นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมกรมทรัพย์สินทางปัญญาลุยงานเชิงรุก เร่งเดินหน้าคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI ข้าวไร่ดอกข่าพังงา และหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI แก่กลุ่มผู้ประกอบการทุเรียนสาลิกาพังงา พร้อมสั่งการเร่งผลักดันการเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ เพิ่มช่องทางการตลาดสร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มศักยภาพเกษตรกรให้เข้มแข็งพร้อมรุกตลาดต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวไร่ดอกข่าพังงา ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาและประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา และมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการทุเรียนสาลิกาพังงา จำนวน 18 ราย ณ ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่าจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานตามแนวนโยบายด้านการเร่งรัดการขึ้นทะเบียน GI และการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย อันจะนำไปสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ
นายจุรินทร์ เผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนคุ้มครองสินค้า GI ประเภทต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และหัตถกรรม โดยสินค้า GI เป็นสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพและลักษณะพิเศษซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนทำให้สินค้ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งนอกจากภารกิจด้านการส่งเสริมการคุ้มครอง GI แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 สามารถจด GI ได้ถึง 19 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดรวมสินค้า GI ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 126 รายการ สร้างเม็ดเงินให้ชุมชนท้องถิ่นของไทยรวมกว่า 5,378 ล้านบาท
ในโอกาสนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้พบปะพี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานภายในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการคุ้มครอง GI พร้อมหารือถึงแนวทางการผลักดันของดีในชุมชนให้ขึ้นทะเบียนเป็น GI รายการใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมสินค้า GI เดิมให้มีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น โดยชี้ให้เห็นว่าในกลุ่มจังหวัดภาคใต้มีสินค้า GI หลากหลายรายการที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ และมีศักยภาพในการแข่งขัน อาทิ ทุเรียนสาลิกาพังงา มุกภูเก็ต สับปะรดภูเก็ต กาแฟกระบี่ หรือแม้แต่สินค้าข้าวไร่ดอกข่าพังงาที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียน GI เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้ให้คนในจังหวัดอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย ฯลฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการร่วมกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มีความพร้อมอย่างสูงสุดเพื่อรุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถยกระดับสินค้า GI ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และปลุกเศรษฐกิจชุมชนและของไทยให้ดีขึ้นต่อไป