หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > Levi เปิดตัวกางเกงยีนส์รักษ์โลกจากวัสดุแพลนต์เบส – สคต. ชิคาโก

Levi เปิดตัวกางเกงยีนส์รักษ์โลกจากวัสดุแพลนต์เบส – สคต. ชิคาโก

“ตัวอย่างสินค้ากางเกงยีนส์แบรนด์ Levi รุ่น Plant – Based 501 ที่ทำจากวัสดุจากพืชในตลาดสหรัฐฯ”

ปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในตลาดสหรัฐอเมริกามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาสนใจลงทุนพัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้ารายการใหม่ๆ ซึ่งมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดโอกาสในการก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเหล่านั้นมากขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในตลาด ไปจนถึงกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าแฟชั่นเครื่องนุ่งห่มด้วย

เช่นเดียวกันกับบริษัท Levi ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ในสหรัฐฯ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง San Francisco รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเจ้าของกางเกงยีนส์แบรนด์ Levi ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ที่ได้เริ่มปรับกลยุทธ์กิจการบริษัทไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์กางเกงยีนส์แนวรักษ์โลกหลายรุ่นเพื่อทำตลาดในสหรัฐฯ ได้แก่ รุ่น Plant-Based 501 รุ่น Hemp – Cotton Selvedge 501 และรุ่น Circular 501 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ เองให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้บริโภคในตลาดปัจจุบัน

  • กางเกงยีนส์ รุ่น 501 Plant-based 501ที่ผลิตจากวัสดุจากพืช  ผลิตด้วยวัสดุที่มาจากพืชอย่างน้อย 97 เปอร์เซนต์ ซึ่งมีวัตถุดิบผ้าฝ้ายเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Content Standard หรือ OCS ซึ่งเป็นการรับรองว่าในกระบวนการผลิตวัสดุดังกล่าวปราศจากการใช้สารฆ่าแมลง และใช้สีย้อมผ้าที่ทำจากพืชผลิตโดยบริษัท Stony Creek Colors ผู้ผลิตสีย้อมผ้าธรรมชาติในรัฐเทนเนสซี ส่วนแผ่นป้ายด้านหลังกางเกง (Patch) ทำจากวัสดุ MIRUM ซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพปราศจากพลาสติก นอกจากนี้ ในส่วนของกระเป๋าด้านในกางเกงทำด้วยผ้าฝ้าย 100 เปอร์เซนต์พิมพ์ด้วยหมึกชีวภาพสีดำ “BioBlack TX” ซึ่งผลิตจากเศษไม้ (Wood Waste) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจในกระบวนการผลิตสินค้าครบวงจรทุกขั้นตอน
  • กางเกงยีนส์ รุ่น Selvedge 501 ผลิตจากวัสดุผสมที่ทำจากพืชระหว่างใยกัญชงกับฝ้ายซึ่งเป็นวัสดุเส้นใยทางเลือกที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากกัญชงใช้น้ำในกระบวนการเพาะปลูกน้อยกว่าฝ้ายเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภคในตลาดภายใต้สายผลิตภัณฑ์ Wellthread ของบริษัทฯ (*Selvedge หรือ Self – edge คือ ผ้ายีนส์คุณภาพสูงมีริมขอบช่วยคงรูปทรงกางเกงนิยมใช้ผลิตกางเกงยีนส์หลายรุ่นรวมถึงรุ่น Levi ริมแดงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย)
  • กางเกงยีนส์ รุ่น Circular 501 ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา โดยผลิตจากวัสดุฝ้ายเกษตรอินทรีย์ผสมกับเส้นใยฝ้ายนำกลับมาใช้ประเภท Circulose ที่มาจากเศษสิ่งทอ 100% ซึ่งผ่านกระบวนการขจัดสีและสารเคมีปนเปื้อนออก ผลิตโดยบริษัท Renewcell ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณการใช้วัสดุจากธรรมชาติและยังจะเป็นการประหยัดทรัพยากรทางธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในกระบวนการเพาะปลูกฝ้าย อีกทั้ง ยังช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตด้วย นอกจากนี้ การเลือกใช้วัสดุการผลิตทดแทนดังกล่าวยังช่วยลดปริมาณการใช้สารสังเคราะห์ต่างๆ ในกระบวนการผลิตกางเกงและยังช่วยให้กางเกงยีนส์สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ (Fully Recyclable) อีกด้วย

