หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > IMF ให้จับตาประเทศสมาชิก EAC ที่มองว่ามีความเปราะบางจากปัญหาภายในประเทศ กลับกลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตของ GDP เร็วที่สุดใน EAC (ซูดานใต้ บุรุนดี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC)

IMF ให้จับตาประเทศสมาชิก EAC ที่มองว่ามีความเปราะบางจากปัญหาภายในประเทศ กลับกลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตของ GDP เร็วที่สุดใน EAC (ซูดานใต้ บุรุนดี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF กำหนดให้ประเทศซูดานใต้ บุรุนดี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เป็นประเทศสมาชิกประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC) ที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2567 – พ.ศ. 2568 แม้ว่าทั้งสามประเทศนี้จะเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในรายงานสถานการณ์ที่เปราะบางและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งภายในประเทศนั้นก็ตามที

 

ทาง IMF ได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของซูดานใต้จะเติบโตจากเดิมร้อยละ 5.6 เป็นร้อยละ 6.8 คิดเป็นการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.2 แม้ว่า ประเทศจะต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหยุดชะวักและปัญหาการด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซูดานก็ตาม หรือ การเติบโตของ GDP ในประเทศบุรุนดีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 เป็นร้อยละ 5.4 และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) จะเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 5.7

 

ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EAC เมื่อเดือนที่แล้วอย่างประเทศโซมาเลียนั้น ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจเลย ส่วนประเทศเคนยาและรวันดามีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดที่ร้อยละ 0.1 และ 0.3 ตามลำดับ แต่

 

เคนยายังคงเป็นประเทศที่มีการคาดการณ์ GDP สูงที่สุดในปีพ.ศ 2567 ที่ 104 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 โดยรวมในรายชื่อประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และประเทศแทนซาเนียเป็นประเทศเดียวใน EAC ที่ติด 10 อันดับแรกของแอฟริกา โดยมีมูลค่า GDP ปัจจุบันอยู่ที่ 79 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

แนวโน้มทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub Sahara) ค่อยๆ ดีขึ้น ตามลำดับหลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก อันเนื่องมาจากการระบาดครั้งใหญ่ของ Covid-19 การเติบโตของ GDP ทั่วทั้งภูมิภาคคาดว่า จะสูงถึงร้อยละ 4.0 ในปี พ.ศ. 2568 หลังจากที่เพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 3.4 ในปีพ.ศ. 2566 และร้อยละ 3.8 ในปีพ.ศ. 2567 และคาดว่าจะเติบโตต่อไปได้อีก

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังความเสี่ยงยังคงมีอยู่ เนื่องจากรัฐบาลในเกือบทุกประเทศ ยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนทางการเงิน ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และการชำระหนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ทำให้ ประเทศในกลุ่มตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารายังคงต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจากประชาคมระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและซูดานใต้ต่างต้องประสบกับสถานการณ์ความมั่นคงที่ยากลำบาก ในกรณีของ DRC เนื่องจากความขัดแย้งอันดุเดือดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แม้จะมีสัญญาณบ่งว่าได้บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง และอาจกลับมาเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ในภายภาคหน้า แม้ว่า DRC จะติดหนึ่งในสามของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว แต่ก็ยังเป็นอันดับรองจากบุรุนดีในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาค EAC ที่ยังมีความผันผวนที่สูงมากกว่านั่นเอง

 

การคาดการณ์เชิงบวกของประเทศบุรุนดี หลังจากเจ้าหน้าที่ IMF ได้ไปเยือนเมืองท่าค้าขายและเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเมือง Bujumbura เมื่อต้นปีนั้นได้ตั้งข้อสังเกตว่า GDP ที่แท้จริงได้ดีดตัวขึ้นจากการเติบโตร้อยละ 2.7 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.3 ในปีนี้ และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นอีกในอนาคต

 

