ภาคการค้าปลีกของสาธารณรัฐเช็กมีการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสัญญาณครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดของยอดขายที่ตกต่ำในรอบปีครึ่งที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเช็ก เดือนมกราคม 2567 การค้าปลีกมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ได้รับแรงหนุนหลักจากภาคธุรกิจออนไลน์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบแบบเดือนต่อเดือนแล้วจะเห็นได้ว่ายอดขายเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนมากกว่าปีที่ผ่านมา
สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เชื้อเพลิง และอาหารล้วนมีส่วนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดขายอาหารในเดือนมกราคม 2567 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงติดต่อกันกว่า 20 เดือน ทั้งนี้ Jana Gotvaldová หัวหน้าแผนกสถิติการค้า การขนส่ง และบริการของสำนักงานสถิติแห่งชาติเช็ก กล่าวว่ายอดขายออนไลน์มีส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เชื้อเพลิง ร้อยละ 2.3 และอาหาร ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี รวมถึงยอดขายของธุรกิจออนไลน์และธุรกิจสั่งซื้อทางไปรษณีย์เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 13.2
สำหรับสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ของใช้ในห้องน้ำที่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.5 ในส่วนของร้านขายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในทางกลับกัน ยอดขายสินค้าของใช้ในครัวเรือนลดลงมากกว่าร้อยละ 6 ตามมาด้วยสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้า ที่ยอดขายลดลงประมาณร้อยละ 4
Tomáš Volf นักวิเคราะห์ของ Citfin ประเมินว่าการใช้จ่ายของเช็กที่ติดลบอย่างต่อเนื่องมาเกือบสองปี ปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น เห็นได้จากตัวเลขของยอดขายที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสามเดือนติดต่อกัน และสิ่งนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับภาคการค้าปลีก เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะมีสถานการณ์ทางการเงินที่ดีขึ้นในปีนี้
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
จากข้อมูลสถิติตัวเลขทางเศรษฐกิจสาธารณรัฐเช็กคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นเป็นร้อยละ 1.4 ในปี 2567 และร้อยละ 3.0 ในปี 2568 อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงจากร้อยละ 12.2 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2567 สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของการลงทุนและอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจ HORECA ให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดการส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติมในอนาคต จึงเห็นควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จะนำเสนอสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ภาคการค้าปลีกในเช็กยอดขายเพิ่มสูงขึ้น