567 การบริโภคผลไม้หลัก 6 ชนิดต่อคนของเกาหลีมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และจะลดลงเหลือ 33.6 กิโลกรัมในปี 2576
    • ในทางกลับกัน การบริโภคส้มและผลไม้เขตร้อนนำเข้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.8 ต่อปีเป็น 13.1 กิโลกรัมต่อคนในปี 2576
  • แนวโน้มการบริโภคผลไม้นำเข้านี้ เป็นผลมาจากแนวทางการขยายตลาดผ่านการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดผลไม้เกาหลีในระยะปานกลางถึงระยะยาว

 

สถานะการผลิตของตลาดผลไม้ในเกาหลีใต้

การผลิตผลไม้

  • ปริมาณการผลิตผลไม้ในปี 2565 มีมูลค่าถึง 68 ล้านล้านวอน สามารถแบ่งเป็นปริมาณการผลิตของผลไม้หลัก 6 ชนิดมูลค่า 5.02 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 88.5 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด และปริมาณการผลิตของผลไม้อื่นๆ อยู่ที่ 6.53 แสนล้านวอน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 11.5 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด
    • จากกลุ่มผลไม้หลัก 6 ชนิดนี้ การผลิตแอปเปิ้ลมีมูลค่า 34 ล้านล้านวอน คิดเป็นร้อยละ 23.6 ของการผลิตทั้งหมด ตามด้วย ส้ม 1.09 ล้านล้านวอน (ร้อยละ 19.3) องุ่น 1.05 ล้านล้านวอน (ร้อยละ 18.5) พีช 7.51 แสนล้านวอน (ร้อยละ 13.2) ลูกแพร์ 5.5 แสนล้านวอน (ร้อยละ 9.7) และลูกพลับหวาน 2.41 แสนล้านวอน (ร้อยละ 4.2)
  • ในปี 2566 อัตราการผลิตลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและความเสียหายจากศัตรูพืช

การผลิตผลไม้ที่ถูกจัดในทั้งประเภทผักและผลไม้

  • การผลิตของผลไม้กลุ่มนี้ในปี 2565 มีมูลค่า 72 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อนหน้า โดยอัตราการผลิตสตรอเบอร์รี่มีมูลค่า 1.47 ล้านล้านวอน (ร้อยละ 39.5) ตามด้วย มะเขือเทศ 9.53 แสนล้านวอน (ร้อยละ 25.6) และแตงโมที่ 7.01 แสนล้านวอน (ร้อยละ 18.9) และแตงโม 5.95 แสนล้านวอน (ร้อยละ 16.0)
  • ในปี 2566 อัตราการผลิตลดลงเช่นกัน แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าการผลิตผลไม้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและความเสียหายจากศัตรูพืช

 

อุปทานของผลไม้ในตลาดเกาหลี

 

  • ในปี 2560 ปริมาณผลไม้สดในตลาดเกาหลีเพิ่มขึ้นเป็น 3.14 ล้านตัน จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นซึ่งได้รับผลกระทบจากผลผลิตภายในประเทศที่ลดลง
  • อย่างไรก็ดี ปริมาณของผลไม้สดในตลาดเกาหลีมีการคงที่อยู่ประมาณ 2.8 ล้านตันในช่วงนี้ เนื่องจากการลดลงของทั้งพื้นที่เพาะปลูกในประเทศและการนำเข้าผลไม้สด

 

การบริโภคผลไม้

  • การบริโภคผลไม้หลัก 6 ชนิดต่อคนต่อปี ยังคงมีปริมาณในช่วง 30 กิโลกรัมตั้งแต่ปี 2558 จากผลผลิตที่ลดลง นอกจากนี้ การบริโภคผลไม้นำเข้าต่อคนซึ่งมีปริมาณมากกว่า 14 กิโลกรัมตั้งแต่ปี 2558 ได้ลดลงเหลือ 12.6 กิโลกรัมในปี 2565

 

สถานะการนำเข้าผลไม้มายังเกาหลีใต้

การนำเข้าผลไม้ของเกาหลีมีความหลากหลายและปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากจำนวนประเทศลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับเกาหลีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความนิยมในหมู่ผู้บริโภคต่อผลไม้หลากชนิด ส่งผลต่อการนำเข้าผลไม้สดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2561 และหลังจากนั้นก็มีอัตราลดลงซึ่งเป็นผลกระทบจากคุณภาพของการเพาะปลูกในประเทศผู้ส่งออกและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าในปี 2566 อยู่ที่ 647,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีมูลค่าการนำเข้าที่ 1.21 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเช่นกัน

สถิติการนำเข้าผลไม้ของเกาหลี

 

