หน้าแรกTrade insight > Pet Humanization กับการขยายธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงในเกาหลี

Pet Humanization กับการขยายธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงในเกาหลี

(ที่มา : สำนักข่าว Maeil Business  ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

ร้านกาแฟและศูนย์การค้าหลายแห่งในเกาหลีใต้แข่งขันกันขยายธุรกิจบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพื่อรองรับกระแส Pet Humanization หรือพฤติกรรมเลี้ยงสัตว์เหมือนสมาชิกในครอบครัวที่กำลังมาแรงในกลุ่มผู้บริโภคเกาหลี

หนึ่งในร้านกาแฟที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงในเกาหลี คือ ร้าน Starbucks Reserve สาขา The Bukhangang เนื่องจากเป็นสาขาที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง (Pet Friendly) และมี Pet Park ขนาดใหญ่ แต่ด้วยข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหาร ทำให้ที่ผ่านมาสัตว์เลี้ยงไม่สามารถเข้าไปในร้านและกินอาหารภายในร้านได้ ทำให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้ Starbucks สาขาดังกล่าวจัดพื้นที่ภายในร้านสำหรับสัตว์เลี้ยง ร้านจึงได้ปรับโฉมพื้นที่บริเวณชั้น 1 ซึ่งเดิมเป็นจุดสั่งสินค้าให้เป็นพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ และขยายพื้นที่ลานด้านนอกให้กว้างขึ้น นอกจากนี้ ยังติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องกรองน้ำดื่มสำหรับสัตว์ ของเล่นและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สัตว์เลี้ยงสามารถทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้เลี้ยงได้

อีกหนึ่งสถานที่ที่ผู้เลี้ยงนิยมพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นหรือทำกิจกรรมยามว่างร่วมกัน คือ ศูนย์การค้า Starfield เพราะมีพื้นที่กว้างขวางให้ผู้เลี้ยงสามารถเดินซื้อสินค้าและพาสัตว์เลี้ยงเดินเล่นไปพร้อมกันได้ โดยภายในห้างมีบริการให้ยืมรถเข็นและมีถุงสำหรับเก็บอุจจาระของสัตว์เลี้ยงคอยบริการตามจุดต่างๆ รวมถึงมี Pet Lounge ซึ่งเป็นบริเวณที่สัตว์เลี้ยงสามารถกินอาหารได้

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทเกาหลีใต้พบว่า ขนาดตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 6.16 พันล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตลาดให้มีมูลค่าถึง 1.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 นอกจากภาคธุรกิจบริการแล้ว บริษัทผู้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้กำลังแข่งขันกันเพื่อพัฒนาและเปิดตัวสินค้าประเภทใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเกาหลีใต้ในขณะนี้ คือ อาหารเสริม เนื้อสัตว์จากพืช อาหารเปียกแบบกระป๋องสำหรับแมว และอาหารเม็ดเกรดพรีเมียม

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของครอบครัวคนเดียว การลดลงของอัตราเจริญพันธุ์ ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่งผลให้คนเกาหลีหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้ตลาดสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คนเกาหลีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในห้องเช่าซึ่งไม่มีพื้นที่กว้างขวางมากพอให้สัตว์เลี้ยงสามารถวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ การบริการที่สัตว์เลี้ยงและเจ้าของสามารถใช้บริการด้วยกันได้ อย่างเช่น การใช้บริการร้านอาหารหรือร้านกาแฟที่มีพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง และศูนย์การค้าที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้จึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง

ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมาเกาหลีใต้ อาจเร่งบุกตลาดสินค้า ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงและมีแนวโน้มที่จะเติบโตในระยะยาว เช่น อาหารเม็ดเกรดพรีเมียม อาหารเสริม ขนมสัตว์เลี้ยงที่ทำจากเนื้อสัตว์จากพืช และอาหารเปียกชนิดกระป๋องสำหรับแมว โดยอาจหาอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์เพื่อสร้างภาพจำและดึงดูดให้ผู้บริโภคเกาหลีหันมาลองสินค้าสัตว์เลี้ยงจากประเทศไทย

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : Pet Humanization กับการขยายธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงในเกาหลี

Login