เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการการเคหะแห่ง ชาติ (The Housing Development Board: HDB) แถลงการณ์ว่า HDB ได้มอบหมายให้บริษัท Sunseap Leasing รับผิดชอบดูแลแผนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคาร HDB จำนวน 1,075 บล็อก และสถานที่ราชการ 101 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่สามของปี 2569 ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ 130 เมกะวัตต์ (MWp) สูงขึ้น 15% จากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 113 MWp และจะสามารถรองรับอาคาร HDB ขนาดสี่ห้องได้มากกว่า 30,000 ห้อง
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ SolarNova ของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งรวบรวมความต้องการพลังงานจากแสงอาทิตย์จากหน่วยงานต่าง ๆ และดูแลโดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ(Economic Development Board : EDB) ร่วมกันกับ HDB
HDB กล่าวว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะเริ่มได้ในไตรมาสที่สองของปี 2567 จนถึงขณะนี้ แผงโซลาร์เซลล์ได้รับการติดตั้งที่อาคาร HDB ประมาณ 3,900 บล็อก จากแผนกำหนดติดตั้ง ทั้งหมดประมาณ 9,500 บล็อก พลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์จะนำไปใช้จ่ายให้กับบริการที่ใช้ไฟฟ้าทั่วไป เช่น ลิฟต์ ไฟ และปั๊มน้ำในเวลากลางวัน จากนั้น พลังงานจากแสงอาทิตย์ส่วนเกินจะถูกส่งไปยังโครงข่ายไฟฟ้า โดยเฉลี่ยแล้วอาคาร HDB ที่มีแผงโซลาร์เซลล์จะสามารถบรรลุการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับในส่วนของสถานที่ราชการ 101 แห่ง จะประกอบไปด้วย โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 55 แห่ง สถาบันการบินสิงคโปร์ และสำนักงานใหญ่กระทรวงการต่างประเทศ
นอกจากนี้ HDB ยังมีแผนที่จะปรับปรุงลิฟต์ 4,000 ตัว ทั่วเกาะ ด้วยการนำระบบที่นำพลังงานที่เกิดขึ้นจากการที่ลิฟต์เคลื่อนที่และหยุดกลับมาใช้ใหม่ในการใช้ไฟด้านอื่นๆ เช่น ไฟส่องสว่าง การระบายอากาศ และแผงแสดงผลภายในลิฟต์ ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานลิฟต์ได้โดยเฉลี่ย 20% การติดตั้งเพิ่มเติมคาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาสที่สองของปี 2567 และจะแล้วเสร็จภายในปี 2573
รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะสร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้ได้อย่างน้อย 2 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ภายใต้แผนสีเขียวระดับชาติ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้ประมาณ 3% ของความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่คาดการณ์ไว้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฯ ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่จำกัดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การวางแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารขนส่งสินค้า และอาคารผู้โดยสารสนามบิน Changi และฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ บนอ่างเก็บน้ำ Tengah ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 45 สนาม เป็นต้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงสิงคโปร์ ต่างเร่งผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ ทำให้ในปัจจุบันการติดตั้งแผงระบบการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างมาก นโยบาย Singapore Green Plan 2030 นับเป็นวาระแห่งชาติสำหรับการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน ภายใต้ The UN’s 2030 Sustainable Development Agenda และ The Paris Agreement ซึ่งเป้าหมายสำคัญของแผนฉบับนี้ รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การลดการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก และการลดการใช้พลังงาน ให้ได้15% ภายในปี 2573
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์และส่วนประกอบ รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดของไทยที่มีศักยภาพ สามารถพิจารณาตลาดสิงคโปร์เป็นหนึ่งในช่องทางการขยายตลาด อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยควรต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ/มาตรฐานการผลิต เพื่อควบคุมประสิทธิภาพและความปลอดภัยด้านการใช้งานในการส่งออกมายังสิงคโปร์ เพื่อก่อให้เกิดโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สิงคโปร์เดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั่วเกาะ
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