การบริโภคผลไม้นำเข้า

    • ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2561 การบริโภคผลไม้นำเข้าต่อปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยปริมาณการบริโภคผลไม้นำเข้าต่อคนอยู่ที่ 12.3 กิโลกรัมในปี 2566 ซึ่งสามารถแบ่งเป็นผลไม้เขตร้อน 8.2 กิโลกรัม ผลไม้เขตอบอุ่น 1.8 กิโลกรัม และผลไม้ตระกูลส้ม 2.3 กิโลกรัม
    • จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภค พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักซื้อและบริโภคที่บ้าน (ร้อยละ 63) รองลงมาเป็น การบริโภคเป็นของหวานที่ร้านอาหาร (ร้อยละ 23) การบริโภคที่บริษัทจัดหาให้ (ร้อยละ 9) และไม่บริโภคผลไม้นำเข้า (ร้อยละ 5)
    • ผลจากการสำรวจความชอบสำหรับผลไม้นำเข้า พบว่า ความชอบต่อชนิดผลไม้นำเข้ามีความใกล้เคียงกันในแต่ละกลุ่มอายุ ดังนี้
      • กลุ่มอายุ 20-30 ปี นิยมรับประทานกล้วย ส้ม และสับปะรด
      • กลุ่มอายุ 40-50 ปี นิยมรับประทานกล้วย ส้ม และองุ่น
      • กลุ่มอายุ 60 ปี นิยมรับประทานกล้วย องุ่น และส้ม

การนำเข้าผลไม้แช่แข็ง

  • สถานการณ์ของราคาผลไม้สดเพิ่มขึ้นและอุปทานของผลไม้ในเกาหลีลดลง ส่งผลให้การบริโภคผลไม้แช่แข็งที่ราคาย่อมเยากว่าในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 64,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • จากผลการสำรวจประสบการณ์การซื้อผลไม้แช่แข็งเพื่อทดแทนผลไม้สดในปี 2566 พบว่า มีการบริโภคบลูเบอร์รี่แช่แข็งสูงสุด (ร้อยละ 30) ตามมาด้วย มะม่วงแช่แข็ง (ร้อยละ 22) และผลไม้แช่แข็งอื่นๆ (ร้อยละ 13)
  • โดยปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคเลือกซื้อผลไม้แช่แข็ง ได้แก่ สะดวกต่อการจัดเก็บ (ร้อยละ 38) สามารถรับประทานได้ทันที (ร้อยละ 36) และราคาย่อมเยา (ร้อยละ 22)

แนวโน้มการนำเข้าผลไม้ในอนาคต

  • ในปี 2567 คาดการณ์ได้ว่า การนำเข้าผลไม้ทั้งชนิดสด แห้ง และแช่แข็ง จะเพิ่มขึ้นเป็น 669,000 ตันหรือร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากการขยายปริมาณโควตาในการนำเข้าของรัฐบาลเกาหลีสำหรับการนำเข้าผลไม้เขตร้อน ผลไม้ตระกูลส้ม และผลไม้อื่นๆ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • สำหรับการนำเข้าผลไม้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปีเป็น 703,000 ตันในปี 2576 โดยความต้องการผลไม้เขตร้อน อาทิ มะม่วง อะโวคาโด และกล้วยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี จาก 517,000 ตันในปี 2567 เป็น 559,000 ตันในปี 2576

 

กฎระเบียบการนำเข้าและอัตราภาษีศุลกากร

  • ผู้นำเข้าต้องผ่านกระบวนการกักกันที่สำนักงานกักกันสัตว์และพืช (APQA) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพืช ซึ่งไม่สามารถนำเข้าผลไม้จากพื้นที่ต้องห้ามตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพืชได้
  • ในการนำเข้าอาหารหรือสารเติมแต่งอาหาร ผู้นำเข้าจะต้องรายงานต่อกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาตามมาตรา 20 ภายใต้พระราชบัญญัติพิเศษว่าด้วยการควบคุมความปลอดภัยของอาหารนำเข้า
  • ผู้นำเข้าจำเป็นต้องระบุประเทศแหล่งกำเนิดของสินค้านำเข้าบนบรรจุภัณฑ์

 

โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดผลไม้เกาหลี

แนวโน้มและประเด็นที่เกี่ยวข้อง

  • ผลไม้ที่มีความแปลกใหม่
    • ผลไม้ที่มีความหรูหราและแปลกใหม่ อาทิ Shine Muscat, Apple Mango, Sweet Tomato และ Kingsberry กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นอย่างมา
    • นอกจากการบริโภคผลไม้แบบสดแล้ว ยังนิยมนำมาเป็นวัตถุดิบหลักของเมนูขนมหวานต่างๆ  อาทิ น้ำแข็งใสเกาหลีหรือบิงซู และถังหูลู่ที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคเกาหลีอายุ 10-20 ปี

