อิตาลีเตรียมพร้อมดำเนินการตามกฎระเบียบสหภาพยุโรปสำหรับพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ในปีหน้า
จากการศึกษาของสถาบันวิจัยตลาด Ipsos ที่มีเป้าหมายเพื่อสำรวจพฤติกรรมของพลเมืองชาวอิตาลีเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการซื้อสินค้าผักและผลไม้ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) พบว่าชาวอิตาลีจำนวน 82% บริโภคผักหรือผลไม้ทุกวัน ในแต่ละปีจึงมีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวนมากกว่า 1.2 พันล้านชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และเป็นอันตรายไม่เพียงแต่ในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในรูปของการปล่อยมลพิษก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสู่ชั้นบรรยากาศ และการกำจัดวัสดุขยะเท่านั้น แต่ยังพบความความจริงว่าบรรจุภัณฑ์ยังปล่อยสารปนเปื้อนสู่อาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย ผลจากการสำรวจทำให้ทราบข้อมูลดังต่อไปนี้
1. เมื่อพิจารณาตัวเลือกระหว่างสองตัวเลือกในการตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (78%) ซื้อผักและผลไม้แบบเลือกหยิบเองและชั่งตามปริมาณที่ต้องการแล้วนำบรรจุใส่ถุงย่อยสลายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่มีเพียงส่วนน้อย (22%) ที่ยังนิยมผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์บรรจุเสร็จแล้ว ช่องทางการกระจายสินค้าขนาดใหญ่ (ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต) เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากที่สุด
2. ข้อดีหลัก 2 ประการในการซื้อผักและผลไม้แบบเลือกเองชั่งน้ำหนักเองคือ ผู้บริโภคสามารถกำหนดปริมาณหรือจำนวนที่ต้องการบริโภคได้ตามต้องการ (35%) และสามารถตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อได้อย่างมั่นใจ (29%) เนื่องจากได้สัมผัสผลิตภัณฑ์โดยตรงจากการเลือก แต่ผลิตภัณฑ์บรรจุเสร็จต้องซื้อตามที่มีการวางขายเท่านั้น
3. ผู้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์บรรจุเสร็จ น่าจะรับประกันความปลอดภัยด้านสุขอนามัยได้ดีกว่า เนื่องจากมีขั้นตอนที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมน้อย และประหยัดเวลาในการซื้อ เนื่องจากไม่ต้องเลือกและชั่งน้ำหนักเอง อีกทั้งเป็นการช่วยลดของเหลือทิ้งที่จะกลายเป็นขยะอาหารอีกด้วย
4. ผู้ให้สัมภาษณ์หนึ่งในสามไม่แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถปล่อยสารตกค้างปนเปื้อนในอาหาร และเชื่อว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกประเภทสามารถรีไซเคิลได้ และยังช่วยปกป้องสิ่งแปลกปลอมที่มีผลต่อสุขภาพอีกด้วย
ข้อมูลที่รวบรวมได้สามารถอธิบายพฤติกรรมความเอาใจใส่ของผู้บริโภคเรื่องการเคารพต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ให้สัมภาษณ์กว่า 90% ตระหนักถึงความจำเป็นในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกว่าเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางทะเลที่เกิดจากพลาสติกเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดปัญหาหนึ่งที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน และการหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์พลาสติกของแต่ละคนในแต่ละวัน จะช่วยฟื้นฟูและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ระดับหนึ่ง
รัฐบาลและสถาบันต่างๆควรหามาตรการที่กระตุ้นการสร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในเรื่องของการเคารพต่อสิ่งแวดล้อม (90%) โดยผ่านทางการออกกฎหมาย และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเข้าถึงคนในวงกว้าง ซึ่งในขณะนี้ผู้บริโภคอิตาลีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ที่เปิดเผยว่ารู้จักกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกอย่างแท้จริง
กฎระเบียบสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปประมาณการว่าพลเมืองในสหภาพยุโรปสร้างขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกเกือบ 180 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และเริ่มจะยับยั้งได้ยาก หากปล่อยให้เป็นเรื่องของการปลูกจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว และเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว สหภาพยุโรปได้เสนอกฎระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่มุ่งเป้าไปที่การลดปริมาณขยะพลาสติกด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการรีไซเคิลพลาสติกตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หนึ่งในข้อเสนอก็คือการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกโพลีสไตรีนแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับผักและผลไม้สด (ที่ยังไม่ได้แปรรูป) ดังนั้น จึงไม่รวมของว่างสลัดผลไม้รวม (Macedonia) หรือซุปผักรวมมิเนสโตรเน (Minestrone)
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบ (EU) 2019/904 เกี่ยวกับพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ SUP (Single use plastic) เป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปต้องการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น สำลีพันก้าน จาน ช้อนส้อม หลอด เครื่องคนเครื่องดื่ม ถ้วยน้ำ ลูกโป่งและก้านลูกโป่ง ภาชนะโพลีสไตรีนสำหรับใส่อาหาร และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตด้วยพลาสติกแบบดั้งเดิม (อนุญาตให้ขายได้จนกว่าสินค้าจะหมดสต๊อก) เพื่อจำกัดการเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อมและมหาสมุทร ขยะทางทะเลมากกว่า 80% ที่พบในตามชายหาดในยุโรปเป็นพลาสติก ในจำนวนนี้ 50% เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และ 27% เป็นอุปกรณ์สำหรับการประมง
