รายงานภาวะตลาดสินค้าผักในไต้หวัน
ขอบเขตสินค้า HS. 07 ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง
- การบริโภค
ชาวไต้หวันถือเป็นชนชาติที่มีการบริโภคผักในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือความตื่นตัวด้านการรักษาสุขภาพของชาวไต้หวัน อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้รับประทานมังสวิรัติสูงถึง 14% ของจำนวนประชากร ในปี 2022 ปริมาณบริโภคผักรวมของชาวไต้หวันจึงสูงถึง 2.43 ล้านตัน เฉลี่ย 105 ก.ก. ต่อคนต่อปี (ประมาณ 3 เท่าของการบริโภคต่อคนต่อปีของคนไทย) ถือเป็นอาหารที่ชาวไต้หวันบริโภคสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการบริโภคผลไม้ซึ่งอัตราเฉลี่ยต่อคนเท่ากับปีละ 115 ก.ก. ผักที่ชาวไต้หวันนิยมบริโภคมากแบ่งตามประเภท ดังนี้
- ใบ 40% เช่น กะหล่ำปลี ผักกาด ปวยเล้ง ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ฯลฯ
- ดอกและผล 25% เช่น กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ ดอกไม้จีน แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ฟัก ฯลฯ
- ลำต้น 24% เช่น หน่อไม้ ผักกาดเขียว มันฝรั่ง ฯลฯ
- ราก 7.5% เช่น ไช้เท้า แครอท มันเทศ ฯลฯ
- เห็ด 2.1% เช่น เห็ดเข็มทอง เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดหอม เห็ดออรินจิ ฯลฯ
ความนิยมในการบริโภคผักส่งผลให้ผักที่จำหน่ายในท้องตลาดในไต้หวันมีหลากหลายชนิด ผักที่ชาวไต้หวันนิยมบริโภคมากและมีการเพาะปลูกมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ กะหล่ำปลี หน่อไม้ และผักกาดขาว โดยเฉพาะกะหล่ำปลีเป็นอาหารหรือส่วนผสมที่มีความสำคัญในอาหารไต้หวัน และสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายประเภท
- การผลิตและการส่งออก
2.1 การผลิต
ภาวะการผลิตผักสดของไต้หวันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงสาเหตุจากปัญหาแรงงานขาดแคลนและเกษตกรชราภาพ คนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำการเกษตร ในปี 2022 ผลผลิต 2.93 ล้านตัน ลดลง 1.1% เทียบกับปีก่อนหน้า และลดลงถึง 11.57 % เมื่อเทียบกับปี 2018
แผนภูมิ 1 แสดงปริมาณผลผลิตผักสดในไต้หวัน ระหว่าง ปี 2018 – 2022
ที่มา : Agruculture and Food Agency, Taiwan
พื้นที่เพาะปลูกผักที่สำคัญของไต้หวันอยู่ทางภาคกลางและภาคใต้ในแถบเมืองจางฮั่ว หยุนหลิน เจียอี้ ไถหนาน เกาสง เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนจึงสามารถเพาะปลูกผักได้หลากหลายชนิดโดยเฉพาะในแถบภาคใต้ของไต้หวัน โดยผักเศรษฐกิจที่สำคัญมีราว 40 ชนิด ผักที่มีปริมาณผลิตมาก 10 อันดับแรกในปี 2022 คือ
- กะหล่ำปลี 422,481 ตัน
- หน่อไม้ 217,769 ”
- ผักกาดขาว 101,286 ”
- มะเขือเทศ 93,341 ”
- หอม 88,113 ”
- ไช้เท้า 86,035 ”
- แครอท 80,869 ”
- ถั่วแระ 75,887 ”
- กะหล่ำดอก 64,652 ”
- มันฝรั่ง 61,428 ”
นอกจากนี้ยังมีผักอื่นๆ ที่มีผลผลิตมากเกินกว่าปีละ 10,000 ตัน เช่น ผักกาดขาวปลี กระเทียมหัว แตงกวา หอมใหญ่ เผือก ผักบุ้ง มะเขือ มะระ พริกไทย ผักกาดเขียว หน่อไม้น้ำ ขิง กุ้ยช่าย เห็ดเข็มทอง ฟัก ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว ฯลฯ
2.2 การส่งออก
ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาการส่งออกผักของไต้หวันมีแนวโน้มลดลงตามปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2023 ไต้หวันส่งออกผักมูลค่า 99.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 7.88% เทียบกับปีก่อนหน้า และลดลง 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น(66.9%) สหรัฐฯ(16.4%) ฮ่องกง(3.6%) เกาหลีใต้(2.3%) สิงคโปร์(2.3%) ฯลฯ
แผนภูมิ 2 แสดงการส่งออกสินค้าผักของไต้หวัน ระหว่าง ปี 2019 – 2023
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan
ในปี 2023 ไต้หวันส่งออกผักแช่แข็ง มูลค่า 75.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงถึง 76% ของมูลค่าการส่งออกผักทั้งหมด ผักส่งออกที่สำคัญคือ ถั่วแระ (สัดส่วน 95% ของผักแช่แข็งส่งออกทั้งหมด) โดยมีญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก ถั่วแระไต้หวันสามารถครองอันดับหนึ่งในตลาดญี่ปุ่นเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2006 เนื่องจากไต้หวันมีการปรับปรุงพันธุ์ถั่วต่อเนื่องทำให้เมล็ดใหญ่ รสชาติดี อีกทั้งยังมีการใช้เทคนิคการแช่แข็งอย่างรวดเร็วในการส่งออกเพื่อรักษาคุณภาพ นอกจากนี้ไต้หวันยังมีการส่งออกผักแช่แข็งชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ เห็ด หน่อไม้ ปวยเล้ง และผักรวม ฯลฯ
ในขณะที่ผักสดและผักแห้งที่ส่งออกในปี 2023 มีสัดส่วนราว 24% ของผักทั้งหมดที่ส่งออก โดยมีสินค้าสำคัญคือผักกาดหอมสด มูลค่าส่งออก 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดสำคัญคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ สำหรับผักสดอื่นๆ ที่มีการส่งออก เช่น กะหล่ำปลี แครอท มันเทศ เผือก ฯลฯ
- การนำเข้า
3.1 การนำเข้าโดยรวม
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการนำเข้าผักจากต่างประเทศของไต้หวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 2023 ไต้หวันนำเข้าผักมูลค่า 357.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.9% เทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 22.9% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ เวียดนาม (21.45%) จีน(17.95%) สหรัฐฯ(14.42%) ไทย(8.06%) อาเจนติน่าร์(5.41%) ญี่ปุ่น(5.41%) อินโดนีเซีย (4.52%) ออสเตรเลีย(3.88%) นิวซีแลนด์(3.38%) เกาหลีใต้(3.10%) ฯลฯ
แผนภูมิ 3 แสดงการนำเข้าสินค้าผักของไต้หวัน ระหว่าง ปี 2019 – 2023
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan
แม้ไต้หวันสามารถผลิตผักสดได้ปริมาณมาก แต่แนวโน้มการผลิตผักภายในประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้มีความจำเป็นในการนำเข้าผักจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสินค้าที่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ หรือในภาวะที่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น ไต้ฝุ่น หรือฝนตกหนักที่ทำให้ผลผลิตในประเทศขาดแคลน
แผนภูมิ 4 แสดงสัดส่วนการนำเข้าสินค้าผักของไต้หวัน แยกตามประเภท ปี 2023
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan
ในปี 2023 ประเภทสินค้าที่ไต้หวันนำเข้ามากคือผักสด/แช่เย็น เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ หอม และกระเทียม โดยปริมาณนำเข้าผัก 4 ชนิดนี้มีสัดส่วนเกินกว่า 35% ของผักนำเข้าทั้งหมด รายละเอียดการนำเข้าสินค้าอื่นๆ ปรากฏตาม ตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงการนำเข้าผักของไต้หวัน (แยกตามชนิด) ระหว่างปี 2019 – 2023
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan
