หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > พฤติกรรมผู้บริโภคโปแลนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค AI

พฤติกรรมผู้บริโภคโปแลนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค AI

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่โปแลนด์นำมาใช้เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคือการผลักดันประเทศเข้าสู่ Digital Transformation โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโปแลนด์ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การปฏิรูประบบการศึกษาและระบบราชการ รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภคโปแลนด์ได้มีโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยี AI เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้นและประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค AI จะเอื้อประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจทิศทางของตลาดและแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในโปแลนด์เป็นอย่างดี

 

1. การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนโปแลนด์

 

โปแลนด์เป็นประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรปที่มีความสามารถในการเข้าถึง IT เป็นอันดับต้นๆ จากข้อมูลของ Statistics Poland ระบุว่า ในปี 2566 มีครัวเรือนโปแลนด์ที่เข้าถึง Internet อยู่ที่ร้อยละ 93.3 ของครัวเรือนทั่วประเทศ โดยประชาชนชาวโปแลนด์ที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวันมีช่วงอายุระหว่าง 16-74 ปี โดยกลุ่มที่มีความถี่ในการใช้งานมากที่สุดได้แก่ช่วงอายุ 16-54 ปี รองมาได้แก่กลุ่มประชาชนในช่วงอายุ 55-64 ปี และประชาชนในช่วงอายุ 65-74 ปี ตามลำดับ

 

แผนภูมิแสดงการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนชาวโปแลนด์ในปี 2566

การใช้งานอินเตอร์เน็ตของครัวเรือนโปแลนด์นิยมใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ รองมาได้แก่ โทรศัพท์มือถือและ Tablet ขณะที่การใช้งานอุปกรณ์ IoTs อื่นๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อาทิ Smartwatch และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น Smart TV และตู้เย็น เป็นต้น

 

2. พฤติกรรมผู้บริโภคโปแลนด์ในยุค AI

 

พฤติกรรมผู้บริโภคโปแลนด์ในยุค AI ถือได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สะดวกรวดเร็ว รวมไปถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น การระบาดของ COVID-19 และภาวะสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคโปแลนด์ในยุค AI ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

 

• การใช้งานอินเตอร์เน็ตของครัวเรือนโปแลนด์ร้อยละ 69.3 เป็นการใช้งานเพื่อรับข่าวสาร รองมาได้แก่ การติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมการเงิน การซื้อสินค้าออนไลน์ และการบริการของหน่วยงานราชการ
• ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในช่วงอายุระหว่าง 16-74 ปี มีการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ที่ร้อยละ 64.3
โดยผู้บริโภคในช่วงวัยรุ่นและวัยเริ่มต้นทำงาน จะนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ประเภทเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและรองเท้า รองมาได้แก่ เกมส์ หนังสือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่กลุ่มวัยทำงาน จะนิยมซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ภายในบ้าน ของเล่นเด็ก รวมถึงบริการเพื่อสุขภาพ ผ่านระบบออนไลน์ และกลุ่มผู้สูงอายุนิยมซื้อเวชภัณฑ์ยา สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และอาหารสัตว์ ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น
• การใช้งาน AI ในโปแลนด์แตกต่างกันไปตามช่วงวัยของผู้บริโภค โดยกลุ่มที่อายุ 16-44 ปี ถือเป็นกลุ่มผู้ใช้งาน AI ในชีวิตประจำวันมากที่สุด โดยจะทำการเปรียบเทียบราคาสินค้าจากเว็บไซต์หลายแห่งเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุดก่อนตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ ซึ่งทำให้เทคโนโลยี AI ที่มีความสามารถช่วยในการเปรียบเทียบสินค้าและราคา ที่เชื่อมโยงร้านค้าจากแหล่งต่างๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ AI ช่วยหาข้อมูลประกอบการเรียน การทำงาน ตลอดจนวางแผนการเดินทาง อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้สูงอายุยังมีการใช้งาน AI เพียงส่วนน้อยโดยเป็นการใช้งานเพื่อดูแลสุขภาพ นัดพบและนัดปรึกษาแพทย์ เป็นต้น
• AI ยังมีส่วนในการจัดการค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เช่น การวางแผนการออมเงิน การลงทุน การทำบัญชีรายรับรายจ่าย บันทึกช่วยจำและการตรวจสอบการชำระเงิน เมื่อผนวกกับการชำระเงินระบบ Cashless
ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคโปแลนด์สะดวกรวดเร็วขึ้น จากข้อมูลของ Polish Press Agency ระบุว่า ในปี 2566 ผู้บริโภคโปแลนด์กว่าร้อยละ 38 ชำระเงินระบบ Cashless และกว่าร้อยละ 80 ของผู้บริโภคที่มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสูงกว่า ยอมที่จะไม่ใช้เงินสดในการชำระเงินอีกต่อไป
• รูปแบบการชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ บัตรเครดิต โทรศัพท์ และ Smartwatch รวมถึงอุปกรณ์ IoT อื่นๆ ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ตามลำดับ สินค้าที่ผู้บริโภคโปแลนด์นิยมชำระผ่านระบบ Cashless ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อความบันเทิงและสันทนาการ เช่น เกม หนังสือ ของเล่นเด็ก และข้าวของเครื่องใช้ที่มีราคาไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ดี ในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัญชีธนาคารยังคงดำเนินการตามปกติและนิยมใช้สำหรับสินค้าและบริการที่มีราคาสูง
• ระบบ Cashless ซึ่งใช้งานอย่างแพร่หลายในโปแลนด์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ร้านค้าและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวรวมถึงผู้สูงอายุชาวโปแลนด์ที่ยังไม่ได้ใช้บริการระบบ Cashless อาจพบว่าร้านค้าและตลาดท้องถิ่นไม่มีเหรียญและธนบัตรสำหรับการทอนเงินให้กับลูกค้า