การดำเนินการของอิตาลี
ในส่วนของการดำเนินการด้านการลดการใช้พลาสติกเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสหภาพยุโรป อิตาลีกำหนดให้สามารถวางผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable and compostable products) และสนับสนุนการรีไซเคิลที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยต้องได้รับตรารับรองมาตรฐานยุโรป (UNI EN 13432) หากเป็นบรรจุภัณฑ์ และกฎระเบียบ (UNI EN 14995) ว่าด้วยผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้มีเปอร์เซ็นต์วัตถุดิบหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40% ทันที และอย่างน้อย 60% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ขวดพลาสติกที่มีปริมาตรไม่เกิน 3 ลิตร ฝาพลาสติกต้องติดอยู่กับขวดหลังจากเปิดแล้ว ขวดเครื่องดื่มพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติก PET รีไซเคิล อย่างน้อย 25% ภายในปี 2568 และอย่างน้อย 30% ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป ส่วนเป้าหมายการรวบรวมขยะและการรีไซเคิลขวดก็มีข้อจำกัดมากกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ สหภาพยุโรปตั้งเป้าการรีไซเคิลคืนจากปริมาณการผลิต 77% ภายในปี 2568 และ 90% ภายในปี 2573
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนบุคคลและครัวเรือน ตัวอย่างเช่น ผ้าเช็ดทำความสะอาดแบบเปียกสำหรับสุขอนามัยส่วนบุคคลหรือในครัวเรือนที่ทำจากเส้นใยพลาสติก (โพลีเอสเตอร์และโพลีไฮดรอกซีอัลคาโนเอต – PHA) จะต้องติดฉลากที่ชัดเจนบอกปริมาณพลาสติกและผลเสียของที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผ้าอนามัยและผ้าอนามัยแบบสอดก็ต้องแจ้งในลักษณะเดียวกัน รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีตัวกรอง ถ้วยหรือแก้วสำหรับเครื่องดื่ม ต้องระบุข้อมูลพลาสติกบนฉลากหากมีชิ้นส่วนหรือชั้นของพลาสติก
สำหรับผลิตภัณฑ์ใช้ในบ้าน เช่น ผ้าเช็ดทำความสะอาดแบบเปียก ที่ทำจากโพลีเมอร์ธรรมชาติ (ไม่มีการดัดแปลงทางเคมี) ได้แก่ วิสโคสและไลโอเซลล์ (viscose / lyocell) ไม่อยู่ในข่ายของการใช้กฎระเบียบนี้บนฉลากผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยและถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ใช้สามัญสำนึกและความตระหนักรู้ของพลเมืองสำหรับการแยกทิ้งที่ถูกวิธี
การเปิดกว้างต่อการใช้แนวทางการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของอิตาลีมีความเสี่ยงที่จะนำอิตาลีไปสู่การละเมิดแนวทางที่ระบุในกฎระเบียบสหภาพยุโรป (SUP) เนื่องจากเกิดข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้สัมผัสกับอาหาร และการตรวจสอบก่อนหน้านี้เกี่ยวกับภาชนะใส่อาหารที่ทำจากไม้ไผ่ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็มีคุณสมบัติที่ใช้งานได้ไม่ดี
การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้บริโภคยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการดำเนินการตามกฎระเบียบ เพื่อลดการแพร่กระจายของพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม องค์กรและสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต้องดำเนินการในส่วนของตนต่อไป โดยใช้กลยุทธ์ที่คำนึงถึงการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงมีความจำเป็นและไม่สามารถหาแนวทางที่ดีกว่ามาทดแทนได้ ในส่วนของผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับส่วนผสมพลาสติกในผลิตภัณฑ์และวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง จากมุมมองนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพของการติดฉลากด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ (เริ่มบังคับในอิตาลีตั้งแต่ปี 2565) และการส่งเสริมการกำจัดผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งอย่างถูกต้อง ถือเป็นสิ่งสำคัญในการลดขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการควบคุมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษากฎระเบียบสหภาพยุโรปให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างถูกต้อง และตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG (Bio Circular Green) ซึ่งมีความเข้มงวดมาขึ้นเรื่อยๆในสหภาพยุโรป
2. ผู้ประกอบการไทยควรหันมาใช้วัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ หรือลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลีกเลี่ยงปัญหาการส่งออก
3. ควรตระหนักและยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย การสร้างความน่าเชื่อถือด้านความยั่งยืนให้ผลิตภัณฑ์ ยังนำมาเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาด สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค และการเลือกซื้อสินค้าได้อีกด้วย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อิตาลีเตรียมพร้อมดำเนินการตามกฎระเบียบสหภาพยุโรปสำหรับพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ในปีหน้า
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