จากการประเมินสถานการณ์โดย IMF ล่าสุดที่มีต่อประเทศซูดานใต้ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ปีที่ผ่านมาเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการคลังระยะกลางเพื่อแก้ไขปัญหาความเปราะบางของประเทศ ตามรายงานจะเห็นว่า ความพยายามของรัฐบาลกลางในการรักษานโยบายเศรษฐกิจมหภาค ดังที่เห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่ไม่ผันผวนมากจนแสดงสัญญาณของเสถียรภาพที่ดี แม้จะยังมีความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้สินในระดับสูงท่ามกลางระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและมาตราการทางการคลังที่ได้มาตรฐานอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ทาง IMF ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาด้านการจัดการการเงินตราระหว่างประเทศ และด้านนโยบายการคลังตามคำขอของทางการซูดานใต้ เพื่อให้มาช่วยในการปฏิรูปทางการดำเนินการด้านงบประมาณ การจัดการเงินสด และมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศ

 

ตามรายงานยังคงคาดการณ์ว่า ราคาผู้บริโภคโดยเฉลี่ย (average consumer prices) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกจะลดลงเหลือร้อยละ 8.5 ในปี 2568 จากเดิมร้อยละ 19.9 ในปี 2566 และร้อยละ 17.6 ในปี 2567 ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ราคาผู้บริโภคต่ำสุดที่บันทึกไว้ในรอบเกือบสองทศวรรษ ในขณะเดียวกันสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก็ใกล้จะสิ้นสุดโครงการระยะเวลา 3 ปี มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ได้ร่วมมือกับ IMF ซึ่งถือเป็นโครงการแรกระหว่างทั้งสองฝ่ายในแง่ของการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาล และหากรัฐบาลแสดงความสนใจที่จะจัดทำโครงการอื่นเมื่อโครงการปัจจุบันสิ้นสุดลงทาง IMF ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน

 

การผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้รับแรงผลักดันจาการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การลงทุนโดยภาครัฐ และการปฏิรูปเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ภายใต้ข้อตกลง Extended Credit Facility (ECF) มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความยืดหยุ่นของภาคการเงินในช่วงหลังการแพร่ระบาดใหญ่ของ Covid-19 ที่ผ่านมา

 

ความเห็นของ สคต.

 

การให้ความเห็นของ IMF ต่อประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับสูงไม่ว่าจะเป็น ชูดานใต้ บูรันดี และ สป.คอง หรือ DRC นั้น แสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในแอฟริกาอยู่อย่างมากมาย แม้จะมีความเสี่ยงในหลายด้าน แต่ก็ไม่อาจจะหยุดการเจริญเติบโตเหล่านี้ได้ และ IMF ก็มีความมั่นใจในเชิงบวก และพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับประเทศเหล่านี้ ซึ่งในมุมมองของประเทศไทยนั้น หลายประเทศข้างต้น เป็นประเทศที่มีการค้ากับไทยน้อยมาก โดยสถิติการส่งออกของไทยกับ 3 ประเทศนี้ มีดังนี้ สป.คองโก (ปี 2566 มูลค่า 25.6 ล้าน USD) บูรันดี (ปี 2566 มูลค่า 1.63 ล้าน USD) และซูดานใต้น่าจะไม่ถึง 1 ล้าน USD (ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ)

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีมูลค่าระหว่างไทยกับประเทศทั้ง 3 ค่อนข้างน้อย แต่เราไม่ควรมองข้ามโอกาสที่จะเข้าไปขยายตลาดในประเทศเหล่านี้ เมื่อมีโอกาสทางการค้าที่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และอีกประการหนึ่งที่ ไทยอาจมีการเริ่มเจรจาการค้ากับกลุ่มประเทศใน East African Community (EAC) ในอนาคตอันใกล้ สคต. เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มหันมามองประเทศเหล่านี้เพื่อเป็นตลาดการค้าทีสำคัญประเทศหนึ่งในแอฟริกาต่อไป ซึ่ง สคต. จะได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับประเทศในกลุ่มนี้ ให้ทราบในโอกาสต่อไป

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

อ่านข่าวฉบับเต็ม : IMF ให้จับตาประเทศสมาชิก EAC ที่มองว่ามีความเปราะบางจากปัญหาภายในประเทศ กลับกลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตของ GDP เร็วที่สุดใน EAC (ซูดานใต้ บุรุนดี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC)

Login