หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา

แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา

เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP26 เรื่อง แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา

 

ในช่วงหลายปีทีผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงเนื่องจากปัจจัยด้านลักษณะการใช้ชีวิตของผู้บริโภคชาวอเมริกันในช่วงภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การอนุญาตให้แรงงานทำงานจากที่บ้าน และแนวโน้มการสร้างครอบครัวของประชากรรุ่นใหม่ ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านเงินสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด รวมถึงนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยในตลาดใกล้เคียงกับศูนย์ในช่วงระหว่างปี 2563 – 2565 ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อในตลาด ซึ่งล้วนแต่มีส่วนกระตุ้นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ขยายตัว

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก ซึ่งส่งผลทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบ จนเกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าในตลาดเป็นวงกว้าง ประกอบกับแนวโน้มค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นถึง ร้อยละ 9.1 ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งสูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank หรือ FED) จำเป็นต้องพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตลาด (FED Fund Rate) เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาว

 

ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ต้นทุนด้านการเงินสำหรับเพื่อซื้อบ้านปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัจจัยด้านจำนวนบ้านในตลาดที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาจำหน่ายบ้านในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปัจจุบัน

 

จากข้อมูลรายงานของบริษัท Zillow ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ระบุว่า มีปริมาณอุปทานบ้านเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 โดยพบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณอุปสงค์ในตลาดกลับยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก จึงทำให้บ้านที่ประกาศขายในตลาดต้องใช้เวลาในการขายมากขึ้น

 

นอกจากนี้ จากข้อมูลบริษัท Redfin ผู้ประกอบการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ในจำนวนบ้านที่ประกาศขายทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2567 ร้อยละ 61.9 ประกาศขายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 วัน ซึ่งราวร้อยละ 40.1 ประกาศขายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาระดับปริมาณอุปทานบ้านในตลาดสหรัฐฯ ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดราวร้อยละ 34 หรือคิดเป็นปริมาณบ้านที่ตลาดยังคงมีความต้องการราว 4.3 ล้านหลัง

 

โดยรวมปัจจัยด้านระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาด เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินค้าซื้อบ้านของผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะระดับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะยาว 30 ปีสหรัฐฯ (30-Year Fixed Rate Mortgage Average) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล่าสุดวันที่ 13 มิถุนายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 6.95 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 22 ปี จึงทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงชะลอที่จะซื้อบ้านในขณะนี้

 

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้พอสมควรที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ได้ในอนาคต โดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความเกี่ยวพันธ์ใกล้ชิดกับแนวโน้มความต้องการนำเข้ากลุ่มสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง ของตกแต่งภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

 

แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ชะลอตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ กลับชะลอตัวลดลงไม่มากนัก โดยในระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2567 สหรัฐฯ มีมูลค่านำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

 

ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากไทยในช่วงเดียวกันยังคงขยายตัวร้อยละ 8.30 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 86.92) รองลงมา ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก (ร้อยละ 6.90) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 4.35) หินและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 0.97) และของใช้เซรามิก (ร้อยละ 0.86) ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ คาดว่าด้วยสถานการณ์ด้านอัตราเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ในระดับร้อยละ 3.3 ซึ่งใกล้จะเข้าสู่ระดับคาดหวังของธนาคารกลางสหรัฐฯ (ประมาณร้อยละ 2.0) จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะพิจารณาดำเนินนโยบายปรับลดระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย จึงควรพิจารณาเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกับแนวโน้มการขยายตัวของตลาดในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงพัฒนาสินค้า ที่เป็นกระแสและเป็นที่สนใจในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบัน เช่น สินค้าจากวัสดุธรรมชาติ สินค้าประหยัดพลังงาน สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม สินค้าเทคโนโลยีทันสมัย และสินค้าที่สามารถรองรับเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะได้ (Smart Home) เป็นต้น

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/CdyXMKRa2W8

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา

Login