หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > Toys “R” Us วางแผนการกลับมาบุกตลาดสหรัฐฯ – สคต. ชิคาโก

Toys “R” Us วางแผนการกลับมาบุกตลาดสหรัฐฯ – สคต. ชิคาโก

“สินค้ากลุ่มของเล่นเสริมทักษะการเรียนรู้ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ปกครองและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ”

Toys “R” Us ผู้ค้าปลีกสินค้าของเล่นรายใหญ่เป็นที่รู้จักของเด็กและผู้ปกครองทั่วโลกเปิดดำเนินกิจการมานานกว่า 75 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491) วางแผนที่จะกลับมาบุกตลาดในสหรัฐอเมริกาอีกครั้งภายใต้การบริหารกิจการของบริษัท WHP Global (บริษัทแม่) ที่ได้เข้าซื้อกิจการต่อจากบริษัท Tru Kids ซึ่งประสบปัญหาทางธุรกิจจนต้องประกาศล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2560 โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะขยายกิจการเพิ่มจำนวนสาขาร้าน Toys “R” Us ในสหรัฐฯ ให้ได้อย่างน้อย 24 แห่ง และขยายห้างค้าปลีกไปตามแหล่งค้าปลีกที่มีศักยภาพทั้งสนามบินและเรือสำราญ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเทศกาลปลายปีนี้เป็นต้นไป

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาบริษัท WHP Global ได้ประกาศกลยุทธ์ขยายกิจการซึ่งเรียกว่า “Air, Land and Sea” เพื่อบุกตลาดจำหน่ายปลีกสินค้าของเล่นทั้งทางบกทางเรือและทางอากาศ ซึ่งเป็นแผนการร่วมกิจการกับบริษัท Go! Retail Group ซึ่งบริษัทฯ วางแผนที่จะเปิดร้านค้าปลีกตามเมืองที่มีศักยภาพสำคัญ (Prime Cities) ในสหรัฐฯ ให้ได้อย่างน้อย 24 สาขาภายในต้นปีหน้า

โดยคาดว่า บริษัทฯ จะสามารถเปิดร้านค้าปลีก Toys “R” Us แห่งแรกที่สนามบินนานาชาติ Dallas/Fort Worth เมือง Dallas รัฐเทกซัส ซึ่งเป็นสนามบินที่มีความพลุกพล่านมากที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลกได้ภายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

Mr. Yehuda Shmidman ตำแหน่ง ประธานและประธานกรรมการบริหาร บริษัท WHP Global กล่าวว่า แผนการขยายตลาดทั้งทางบกทางเรือและทางอากาศแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ Toys “R” US กำลังอยู่ในช่วงขยายตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยฟื้นฟูกิจการให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนเมื่อครั้งก่อนที่จะประสบปัญหาทางธุรกิจซึ่งกิจการมีจำนวนสาขาหลายแห่งกระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐฯ

ข้อมูลจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (U.S. Securities and Exchange Commission หรือ SEC) พบว่า ก่อนหน้าที่บริษัท Toys “R” Us จะยื่นขอล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการขายกิจการ (Liquidation) เนื่องจากไม่สามารถบรรลุแผนฟื้นฟูได้ในปี พ.ศ. 2560 นั้น บริษัทฯ มีร้านค้าปลีกสินค้าของเล่นที่เป็นเจ้าของเองทั้งสิ้น 1,691 แห่ง และร้านค้าปลีกให้สิทธิ์ (Licensed) ทั้งสิ้น 257 แห่ง ครอบคลุม 38 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่บริษัท WHP Global เข้าบริหารกิจการต่อจากบริษัทแม่เดิมในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายสาขาในลักษณะคล้ายกันมาแล้วหลังจากที่สองสาขาสุดท้ายในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงในช่วงต้นปีเดียวกัน อีกทั้ง บริษัทฯ ยังได้ขยายสาขาภายในห้าง Macy’s เป็นจำนวนกว่า 400 สาขาทั่วสหรัฐฯ

ในภาพรวมนับตั้งแต่เข้าบริหารกิจการบริษัทฯ สามารถขยายกิจการได้มากกว่าร้อยละ 50 มีจำนวนร้านค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 สาขา และมีช่องทางการค้าปลีกออนไลน์ใน 31 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้ให้กิจการเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

โดยหนึ่งในร้าน Toys “R” Us ที่สำคัญในสหรัฐฯ และเป็น Flagship Store ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้า The American Dream Megamall รัฐนิวเจอร์ซี เป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 20,000 ตารางฟุต ภายในร้านนอกจากจะจัดแสดงสินค้าของเล่นแล้วยังจัดพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็ก อาทิ โซนของเล่น โซนไอศกรีมและของกิน เป็นต้น โดยบริษัทฯ จะใช้สาขาดังกล่าวเป็นต้นแบบกิจการในการขยายสาขาในสหรัฐฯ ด้วย

