หน้าแรก › 5 คำถามเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน สำหรับสินค้านำเข้าจากนอกสหภาพยุโรป

5 คำถามเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน สำหรับสินค้านำเข้าจากนอกสหภาพยุโรป

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่ 2-8 ตุลาคม 2566

นับตั้งแต่วันที่ ตุลาคม 2566 บริษัทผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปโดยรวม (รวมถึงฝรั่งเศส) จะต้องเริ่มสำแดงรายละเอียดปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศสำหรับวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมที่นำเข้าจากประเทศนอกสหภาพยุโรป มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569

นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา สหภาพยุโรปได้เริ่มทดสอบระบบการสำแดงสินค้านำเข้าจากประเทศนอกสหภาพยุโรป ที่เพิ่มเติมรายละเอียดด้านปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ในช่วงการทดสอบจะยังไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้าที่สำแดง แต่สหภาพฯ จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้เพื่อใช้ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นมากเท่าใด

มาตรการนี้ได้ผ่านขั้นตอนการรับรองในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ณ วันที่ 1 มกราคม 2569 แต่แวดวงธุรกิจของสหภาพยุโรปต่างวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้สหภาพยุโรปคาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาษีคาร์บอนรวมทั้งหมด
1.4 หมื่นล้านยูโรต่อปี

ภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าคืออะไร

ภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า เป็นภาษีที่เกิดขึ้นจากกลไกการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของยุโรป (CBAM – Carbon Border Adjustment Mechanism) โดยผู้นำเข้าจะต้องสำแดงปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในกระบวนการผลิตสินค้าที่นำเข้า และชำระภาษีคาร์บอนที่คำนวนจากปริมาณดังกล่าวตามอัตราที่ควรจะเป็นหากสินค้านั้นผลิตในสหภาพยุโรป สินค้าส่วนใหญ่ที่อยู่ในของเขตของมาตรการส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม

วัตถุดประสงค์ของภาษีคาร์บอน

มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ European Green Deal เพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน โดยตั้งเป้าการปลดปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจะเป็นศูนย์ ในปี 2593 ในปัจจุบันบริษัทในสหภาพยุโรปบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตสินค้า (โดยเฉพาะสินค้าที่สร้างคาร์บอนไดอ็อกไซด์สูง) ไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีคาร์บอน ภาษีคาร์บอนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อบังคับให้บริษัทคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวไม่ว่าจะผลิตสินค้าที่ใดก็ตาม ซึ่งจะช่วยลดการแข่งขันทางการตลาดระหว่างสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรปและสินค้าจากนอกสหภาพยุโรป และช่วยกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตกลับมาในสหภาพยุโรปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสหภาพฯ

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงทดสอบนับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ไปจนถึง 31 มกราคม 2567 สินค้าที่จะต้องสำแดงปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์จากการผลิต ประกอบด้วย เหล็กกล้า อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฮโดนเจน และ ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยคาร์บอนอ็อกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศถึงร้อยละ 50 ของอุตสาหกรรมโดยรวมในสหภาพยุโรป ทั้งนี้จะยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากสหภาพฯ ต้องการประเมินผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น

ความคิดเห็นของบริษัทผู้นำเข้าในสหภาพยุโรป

นับตั้งแต่การประกาศมาตรการฯ บริษัทในสหภาพยุโรปค่อนข้างมีความกังวล เนื่องจากระบบดังกล่าวจะทำให้สินค้า
อื่น ๆ ของสหภาพฯ ที่ผลิตจากวัตถุดิบนำเข้าจากนอกสหภาพฯ ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าในตลาดโลกได้ เนื่องจากมีประเทศเพียงจำนวนน้อยที่บังคับใช้มาตรการภาษีคาร์บอนสำหรับวัตถุดิบนำเข้า ทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าในประเทศที่ไม่มีมาตรการดังกล่าวต่ำกว่า ส่งผลให้ราคาสินค้านั้นต่ำกว่าด้วย ซึ่งถ้าหากต้องการให้มาตรการดังกล่าวเป็นธรรมจริง อาจจะต้องมีการขยายผลบังคับใช้ไปยังสินค้าอื่น ๆ นอกเหนือจากวัตถุดิบอุตสาหกรรมด้วย

มาตรการดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศนอกสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปพยายามที่จะโน้มน้าวให้ประเทศนอกสหภาพยุโรปต่าง ๆ ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยในปัจจุบันตุรกีและอินโดนีเซียมีแผนที่จะเก็บภาษีคาร์บอนของสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากมาตรการภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าสู่สหภาพฯ จะไม่มีผลบังคับใช้หากประเทศต้นทางของสินค้ามีระบบกลไกด้านภาษีคาร์บอนอยู่แล้ว ในขณะที่อินเดียซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของสหภาพยุโรป ซึ่งไม่มีกลไกดังกล่าวภายในประเทศและอุตสาหกรรมปลดปล่อยคาร์บอนไดออก็ไซด์สู่ขั้นบรรยากาศสูง เกรงว่าประเทศต่าง ๆ ในสหภาพจะหันไปซื้อวัตถุดิบจากประเทศอื่น ๆ

ความเห็น สคต.

มาตรการภาษีคาร์บอนจะส่งผลต่อสินค้าของไทยเป็นอย่างมากในกลุ่มเหล็กและอลูมิเนียม ที่มีมูลค่าการส่งออกรวมไปยังสหภาพยุโรปรวม 312 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 หากมาตรการดังกล่าวบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะรวมไปถึงสินค้าจากอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีมูลค่าส่งออกไปยังสหภาพยุโรปรวม 676 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวเป็นอย่างมาก และควรพยายามลดปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่ปลอดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศใน
กระบวนการผลิตวัตถุดิบส่งออกที่เข้าข่ายมาตรการของสหภาพยุโรป และหากมาตรการดังกล่าวจะขยายครอบคลุมไปยังสินค้าในกลุ่มอื่น ๆ ผู้ผลิตควรใส่ใจกับวัตถุดิบ/วัสดุที่นำมาใช้ผลิตสินค้า โดยเน้นใช้วัตถุดิบ/วัสดุที่มาจากกระบวนการรีไซเคิล/อัพไซเคิล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Bio-Circular-Green (BCG) ของไทยในปัจจุบัน

อ่านข่าวฉบับเต็ม : 5 คำถามเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน สำหรับสินค้านำเข้าจากนอกสหภาพยุโรป

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Login