1. ในขณะที่โลกเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม/ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศพัฒนาแล้ว/องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ได้ริเริ่มหลักการ/แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) หรือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ การเจริญเติบโตสีเขียว (Green Growth) อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน หลักการ/แนวคิดทั้งสามยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนและมักถูกกล่าวถึง/ใช้ในความหมายเดียวกันเมื่อมีความเชื่อมโยงกับประเด็นด้านการลงทุน เทคโนโลยี การพัฒนา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างระหว่างหลักการ/แนวคิด“low carbon” และ“green” มีดังนี้
- “low carbon” เป็นหลักการที่เกิดขึ้นจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายรวมถึงกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงวงจรชีวิตในปริมาณที่น้อยกว่ากระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์เดิม หรือน้อยกว่า business as usual (BAU) ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถกำหนดได้ว่า BAU คือปริมาณเท่าใด
- “green” เป็นหลักการที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่หมายรวมถึงกิจกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ไม่จำกัดขอบเขตแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนใหญ่ การกล่าวถึง “low carbon” และ “green” หมายถึงความสะอาด “clean”
ที่ผ่านมา จึงมีเพียงการหารือ/การดำเนินงานในสาขาต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม/ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยายกาศได้ เช่น การส่งเสริมพลังงานสะอาด การขนส่งที่สะอาด อาคารสีเขียว การจัดการน้ำ ของเสีย และที่ดิน เป็นต้น ตัวอย่างการหารือ/การดำเนินงานของหน่วยงาน/ประเทศต่างๆ มีดังนี้
2. หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ เช่น UNEP ได้เสนอหลักการเรื่อง Green Economy Initiative ภายใต้ข้อเสนอแนะ Global Green New Deal (GGND) เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน และได้จัดทำรายงานเรื่อง “Towards a Green Economy, Pathways to Sustainable Development and Poverty Eradication” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของ Green Economy ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเสนอแนะแนวทางปฏิรูปด้านนโยบายและโครงสร้างเพื่อช่วยเสริมสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green Economy แต่มิได้กำหนดคำนิยาม/ขอบเขตของ Green Economy อย่างชัดเจน
3. หน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น เอเปคได้จัดทำยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ซึ่งประกอบด้วยการสร้างความเจริญเติบโต 5 ด้านคือ การเจริญเติบโตอย่างสมดุล (balanced) อย่างเท่าเทียม (inclusive) อย่างยั่งยืน (sustainable/green) อย่างสร้างสรรค์ (innovative growth) และอย่างมั่นคง (secure) โดยในส่วนของความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น เอเปคได้กำหนดให้ส่งเสริมการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ การเปิดเสรีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เช่น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการลดการอุดหนุนพลังงานที่เป็น fossil fuel เป็นต้น ทั้งนี้ ในเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น G-20 และอาเซม ก็ได้เริ่มการหารือในเรื่องนี้เช่นกัน
4. ส่วนประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ก็ได้จัดทำนโยบายเรื่อง “A Roadmap for moving to a competitive low carbon economy in 2050” ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Europe 2020 เพื่อวางนโยบายและกำหนดแนวทางให้สหภาพยุโรปพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitive low carbon economy) และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปปี 2593 โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่
(1) การตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 80-95 (จากระดับของปี 2533) ภายในปี 2593
(2) การใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ
(3) การใช้พลังงานทดแทนและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ
(4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตร
(5) การเพิ่มการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในช่วง 40 ปีข้างหน้า เป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP หรือประมาณ 270 พันล้านยูโรต่อปี
นอกจากนั้น สหภาพยุโรปจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้นโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
อ่านข่าวฉบับเต็ม : Low Carbon Economy/ Green Economy/Green Growth
ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