3.2 การนำเข้าจากไทย
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาไต้หวันมีแนวโน้มนำเข้าผักจากไทยเพิ่มขึ้น ในปี 2023 ไต้หวันนำเข้าผักจากไทย 28.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.1% เทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 56.56% เมื่อเทียบกับปี 2018
แผนภูมิ 5 แสดงการนำเข้าสินค้าผักจากไทยโดยไต้หวัน ระหว่าง ปี 2019 – 2023
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan
แผนภูมิ 5 แสดงสัดส่วนการนำเข้าสินค้าผักจากไทยโดยไต้หวัน แยกตามประเภท ปี 2023
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan
ในปี 2023 ประเภทสินค้าผักที่ไต้หวันนำเข้ามากจากไทยคือผักสด/แช่เย็น เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง ฯลฯสำหรับสินค้าผักแช่แข็งที่นำเข้ามาก เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วลันเตา ฯลฯ ในขณะที่ผักแห้งที่มีการนำเข้าจากไทย เช่น เห็ดหูหนู เม็ดข้าวโพดหวาน ถั่วต่างๆ ฯลฯ รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 2
ตารางที่ 2 แสดงการนำเข้าผักจากไทยโดยไต้หวัน (แยกตามชนิด) ระหว่างปี 2019 – 2023
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan
- ช่องทางการจำหน่าย
70% ของผู้บริโภคในไต้หวันนิยมซื้อผักที่ตลาดสด โดยมีเหตุผลหลักคือความสดของสินค้าและราคาต่ำกว่า ในขณะที่ผู้บริโภคอีก 20% เลือกซื้อผักและผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วยเหตุผลด้านความสะดวก มีหลักประกันด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารผู้บริโภคอีก 10% ซื้อผักผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านเกษตรอินทรีย์ ตลาดนัดสินค้าเกษตร ออนไลน์ช้อปปิ้ง ฯลฯ (ข้อมูลจากเว็บข่าวสารการเกษตร Agriharvest ของไต้หวัน)
ปัจจุบันชาวไต้หวันจำนวนมากให้ความใส่ใจด้านสุขภาพและความปลอดภัยอาหาร ในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตจึงมักมีการจัดมุมจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ PXmart ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดในไต้หวันมีสาขาเกินกว่า 1,000 แห่งทั่วไต้หวัน ตั้งเป้าจะเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีสัดส่วน 50% ของปริมาณผักที่ขายใน PXmart ภายในปี 2026 อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลจาก Agriculture and Food Agency ของไต้หวัน ณ มิถุนายน 2023 สัดส่วนสินค้าเกษตรอินทรีย์ในไต้หวัน มีเพียง 2% ของผลผลิตเกษตรทั้งหมด เฉพาะผักมีสัดส่วนสูงถึง 38% ของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากความนิยมบริโภคผักสด เช่น สลัดทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่ปลอดภัยในการบริโภคสด
- ราคาสินค้า
ราคาผักในไต้หวันในแต่ละช่วงเวลามีความผันผวนขึ้นกับชนิด คุณภาพ และปริมาณผักที่ป้อนเข้าสู่ตลาดตามฤดูกาล ราคาเฉลี่ยผักทุกชนิดของตลาดขายส่งทั่วไต้หวันในปี 2023 เท่ากับ ก.ก. ละ 29.3 เหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้น 3.9% เทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับปี 2019 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มราคาเฉลี่ยของผักในไต้หวันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตรวมของผักที่ลดลง