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่มเป็นที่สนใจและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริโภคในแทบทุกตลาดทั่วโลก อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ภาวะการแพร่ระบาดทั่วโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น

โดยปัจจุบันตลาดสินค้าแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 7.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแบ่งเป็น สินค้าเครื่องนุ่งห่ม 4.26 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 55.35) สินค้าอุปกรณ์แฟชั่นต่างๆ 2.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 32.48) และ สินค้ารองเท้า 9.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 12.17) นอกจากนี้ ยังคาดว่าตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.45 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

ในส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของโลกนั้นอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.96 ต่อปีเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 3.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570

โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากระแสสินค้าแฟชั่นรวดเร็ว (Fast Fashion) ซึ่งส่วนมากผลิตจากวัตถุดิบสังเคราะห์และมีราคาจำหน่ายในตลาดถูกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกลุ่มผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้กิจการแบรนด์แฟชั่นขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น แบรนด์ H&M แบรนด์ ZARA แบรนด์ Forever 21 และ แบรนด์ UNIQLO เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มบ่อยจากกระแสแฟชั่นรวดเร็วในตลาดเริ่มได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดขยะแฟชั่นมากขึ้น   จนทำให้ผู้บริโภคในตลาดโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ เช่น กลุ่มประชากร Millennials และ กลุ่มประชากร Generation Z ซึ่งมีแนวโน้มพฤติกรรมให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเริ่มตระหนักถึงผลกระทบและอันตรายจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง จึงทำให้มีพฤติกรรมลดการบริโภคสินค้าแฟชั่นรวดเร็วและหันไปเลือกบริโภคสินค้าแฟชั่นคุณภาพที่สามารถใช้ได้ในระยะยาว รวมถึงสินค้าแฟชั่นจากวัสดุธรรมชาติ วัสดุนำกลับมาใช้ และสินค้าแฟชั่นแบบเปลี่ยนวัตถุประสงค์ (Repurposed Fashion) มากขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้แม้ว่าสหรัฐฯ จะถือว่าเป็นฐานอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกรองจากประเทศในฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และอิตาลี แต่โดยรวมอุตสาหกรรมแฟชั่นในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเน้นการออกแบบเป็นหลัก ทำให้สหรัฐฯ ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยการผลิตสินค้าแฟชั่นจากประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชียซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตค่อนข้างมาก เช่น จีน เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ในขณะที่ไทยเองกลับมีส่วนแบ่งในตลาดในสหรัฐฯ ไม่มากนักเป็นมูลค่าเพียง 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าตลาดทั้งหมดในสหรัฐฯ  แม้ว่าในช่วงดังกล่าวผู้ประกอบการไทยเองจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยด้านการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าจีนของสหรัฐฯ และปัจจัยด้านความผันผวนภายในประเทศของจีนเองในช่วงดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการผลิตในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาด

ในระยะยาวแล้วการจะแข่งขันกันด้วยราคาและต้นทุนการผลิตเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เอาไว้ได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนายกระดับสินค้าแฟชั่นเครื่องนุ่งห่มไทยไปสู่กลุ่มสินค้าออกแบบพรีเมี่ยมที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนและการผลักดันให้ แบรนด์สินค้าไทยออกไปทำตลาดในกลุ่มประเทศเป้าหมาย เช่น โครงการ 50 Brands BCG Hero และ โครงการ Next Level โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถรักษาสัดส่วนตลาดส่งออกสินค้าแฟชั่นเครื่องนุ่งห่มไทยได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยเองยังควรให้ความสำคัญกับการศึกษาแนวโน้มความนิยมของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายเพื่อนำมาปรับในกระบวนการออกแบบพัฒนาสินค้าซึ่งจะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุธรรมชาติ วัสดุนำกลับมาใช้ (Recycled Materials) และวัสดุปลอดสารเคมีอันตราย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันสูงในปัจจุบัน

อีกทั้ง การระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบการผลิตจากแหล่งผลิตที่โปร่งใสตรวจสอบย้อนกลับได้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนชาวอุยกรูย์ในมณฑลซินเจียงของจีนที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญและจับตามองเป็นพิเศษภายใต้กฎหมายการป้องกันแรงงานบังคับอุยกูร์ (Uyghur Forced Labor Prevention Act) ยังจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอุปสรรคทางการค้าในอนาคตด้วย

“ตัวอย่างสินค้าแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบรนด์ไทย”

ที่มา:

The Manual

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login