ทั้งนี้ จุดประสงค์สำคัญของแผนการขยายร้าน Toys “R” Us ไปตามสนามบินและเรือสำราญสำคัญเพื่อรองรับกับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ดังจะเห็นได้ว่า ชาวอเมริกันในปัจจุบันเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งภายหลังจากที่สถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในสหรัฐฯ ดีขึ้น จึงถือเป็นตลาดที่น่าจับตามอง อีกทั้ง บริษัทฯ เองยังมีแผนที่จะคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับสถานที่ตั้งของแต่ละสาขาเพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้าอีกด้วย เช่น สินค้าของเล่นที่เกี่ยวข้องกับเรือสำราญสำหรับสาขาในเรือสำราญ เป็นต้น

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในช่วงระหว่างปี 2563 – 2565 อุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าของเล่นในสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 13.65 เนื่องจากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในสหรัฐฯ ที่ส่งผลทำให้ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานที่บ้านทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าของเล่นสำหรับเด็กเพื่อกิจกรรมสันทนาการและส่งเสริมทักษะของเด็กเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อสถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดในตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติชาวอเมริกันสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเด็กนักเรียนกลับไปเรียนที่สถานศึกษาตามปกติทำให้แนวโน้มความต้องการซื้อสินค้าของเล่นในตลาดสหรัฐฯ ชะลอตัวลงไปบ้าง

ทั้งนี้ คาดว่า อุตสาหกรรมสินค้าของเล่นสหรัฐฯ จะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.1 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดในช่วงดังกล่าวกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะการแพร่ระบาดซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ (Change in Demand) อย่างรวดเร็ว ก็ยังถือว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดพอสมควร

นอกจากนี้ ในระยะยาวคาดว่า อุตสาหกรรมสินค้าของเล่นสหรัฐฯ จะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.66 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

ในระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 สหรัฐฯ มีนำเข้าสินค้าของเล่นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 23.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณสินค้าคงคลังที่ยังคงมีอยู่มากพอสมควรจากการเพิ่มปริมาณนำเข้าของผู้นำเข้าในปีที่ผ่านมาอันเนื่องจากปัจจัยด้านปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ประกอบกับแนวโน้มความต้องการซื้อของเล่นลงจากปัจจัยด้านภาวะการแพร่ระบาดที่ดีขึ้นด้วย โดยจีนยังคงเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าของเล่นหลักของสหรัฐฯ (ร้อยละ 73.35) แม้ว่าสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าจีนก็ตาม (สหรัฐฯ ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการดังกล่าวออกไปจากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2566) รองลงมาสหรัฐฯ นำเข้าจาก เวียดนาม (ร้อยละ 6.57) เม็กซิโก (ร้อยละ 3.94) ไต้หวัน (ร้อยละ 3.15) และมาเลเซีย (ร้อยละ 1.74) ตามลำดับ

ส่วนไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในช่วงดังกล่าวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 264.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 8) ลดลงร้อยละ 10.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนตลาดร้อยละ 1.01 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าของเล่นสำหรับการกีฬา เช่น ลูกบอล ลูกกอลฟ์ ลูกบอลเป่าลม กระดานกีฬาทางน้ำ และไม้แบดมินตัน เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าอุตสาหกรรมสินค้าของเล่นสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงในขณะนี้แต่คาดว่า ตลาดน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปีที่กำลังจะมาถึงในปีนี้เนื่องจากสินค้าของเล่นเป็นหนึ่งในของขวัญที่ชาวอเมริกันมักจะเลือกเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับบุตรหลานของตนและคนใกล้ชิดในช่วงดังกล่าว ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเร่งทำตลาดส่งออกในช่วงปลายปีนี้

ผู้ประกอบการไทยควรที่จะศึกษาและพัฒนาสินค้าให้ตรงกับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาดซึ่งปัจจุบันนิยมเลือกซื้อสินค้าของเล่นที่มีความปลอดภัยต่อบุตรหลานผ่านมาตรฐานที่สำคัญ รวมถึงสินค้าของเล่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ (Educational Toys) ให้กับบุตรหลานของตน

แม้ว่าขณะนี้ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทจะอ่อนค่าซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดก็ตาม แต่ปัจจุบันปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยการสู้รบกันในพื้นที่แหล่งผลิตพลังงานหลายแห่งทั่วโลก ดังนั้น การพิจารณาควบคุมคุณภาพสินค้าควบคู่ไปกับต้นทุนการผลิตและขนส่งอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สินค้าของเล่นไทยสามารถรักษาตลาดในสหรัฐฯ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ การแสวงหาโอกาสในการเสนอขายสินค้าให้กับผู้นำเข้ารายสำคัญในตลาดเป้าหมายผ่านการเจรจาการค้าทั้งแบบออฟไลน์ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพในตลาด และแบบออนไลน์ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching) และการใช้แพลตฟอร์มช่องทางการค้าออนไลน์ใหม่ๆ น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในตลาดได้ในอนาคต

“ตัวอย่างสินค้าของเล่นเสริมทักษะการเรียนรู้แบรนด์ Plan Toys ของไทยที่ได้รับความนิยมในตลาด

ที่มา:

สำนักข่าว CNBC

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login