ราคาขายส่งเฉลี่ยต่อ ก.ก. ของผักบางชนิดที่มีปริมาณผลิตมาก ณ ตลาดขายส่งในปี 2023 เช่น กะหล่ำปลี 15.7 เหรียญไต้หวัน (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน = 1.15 บาทโดยประมาณ) หน่อไม้ 50.8 เหรียญไต้หวัน ผักกาดขาว 13.7 เหรียญไต้หวัน มะเขือเทศ 46.9 เหรียญไต้หวัน ต้นหอม 53.7 เหรียญไต้หวัน
แผนภูมิ 6 ราคาขายส่งเฉลี่ย ณ ตลาดขายส่งผักผลไม้ในไต้หวัน ปี 2019 – 2023
ที่มา : Agriculture and Food Agency, Taiwan https://amis.afa.gov.tw/main/Main.aspx
หมายเหตุ 1. ราคาผักเก็บสถิติจากตลาดขายส่งในเมืองต่างๆ ทั่วไต้หวัน 54 แห่ง
ราคาขายส่งเฉลี่ยของผักนำเข้าบางชนิดซึ่งจำหน่ายผ่านตลาดขายส่งในเมืองต่างๆ ทั่วไต้หวันมีความผันผวนค่อนข้างมากขึ้นกับรูปลักษณ์และสายพันธุ์ผัก ดังเช่น กะหล่ำดอกเคยมีราคาเฉลี่ยต่ำถึง ก.ก. ละ 31.0 เหรียญไต้หวันในปี 2019 แต่พุ่งสูงถึง 82.7 เหรียญไต้หวันในปี 2022 ภาวะราคาเฉลี่ยสินค้านำเข้าอื่นๆ ปรากฏตามตารางที่ 3
ตาราง 3 ราคาขายส่งเฉลี่ยของผักสดนำเข้า ณ ตลาดขายส่งในไต้หวัน ระหว่าง 2019 – 2023
ที่มา : Agriculture and Food Agency, Taiwan
หมายเหตุ 1. ราคาผักเก็บสถิติจากตลาดขายส่งในเมืองต่างๆ ทั่วไต้หวัน 54 แห่ง
ในส่วนของราคาขายปลีกของซูเปอร์มาร์เก็ตในไต้หวัน ในเดือน มีนาคม 2024 ปรากฏดังนี้
6. สินค้าไทย
สินค้าผักของไทยได้รับความนิยมในตลาดไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผักของไทยหลายชนิดมีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ อีกทั้งมีการนำเข้าผักสำหรับปรุงอาหารไทยซึ่งไม่มีการปลูกหรือมีปลูกน้อยในไต้หวัน ผักแต่ละประเภทที่นำเข้าจากไทย มีช่องทางจำหน่ายที่แตกต่างกันกล่าวคือ
1) ผักที่ชาวไต้หวันรับประทานทั่วไป เช่น บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดอ่อน ผักกาดหอม ต้นหอม ฯลฯ ผู้นำเข้าจะจำหน่ายให้แก่พ่อค้าส่ง เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังร้านค้าปลีกหรือแผงขายผัก รวมถึงโมเดิร์นในไต้หวันด้วย เช่น PX Mart, Mia C’bon, Carrefour, a.mart ฯลฯ
2) ผักสำหรับปรุงอาหารไทย เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด กะเพรา มะเขือ ผักชีฝรั่ง สะเดา สะตอ ชะอม ใบย่านาง ฯลฯ ผู้นำเข้าจะจำหน่ายให้แก่ร้านค้าสินค้าอาเซียนเพื่อการจำหน่ายปลีก และจำหน่ายตรงให้กับร้านอาหารไทยด้วย
ผักสำหรับปรุงอาหารไทยที่จำหน่ายในร้านสินค้าอาเซียนส่วนใหญ่จะบรรจุถุงละ 50 – 200 กรัมแล้วแต่ชนิด ขายในราคาถุงละ 30 – 50 เหรียญไต้หวัน คิดเป็น ก.ก. ละ 200 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 230 บาท) ขึ้นไป เทียบกับผักทั่วไปในไต้หวันราคาสูงกว่าเกินเท่าตัว จึงเป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรมีการปลูกผักสำหรับปรุงอาหารไทยในไต้หวันโดยเฉพาะผักที่มีปริมาณบริโภคสูง เช่น ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะเขือเปราะ ฯลฯ นอกจากนี้ผักนำเข้าจากไทย เช่น บร็อคโคลี่ ใบมะกรูดแห้ง ฯลฯ เคยถูกตรวจพบสารตกค้างไม่สอดคล้องระเบียบไต้หวัน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ส่งออกเพราะสินค้าจะถูกทำลายสินค้าหรือส่งกลับต้นทาง ทำให้มีการปลูกผักไทยในไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ
- กฎระเบียบการนำเข้า
ทางการไต้หวันกำหนดระเบียบด้านสุขอนามัยการนำเข้าผักที่มีความเข้มงวดสูง เพื่อเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยของประชาชนและการกักกันโรคพืชและสัตว์ ระเบียบที่สำคัญปรากฎดังนี้