  • ความใส่ใจในโลกและสิ่งแวดล้อม
    • ผลไม้ที่ในอดีตไม่ผ่านมาตรฐานของห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เช่น มีขนาดที่ใหญ่หรือเล็กไป หรือผิวไม่สวย แต่ไม่ได้มีปัญหาด้านแมลงตกค้างหรือสารอาหาร ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น จากแนวคิดใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งขยะ และสภาวะราคาของผลไม้สดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ผลไม้สำหรับครัวเรือนเดี่ยว
    • การบริโภคผลไม้ในกลุ่มครัวเรือนเดี่ยว มักเน้นการเลือกซื้อผลไม้ที่มีปริมาณน้อยกว่าในราคาที่เหมาะสม แทนการเลือกซื้อในรูปแบบกล่องขนาดใหญ่ โดยในไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อจะมีการจำหน่ายผลไม้ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก สำหรับรับประทานครั้งเดียว ในขนาด 1-2 ชิ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากเห็นว่า บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเหล่านี้เพียงพอสำหรับการบริโภคในแต่ละวัน
    • แนวโน้มของ Convenient Premium ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญของการผสมผสานระหว่างความสะดวกสบายและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้ส่งผลให้เกิดบริการตัดแบ่งผลไม้ตามความต้องการของผู้บริโภคเติบโตขึ้น โดยผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

ผลไม้จากไทย

  • ผลไม้สดจากไทย สามารถนำเข้าได้เพียง 6 ชนิด ประกอบด้วย มะม่วง มังคุด ทุเรียน กล้วย มะพร้าว และสัปปะรด โดยมะม่วง มังคุด และทุเรียนจากไทย ถือว่ามีการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคเกาหลีเป็นวงกว้าง ด้วยรสชาติที่ดีและเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพ มีผู้นิยมจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในไทย
  • ในปี 2566 – ปัจจุบัน การนำเข้าของผลไม้จากไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะม่วง เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 การนำเข้ามะม่วงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2 คิดเป็น 78 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีปริมาณเพิ่มถึงร้อยละ 84.2 เป็น 20,714 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดปัญหาการขาดแคลนสินค้า โดย
    • มะม่วงและมังคุด ปรับอัตราภาษีลดลงเหลือร้อยละ 0 จากเดิมร้อยละ 30
    • ทุเรียน ปรับอัตราภาษีลดลงเหลือร้อยละ 5 จากเดิมร้อยละ 45
  • ผลไม้จากไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยมและมีคุณภาพอยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยมในผู้บริโภคเกาหลีจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งผลไม้ไทยสามารถตอบสนองต่อแนวโน้มนี้ได้

 

ความเห็นสำนักงานฯ ตลาดผลไม้เกาหลีในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการภาวะผลผลิตภายในประเทศที่เติบโตเพียงเล็กน้อย สวนทางกับความต้องการในประเทศที่ปริมาณการบริโภคผลไม้ต่อคนเพิ่มขึ้น และมีความต้องการต่อสินค้าพรีเมี่ยมและแปลกใหม่ของผู้บริโภคเกาหลี คู่ขนานกับความต้องการสินค้าที่ราคาย่อมเยา รวมถึงการนำผลไม้มาทำเป็นเมนูขนมหวานที่เป็นกระแสทางออนไลน์ ส่งผลให้ผลไม้นำเข้ามีบทบาทในตลาดนี้เป็นอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับโอกาสของผู้ส่งออกไทยในตลาดผลไม้นี้ ผลไม้สดของไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดเกาหลีใต้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการจำหน่ายผลไม้ไทย อาทิ มะม่วง มังคุด และทุเรียน เป็นหลักอยู่แล้ว ทั้งทางช่องทางออฟไลน์และออน์ไลน์ ซึ่งมะม่วงไทยเป็นมะม่วงนำเข้าอันดับหนึ่งในตลาดเกาหลีใต้และได้รับความนิยมต่อเนื่อง การนำเข้าขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ซึ่งหากนำไปสู่การลดภาษีนำเข้าผลไม้จากไทยสู่เกาหลีใต้ได้ จะทำให้มูลค่าส่งออกผลไม้จากไทยไปเกาหลีใต้ขยายตัวแน่นอน อย่างไรก็ดี การรักษาคุณภาพของสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกไทยควรคำนึงในการส่งออกมายังเกาหลีใต้ และนอกจากการส่งออกผลไม้ชนิดสดแล้ว หากมีการส่งออกผลไม้แปรรูปหรือการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้สด อาทิเช่น ผลไม้แช่แข็งหรือผลไม้ที่ตัดแบ่งพร้อมรับประทานในบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ก็จะยิ่งเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการค้าระหว่างกันต่อไป

 

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

30 กรกฎาคม 2567

 

ที่มาข้อมูล:

  • Agriculture Outlook Korea 2024, 2024.01.25, Korea Rural Economic Institute, www.krei.re.kr
  • FATI(Farm Trend & Issue), 2023.10.31, Korea Agency of Eduation, Promotion and Information Service in Food, Agriculture, Forestry and Fisheries, www.epis.or.kr

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตลาดผลไม้ของเกาหลีใต้

Login