กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและ CropLife Asia สหรัฐอเมริกา จัดการประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน
ในการเปิดงาน นาย Phung Duc Tien รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทระบุว่า เวียดนามจะกลายเป็นผู้ผลิตและซัพพลายเออร์สำหรับอาหารที่มีความยั่งยืนในอนาคต
เวียดนามกำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนระบบอาหารของตนสู่รูปแบบ ‘สีเขียว’ ที่มีการปล่อยก๊าซต่ำและยั่งยืน ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในการผลิตทางการเกษตร ขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และอำนวยความสะดวกในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ในห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตร
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และสัตว์น้ำ 38,480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการเพาะปลูกมีมูลค่า 19,540 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 50.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบทมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศและความมั่นคงด้านอาหารของชาติ
ในช่วงปี 2563 – 2566 นักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนามได้ประดิษฐ์พันธุ์พืชได้ 148 พันธุ์ และความก้าวหน้าทางเทคนิค 36 รายการที่ได้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทยอมรับ ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยมากกว่าร้อยละ 35 ต่อความสำเร็จของการผลิตทางการเกษตรในเวียดนาม
เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนของระบบอาหารโลก การปรับพันธุ์พืช วัตถุดิบ และเทคโนโลยีใหม่ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและเครื่องมือการเกษตรที่มีความแม่นยำขั้นสูง รวมถึงระบบระบุอัตโนมัติ (Automatic Identification Systems: AIS) ซึ่งเป็นข้อมูลติดตามการเดินเรือแบบเรียลไทม์ และการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นด้วยคุณภาพผลิตภัณฑ์และปริมาณสารอาหารที่ดีขึ้น
ในอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคาดว่าจะมีส่วนช่วยมากกว่าร้อยละ 50 ของการเติบโตของภาคเกษตรกรรมทั้งหมด โดยจำเป็นต้องมีทรัพยากรที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลงทุนในภาคเทคโนโลยีต่างๆ โดยเน้นไปที่เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นพิเศษ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและการนำแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรแบบดิจิทัลใช้ถือเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ จำเป็นต้องสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และปรับปรุงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในระหว่างการประชุม ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศได้หารือเกี่ยวกับความท้าทายในการวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีต่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน และระบุลำดับความสำคัญและทิศทางสำหรับการวิจัยและการประยุกต์ใช้ในเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ จึงเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อส่งเสริมการวิจัย ถ่ายทอด และกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประยุกต์ และนวัตกรรม
ในการประชุม กรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมภายใต้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทและ CropLife Asia ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือในการส่งเสริมการวิจัย การพัฒนา และการประยุกต์ใช้โซลูชันและเทคโนโลยีขั้นสูงในช่วงปี 2566-2573
ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับกิจกรรมการสื่อสาร แบ่งปันข้อมูล และให้คำปรึกษาด้านนโยบาย จัดการฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อช่วยให้เกษตรกรประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ในการเกษตร โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนในเวียดนาม
(จาก https://vietnamnews.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียวกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ในเป้าหมายการพัฒนาของเวียดนาม ภาครัฐมองหาแนวทางในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนโยบายในการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GreenGrowth เป็นอีกหนึ่งในกระแสสำคัญของโลกที่ ได้รับการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีเวียดนามเป็นประเทศที่มีจุดเด่นมากมาย ทั้งการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบยั่งยืน เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตได้ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผู้ประกอบการไทยควรมีการวิจัยเชิงนโยบาย ในอนาคต ในการศึกษาแนวทางมาตรการทางเศรษฐกิจสีเขียวของเวียดนาม เพื่อพัฒนามากยิ่งขึ้น
อ่านข่าวฉบับเต็ม : การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ในห่วงโซ่ทางการเกษตรของเวียดนาม
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