7.1 สำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ของไต้หวัน (Animal and Plant Health Inspection Agency) กำหนดห้ามนำเข้าส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดินในรูปของสด/แช่เย็น เช่น ขิง ข่า กระชาย ฯลฯ แต่ถ้าเป็นของแห้งสามารถนำเข้าได้ ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ www.aphia.gov.tw
7.2 การนำเข้าสินค้าเกษตรจะต้องผ่านการตรวจสอบที่ด่านนำเข้าโดยห้ามเปื้อนดิน ห้ามปนเปื้อนสารเคมีที่ห้ามใช้ หากเป็นสารที่อนุญาตให้ใช้ได้ปริมาณที่ตรวจพบจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณตกค้างสูงสุด (MRLs) ที่ FDA ไต้หวันกำหนด
ตามระเบียบของ FDA ไต้หวันกำหนดสุ่มตรวจสินค้านำเข้าระดับปกติ 2 – 10 % ของจำนวนล็อตที่นำเข้า หากสินค้าชนิดหนึ่งของผู้นำเข้าถูกสุ่มตรวจพบว่าไม่สอดคล้องระเบียบครั้งแรก ผู้นำเข้ารายนั้นจะถูกยกระดับเป็นการสุ่มตรวจสินค้าชนิดเดียวกันเป็น 20 – 50 % หากสินค้าชนิดเดียวกันที่นำเข้าไม่สอดคล้องระเบียบอีกเป็นครั้งที่ 2 จะถูกยกระดับเป็นการสุ่มตรวจทุกล็อตที่นำเข้า โอกาสถูกตรวจพบสารตกค้างที่ไม่สอดคล้องระเบียบจึงสูงมากก่อให้เกิดผลเสียหายหรือขาดทุนได้ และหากสินค้านำเข้าจากประเทศใดๆ ไม่สอดคล้องระเบียบของไต้หวัน 6 ครั้งขึ้นไปในรอบ 6 เดือน หากประเทศผู้ส่งออกไม่ให้ความร่วมมือเพื่อดำเนินการแก้ไข FDA ของไต้หวันมีอำนาจในการระงับการนำเข้าสินค้าที่มีปัญหาจากประเทศนั้นได้ด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ www.fda.gov.tw
7.3 ไทยยังไม่มีความตกลงยอมรับระบบเกษตรอินทรีย์ทัดเทียมกับไต้หวัน ดังนั้น ในการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากไทยจึงไม่สามารถติดฉลากออร์แกนิคหรือโฆษณาว่าเป็นสินค้าออร์แกนิคได้โดยตรง ในชั้นนี้การนำเข้าสินค้าออร์แกนิคจากไทยจะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานรับรอง (Certified Body) ที่ได้รับแต่งตั้งของไต้หวันก่อน จึงจะสามารถติดฉลากหรือโฆษณว่าเป็นสินค้าออร์แกนิคได้ ปัจจุบันหน่วยงานเกษตรอินทรีย์ไต้หวันที่มีคุณสมบัติไปรับรองในต่างประเทศมีจำนวน 3 ราย ได้แก่ Tse-Xin Organic Certification Corporation, Eco-Garden Certification Co., Ltd, Taiwan Formosa Organic Association ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ https://epv.afa.gov.tw/
7.4 กรมศุลกากรไต้หวันกำหนดอัตราภาษีนำเข้าผักส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 20 – 25 % บางรายการมีอัตราภาษีต่ำเช่น หน่อไม้ฝรั่ง 5%, มะเขือเทศ 10%, ขึ้นฉ่าย ถั่วลันเตา และมันฝรั่ง 15% สำหรับอัตราภาษีค่อนข้างสูง เช่น เห็ดฟาง และเห็ดอื่น ๆ 30% ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ https://portal.sw.nat.gov.tw/PPL//eng
7.5 สินค้าผักที่มีการกำหนดโควตาตามข้อผูกพันการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของไต้หวัน กำหนดชนิดและปริมาณนำเข้าต่อปีคือ ถั่วแดง 2,500 ตัน กระเทียม 3,520 ตัน เห็ดหอมแห้ง 288 ตัน และ ดอกไม้จีน 111 ตัน ผู้ที่ประสงค์จะนำเข้าต้องขอยื่นจัดสรรโควตาต่อ Bank of Taiwan ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ www.bot.com.tw (Tariff Rate Quota)
- สรุป
ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าผักอันดับ 4 ของไต้หวันด้วยมูลค่าเกือบ 29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 สินค้าที่ไต้หวันนำเข้าจากไทยมากแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สินค้าที่ไต้หวันมีการผลิตไม่พอกับการบริโภค เช่น ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดหอม ฯลฯ และสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อป้อนให้กับร้านค้าอาเซียนและร้านอาหารในไต้หวัน ในการขยายตลาดเข้าสู่ไต้หวันผู้ประกอบการไทยควรจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้า และเลือกผู้นำเข้าที่มีช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสมกับสินค้า ความท้าทายในการส่งออกผักมายังไต้หวันคือกฎระเบียบด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด โดยเฉพาะการป้องกันแมลงศัตรูพืชและสารตกค้าง ผู้ส่งออกไทยจึงควรให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว เพื่อรักษาภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยทางอาหารของสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากขึ้นในตลาดที่ผู้บริโภคมีความตระหนักด้านการรักษาสุขภาพสูง
แนวโน้มความต้องการบริโภคผักสดออร์แกนิคมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การนำเข้าจากไทยยังมีอุปสรรค เนื่องจากไทยยังไม่มีความตกลงยอมรับเกษตรอิทรีย์ทัดเทียมกับไต้หวัน ดังนั้นในการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากไทยจึงไม่สามารถติดฉลากหรือโฆษณาว่าเป็นสินค้าออร์กานิคได้โดยตรง ในชั้นนี้การนำเข้าสินค้าออร์กานิคจากไทยจะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานรับรอง (Certified Body) ของไต้หวันก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ผู้ประกอบการไทยอาจขยายตลาดด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า โดยมีงานที่สำคัญคือ
– Taipei International Food Fair จัดในกรุงไทเป ช่วงมิถุนายน เป็นงานแสดงสินค้าอาหารใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เน้นการเจรจาธุรกิจ (B2B) ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.foodtaipei.com.tw
– Kaohsiung Food Show จัดที่เมืองเกาสุง (Kaohsiung) ทางภาคใต้ของไต้หวันในช่วงเดือนตุลาคม เป็นงานเจรจาธุรกิจ (B2B) และค้าปลีก (B2C) จัดงาน 4 วัน ข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.foodkh.com.tw/en/index.html
ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะขยายตลาดไปยังไต้หวันสามารถค้นหารายชื่อผู้นำเข้าได้จากแหล่งดังนี้
Taiwan External Trade and Development Council https://www.taiwantrade.com/home.html
Bureau of Foreign Trade, Taiwan https://fbfh.trade.gov.tw/fb/web/queryBasicf.do
Importers and Exporters Association of Taipei https://www.ieatpe.org.tw/en/member.aspx
Taichung Importers & Exporters Chamber of Commerce
http://www.ieat.org.tw/desktopdefault.aspx?portalid=0&panelid=24&tabindex=0&tabid=0
Taiwan Yellow Pages http://www.taiwan-yellowpages.com.tw/
———————————————
รายงานโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
โทรศัพท์ 886-2-2723 1800 โทรสาร 886-2-2723 1821
อีเมล์ : thaicom.taipei@msa.hinet.net
มีนาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รายงานภาวะตลาดสินค้าผักในไต้หวัน