หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ๑ ปี ของสถานการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน : UN คาดต้องใช้เวลามากกกว่า ๑๐ ปี ในการฟื้นฟูประเทศ

๑ ปี ของสถานการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน : UN คาดต้องใช้เวลามากกกว่า ๑๐ ปี ในการฟื้นฟูประเทศ

ปัจจุบัน สถานการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๖ ได้ดำเนินมาเป็นเวลา ๑ ปี โดยยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดในอนาคตอันใกล้  สคต. ณ กรุงไคโร ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ [*] และขอเรียนสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

. ความเป็นมา

สถานการณ์ความไม่สงบในซูดานครั้งนี้เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดาน (Sudanese Armed Forces: SAF) นำโดยพลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซูดาน และกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces: RSF) ซึ่งมิได้สังกัดกองทัพซูดาน นำโดยพลเอกโมฮาเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล หรือ “เฮเมดติ” รองประธานาธิบดีและผู้บัญชาการ RSF ซึ่งผู้นำทั้งสองมีแนวคิดในการบริหารประเทศแตกต่างกันสิ้นเชิง โดยเฉพาะการนำซูดานกลับคืนสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือน รวมทั้งการผนวก RSF ซึ่งมีกำลังพลเกือบแสนนายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซูดาน

ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในซูดานเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานเกือบ ๒๐ ปี ตั้งแต่ก่อนการแยกตัวออกจากสาธารณรัฐซูดานใต้ในปี ๒๕๕๔ ซึ่งทำให้ซูดานสูญเสียรายได้จากน้ำมัน (คิดเป็นร้อยละ ๙๕ ของการส่งออกทั้งหมด) เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ และมีการประท้วงรุนแรงหลายครั้ง จนนำไปสู่การถอดถอนนายโอมาร์ ฮัสซัน อาเหม็ อัล บาเชียร์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น ออกจากตำแหน่งในปี ๒๕๖๒ และมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลในปีเดียวกัน ซึ่งต่อมา กองทัพซูดานได้ก่อรัฐประหารในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ทำให้ซูดานตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพจนถึงปัจจุบัน โดยมี ๒ ขั้วอำนาจหลัก คือ นายพลอัล-บูร์ฮาน และพลเอกเฮเมดตี

. สถานะล่าสุด

สถานการณ์ความไม่สงบยังคงดำเนินต่อไปในเมืองสำคัญทั่วทั้งซูดาน และยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดในอนาคตอันใกล้ โดยศูนย์กลางของความรุนแรงยังอยู่ที่กรุงคาร์ทูมเมืองหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกองทัพซูดาน และเมืองดาร์ฟูร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ RSF

. ความเสียหายจนถึงปัจจุบัน

๓.๑ ผู้พลัดถิ่น องค์การสหประชาชาติประเมินว่า มียอดผู้พลัดถิ่นชาวซูดาน รวมประมาณ ๘.๔ ล้านคน แบ่งเป็น (๑) ผู้พลัดถิ่นภายในซูดาน ๖.๖ ล้านคน และ (๒) ผู้ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ๑.๘ ล้านคน ได้แก่ ซูดานใต้ (๖๔๐,๐๐๐ คน) ชาด (๕๗๑,๐๐๐ คน) อียิปต์ (๕๐๐,๐๐๐ คน) เอธิโอเปีย (๕๒,๐๐๐ คน) และแอฟริกากลาง (๒๙,๐๐๐ คน)

๓.๒ ภาวะอดอยากรุนแรง World Food Program ประเมินว่า ปัจจุบัน มีประชากรกว่า ๒๘ ล้านคน เข้าสู่ภาวะอดอยากรุนแรง โดยมีถิ่นที่พักอยู่ในซูดานประมาณ ๑๗.๗ ล้านคน หรือร้อยละ ๓๗ ของประชากรทั้งหมด ซูดานใต้ประมาณ ๗ ล้านคน และชาดประมาณ ๓ ล้านคน

๓.๓ เศรษฐกิจซูดานเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ทำให้ร้อยละ ๗๐ ของเศรษฐกิจซูดานต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของซูดาน คิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของจีดีพี และร้อยละ ๘๐ ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจซูดานถดถอยร้อยละ๑๘. และ Fitch Solutions ประเมินว่า ซูดานสูญเสียจีดีพีไปร้อยละ๑๕๑.   ปัจจุบัน ซูดานประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงหลายมิติ เช่น (๑) การเข้าถึงอาหารและสินค้าจำเป็นลดลง ราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง IMF ประเมินอัตราเงินเฟ้อซูดานที่ร้อยละ ๒๕๖.๑๗ (๒) ค่าเงินปอนด์ซูดานอ่อนค่าลงเกือบร้อยละ -๕๐ (๓) การส่งออกลดลงร้อยละ -๖๐ เนื่องจากการปิดสนามบินและการหยุดงานที่ท่าเรือ (๔) รายได้จากการส่งออกทองคำลดลงร้อยละ -๕๐ โดยซูดานเป็นผู้ส่งออกทองคำรายใหญ่อันดับ ๓ ของแอฟริกา (๕) ธนาคารพาณิชย์ถูกปล้นและทำลาย มากกว่า ๑๐๐ แห่ง ส่งผลต่อสภาพคล่องและความสามารถในการติดตามหนี้ของธนาคารซูดาน และเสี่ยงล้มละลาย  นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศในภาพรวมของซูดานต้องหยุดชะงักลงด้วยเช่นกัน เช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต  ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประเมินว่า ซูดานจะต้องใช้เวลามากกว่า ๑๐ ปี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามที่ผ่านมาเพียง ปี

๓.๔ เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบ คาดการณ์ว่า ประเทศเพื่อนบ้านของซูดานจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะซูดานใต้ ชาด และเอธิโอเปีย นอกจากจะเป็นประเทศที่ประสบปัญหาภายในประเทศ มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และต้องขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศอยู่แล้ว ยังต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ลี้ภัยชาวซูดานและผลกระทบทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในภาพรวม

๓.๕ ซูดานเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีชายแดนติดกับทะเลแดง โดยที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจได้พยายามที่จะเข้าไปมีอิทธิพลในซูดาน เช่น อิหร่าน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะอิหร่านและรัสเซียได้แสดงความต้องการที่จะเข้าไปตั้งฐานทัพเรือในบริเวณชายฝั่งทะเลแดงของซูดาน

 

ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

ในปี ๒๕๖๖ ซูดานเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ ๑๕๐ ของไทยกับโลก การค้ารวมระหว่างไทย-ซูดาน มีมูลค่า ๒๔.๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงร้อยละ -๗๒.๓๙ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๕ (ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามากถึง ๒๑.๘๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการค้าในปี ๒๕๖๗ (มกราคม-กุมภาพันธ์) ปรากฏเฉพาะการส่งออกจากไทยไปซูดาน มีมูลค่า ๑.๐๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง

สคต. ณ กรุงไคโร ประเมินว่า สถานการณ์ความไม่สงบในซูดานได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและซูดานแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับโลกในภาพรวมยังมีจำกัด เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับซูดานคิดเป็นร้อยละ .๐๑ ของการค้าระหว่างไทยกับโลกเท่านั้น

สคต. ณ กรุงไคโร คาดการณ์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในซูดานจะยืดเยื้อต่อไป และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของซูดานและประเทศใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะซูดานใต้ ชาด และเอธิโอเปีย  ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของซูดานหยุดชะงักควรพิจารณาหาตลาดใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อทดแทนตลาดซูดาน รวมถึงตลาดในประเทศเพื่อนบ้านของซูดานที่ได้รับผลกระทบ เช่น ซูดานใต้ ชาด และเอธิโอเปีย

 

——————————————————-

 

[*] รวม ๖ แหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ สำนักข่าวอัลจาซีรา โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) และ Egyptian Center for Thought and Strategic Studies

 

รูปภาพจาก https://www.theguardian.com/global-development/2024/mar/22/what-caused-the-civil-war-in-sudan-and-how-has-it-become-one-of-the-worlds-worst-humanitarian-crises

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ๑ ปี ของสถานการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน : UN คาดต้องใช้เวลามากกกว่า ๑๐ ปี ในการฟื้นฟูประเทศ

Login