เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ASEAN BAC ก่อนมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน AEM Retreat ณ แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว
นายนภินทร กล่าวว่า “ขอขอบคุณสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนที่จัดทำโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยเฉพาะได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในประเด็นการพัฒนาภูมิภาคผ่านระเบียงโลจิสติกส์ของอาเซียนและการแสวงหาตลาดใหม่ตลอดจนโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงการค้าดิจิทัลในระดับภูมิภาคซึ่งจะช่วยยกระดับการค้าของอาเซียนและมาตรฐาน กฎระเบียบให้สอดรับกับรูปแบบการค้าใหม่อีกทั้งการนำเสนอประเด็นขับเคลื่อนของภาคเอกชนในปีนี้ที่เน้นการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล การเข้าถึงพลังงานสะอาดการอำนวยความสะดวกทางการค้า และความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นผลักดันเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อและเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนในภาพรวม และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของอาเซียน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค”
“ท้ายนี้ ไทยขอเน้นย้ำ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ MSMEs ให้เข้าถึงตลาด เงินทุน และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสู่การค้าสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ MSMEsในอาเซียนอย่างยั่งยืน” นายนภินทร กล่าวทิ้งท้าย
โดยในปีนี้ 2024 ASEAN-BAC ของ สปป.ลาว ได้เสนอประเด็นที่ผลักดันในปี 2024 โดยมุ่งเน้นดำเนินการภายใต้ประเด็นหลัก (Priorities) 6 ประเด็น ซึ่งประกอบด้วย
1. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อขยายการเติบโตของอาเซียน ยกระดับ MSMEs และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
2. การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และเงินทุนอย่างเท่าเทียม เพื่อนำไปสู่การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของภูมิภาค
3. ความยืดหยุ่นทางด้านสาธารณสุข (Health Resilience) ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข อาทิ การวิจัยและพัฒนา (R&D) และการลดความเสี่ยงของภาคเอกชนในการลงทุนด้านสาธารณสุข
4. ความมั่นคงอาหาร (Food Security) ส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนและพัฒนากลไกเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
5. การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitation) ลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค สร้างความสมดุลทางการค้ากับแต่ละประเทศคู่ค้า รวมถึงยกระดับความตกลง FTA กับคู่เจรจาที่มีอยู่
6. ความเชื่อมโยงและห่วงโซ่อุปทาน (Connectivity and Supply Chain) – ซึ่งจะมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมโยงของประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
นอกจากนี้ ASEAN-BAC ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาด้านการเชื่อมโยงและห่วงโซ่อุปทาน (Connectivity and Supply Chain) ได้แก่ (๑) การกระชับความร่วมมือระหว่างโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)” กับ ASEAN เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ร่วมกัน (๒) การสร้างความร่วมมือระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงของอาเซียน กับโครงการ Connecting Europe Facility (CEF) ของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นโครงการด้านการขนส่ง ดิจิทัล และพลังงาน และ (๓) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ซึ่งเชื่อมโยงเวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมา รวมถึงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา
โดยไทยพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการของ ASEAN BAC โดยเฉพาะโครงการต่อเนื่องจากปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คือ โครงการ Digital Trade Transformation and Connectivity ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงมาตรฐานและกฎระเบียบด้านการค้าดิจิทัลในภูมิภาค และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ MSMEs เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน
ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