 

3. ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในยุค AI ของโปแลนด์

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนการให้บริการและรูปแบบสินค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายของสินค้าและบริการนั้น โดยภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในยุค AI ของโปแลนด์ ได้แก่

• Solution & Consulting เป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยกว่าร้อยละ 45 ของผู้ประกอบการด้าน AI ของโปแลนด์นิยมดำเนินธุรกิจดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการในรูปแบบ B2B โดยบริการหลักๆ ได้แก่ การใช้ AI ในการบริหารจัดการธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ การสื่อสารทางธุรกิจ การให้บริการคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น
• R&D ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนจากต่างประเทศในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ IT ในโปแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ เช่น IBM, P&G, Google, Nvidia, TCL, Samsung, Microsoft และ Intel ซึ่งใช้โปแลนด์เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์และสินค้าของบริษัท
• eCommerce ธุรกิจการค้าออนไลน์ของโปแลนด์ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคโปแลนด์กว่าร้อยละ 60 นิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในโปแลนด์กว่าร้อยละ 70 จัดให้มีบริการการค้าออนไลน์
• Customer Care เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานบริการลูกค้าอย่างแพร่หลายทั้งในภาคค้าปลีก การเงินการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย โดยส่วนใหญ่ให้บริการในรูปแบบ B2B อาทิ การนำ AI มาช่วยในการตอบข้อสงสัยของลูกค้า การจัดลำดับความสำคัญในการให้บริการแก่ลูกค้า การคำนวณและวิเคราะห์สถานะทางการเงินเพื่อปล่อยเงินกู้ในธนาคาร และการวิเคราะห์ความต้องการเพื่อจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์สินค้า เป็นต้น
• Healthcare เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากความใส่ใจในเรื่องสุขภาพของชาวโปแลนด์ในปัจจุบัน รวมทั้งปัจจัยเกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การระบาดของเชื้อไวรัส และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับเทคโนโลยี AI ที่นำมาใช้ในธุรกิจดังกล่าว เช่น การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ การวางแผนการออกกำลังกาย การตรวจสอบและติดตามผลการรักษา การจัดตารางและการนัดพบแพทย์ การตรวจสอบประกันสุขภาพ เป็นต้น
• Media & Game เป็นหนึ่งในธุรกิจ IT ที่มีศักยภาพของโปแลนด์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกมที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดประมาณ 1,286 ล้านยูโร (ประมาณ 49,900 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 จากปี 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเกมไปยังตลาดในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อดิจิตัลอื่นๆ เช่น เพลง วิดีโอและภาพยนตร์ มีการขยายตัวไม่มากนัก และส่วนใหญ่มีรูปแบบการให้บริการแบบสมาชิกเป็นหลัก ซึ่งเป็นจุดที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค เช่น การจัดเก็บฐานข้อมูล การวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า การวางแผนการตลาด เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการ AI ของโปแลนด์ที่มีศักยภาพในภาคธุรกิจต่างๆ

 

ความเห็น/ข้อสังเกต

1. ภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี และ IT ของโปแลนด์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของ GDP และมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อาทิ เช่น Microsoft, Google, Meta, Intel, Samsung, Huawei และ Amazon เป็นต้น มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกว่า 5,000 ราย มีการจ้างงานในสาขาดังกล่าวมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง เฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจ AI มีประมาณ 300 ราย

2. โปแลนด์มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้าน IT ในมหาวิทยาลัยประมาณ 80 หลักสูตร และมีผู้สำเร็จการศึกษาในภาค IT ในโปแลนด์ประมาณ 15,000 คนต่อปี นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนาด้าน AI ประมาณ 50 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งมีนักวิชาการประมาณ 650 คน และนักวิจัยกว่า 1,500 คน

3. รัฐบาลโปแลนด์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีการสนับสนุนมาตรการทางด้านภาษีในระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการ อาทิ การลดหย่อนภาษี การนำค่าใช้จ่ายในการวิจัยมาลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจ Startup ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยเช่นกัน

4. พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยี AI ในระยะเวลาอันใกล้จะส่งผลต่อรูปแบบการให้บริการสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการสร้างกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการรายย่อยในการเข้าสู่ตลาด โดยจะสามารถสร้างฐานลูกค้าและคาดการณ์ความต้องการในอนาคตในอย่างแม่นยำ รวมทั้งสามารถบรรเทาปัญหาการแบกภาระต้นทุนการผลิตและการคลังสินค้าในระยะยาว

5. ผู้ประกอบการเทคโนโลยี AI ของไทยที่สนใจขยายตลาดในโปแลนด์และกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก อาจพิจารณาการขยายความร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาของโปแลนด์เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน รวมถึงการศึกษาดูงานและการแลกเปลี่ยนบุคลากร เพื่อศึกษาตลาดและมองหาแนวทางในการนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคโปแลนด์ในอนาคต

 


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงวอร์ซอ
มีนาคม 2567

 

ที่มา:
1. Digital Poland
2. Statistics Poland
3. Polish Press Agency

อ่านข่าวฉบับเต็ม : พฤติกรรมผู้บริโภคโปแลนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค AI

Login