หน้าแรกเร่งรัดการส่งออก > นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ (สร. 22 มี.ค. 64)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ (สร. 22 มี.ค. 64)

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 โดยมี นายวีรศักดิ์  หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมงานด้วย เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม  2564  ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร  ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์  (สร. 22 มี.ค. 64)

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานการขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการ ผลไม้ปี 2564 โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายในและตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมที่กระทรวงพาณิชย์วันนี้

          โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับปี 2564 ผลผลิตโดยรวมของผลไม้คาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปี 2563 จึงต้องร่วมมือกันทำงานหนักเพราะผลผลิตจะออกมาก ได้มีมาตรการเชิงรุก 16 มาตรการ ในการช่วยเหลือผลไม้ไทยปี 64 ประกอบด้วย

          1.เร่งรัดการตรวจรับรอง GAP ที่เป็นเอกสารสำคัญในการส่งออกผลไม้ไทย โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตั้งเป้าหมายว่าปี 2564 จะดำเนินการตรวจรับรองให้เสร็จสิ้นอย่างน้อย 120,000 แปลง

          2.จะผ่อนปรนกฎระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงาน ปีที่แล้วสามารถขนย้ายแรงงานเพื่อเก็บผลไม้ข้ามจังหวัดได้ ปีนี้จะกำหนดมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานเก็บผลไม้จากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ได้ด้วย

          3.กอ.รมน. จะสนับสนุนกำลังพลในการช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้เช่น ลองกอง จากสวนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

          4.จะส่งเสริมการรับซื้อผลไม้ของผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้ กิโลกรัมละ 3 บาท

          5.สนับสนุนให้มีรถเร่ไปซื้อผลไม้เพื่อนำไปขายปลีกให้กับผู้บริโภคจำนวน 4,000 ตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ ช่วยสนับสนุนรถเร่คันละ 1,500 บาท ให้กระจายได้คล่องตัวขึ้น

          6.สำหรับผลไม้ที่จะส่งไปขายผ่านไปรษณีย์ไทยจะช่วยสนับสนุนลดค่าใช้จ่าย จาก 10 กิโลกรัม 95 บาท ลดเหลือ 30 บาท ส่งเสริมให้ชาวสวนขายผลไม้ผ่านไปรษณีย์ ตั้งเป้าหมายไว้ 2,000 ตัน จากปีที่แล้ว 400 ตัน 

          7.กระทรวงพาณิชย์จะประสานงานเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรจำหน่ายผลไม้โดยตรงได้ที่ตลาดกลาง ตลาดสด สนามบิน ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างท้องถิ่น รวมถึงปั๊มน้ำมัน

          8.ช่วยเร่งรัดผลักดันการส่งออกผลไม้ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกผลไม้กิโลละ 2.50 บาท มีเป้าหมาย 60,000 ตัน

          9.ใช้อมก๋อยโมเดลหรือเรียกว่า เกษตรพันธสัญญา ทำสัญญาล่วงหน้าให้เกษตรสามารถขายผลไม้ได้ปริมาณ 20,000 ตัน

          10.การนำผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับสายการบินทุกสายการบินและให้ความร่วมมือในการเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินได้ 25 กิโลกรัมฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย         

          11.กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆส่งเสริมการค้าออนไลน์โดยจัดอบรมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์หรือรูปแบบอื่นๆให้มีความรู้ในการขายผลไม้ออนไลน์ และสนับสนุนให้ไปขายบนแพลตฟอร์มปีนี้ เพิ่มเป็น 11 แพลตฟอร์ม

          12.ส่งเสริมการขายผลไม้ในตลาดต่างประเทศอย่างเข้มข้น จัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 วันที่ 29 กันยายนถึง 3 ตุลาคม 64 จัดกิจกรรม Thai Fruit Golden Months ปีที่แล้วจัด 9 เมือง ปีนี้จัด 14 เมืองของจีนที่เป็นตลาดใหญ่สุดของประเทศไทย และนำผู้ประกอบการผลไม้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ

          13.ส่งเสริมการส่งออกออนไลน์ผลไม้ไทย จัดให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจะจับคู่ธุรกิจออนไลน์ โดยทีมเซลล์แมนประเทศเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน 64 เช่น จัดงาน In-Store Promotion หรือจัดตามห้างสรรพสินค้าประเทศต่างๆ เช่นอินเดียจัดในเดือนมิถุนายน และเจรจาจับคู่ธุรกิจด้วยระบบออนไลน์ 40 บริษัทส่งออกผลไม้ไทย และผู้นำเข้า 170 บริษัทจากทั่วโลกวันที่ 25 มีนาคม 2564

          14.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยในต่างประเทศในรูปแบบผสมผสานที่เรียกว่าไฮบริด ปีนี้จัด 7 ครั้งกระจายทั้งปี เพื่อส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทย จับคู่ซื้อผลไม้จริงด้วยระบบไฮบริดในประเทศต่างๆเช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เอเชียใต้ อินเดียบังกลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น

          15.เร่งการประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นให้ผลไม้ไทยทำสื่อ 5 ภาษา อังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

          16.กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะบังคับใช้มาตรการทางกฏหมายโดยเคร่งครัดทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ให้ล้งรับซื้อผลไม้ต้องติดป้ายราคารับซื้อ ณ เวลา 8.00 น. ทุกวันเพื่อเกษตรกรจะได้รู้ล่วงหน้า พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด จับกุมผู้โกงน้ำหนักดัดแปลงเครื่องชั่งเอาเปรียบเกษตรกร พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าป้องกันการผูกขาด การฮั้วและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยเคร่งครัด

          ” ขอให้ทุกหน่วยงานราชการภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติโดยเคร่งครัดและทีมเซลล์แมนจังหวัด และทีมเซลล์แมนประเทศในการขับเคลื่อนผลไม้ไทยปี 2564″ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

————————————————

Login