กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองเศรษฐกิจคูเวตจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้พยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่ความเสี่ยงยังคงมีสูง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของราคาน้ำมันและการผลิตน้ำมัน คูเวตแก้ปัญหาทางตันทางการเมืองโดยเร่งปฏิรูปทางการเงินและโครงสร้างที่จำเป็น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน IMF เห็นว่าคูเวตมีหลักประกันทางการเงินภายนอกจำนวนมาก ที่จะมีส่วนช่วยให้คูเวตสามารถดำเนินการปฏิรูปที่จำเป็น แต่จากทางตันทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาอาจชะลอการปฏิรูปต่อไป
คูเวตไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองแต่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มการเมืองต่างๆ สภานิติบัญญัติของประเทศ มีขอบเขตอำนาจกว้างขวางกว่าอีกหลายประเทศใน GCC ที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ เช่น อำนาจผ่านและขัดขวางกฎหมาย อำนาจซักถามรัฐมนตรี และการขอลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐสภามีหน้าที่ออกกฎหมาย ร่างกฎหมายทุกฉบับจะไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนี้ รัฐสภายังมีอำนาจในการกำหนดเงินได้ของของเจ้าผู้ครองรัฐและการรับรอง การเสนอชื่อเจ้าผู้ครองรัฐและมกุฎราชกุมาร คูเวตจึงเป็นประเทศใน GCC ประเทศแรกที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
รายได้รัฐบาล
การชะลอการปฏิรูปทางการเงินและโครงสร้างที่จำเป็นอาจจะเพิ่มความเสี่ยงของนโยบายการคลัง บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน ความล่าช้าเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการกระจายความหลากหลายของเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีการควบคุมการคลังอย่างครอบคลุม เพื่อยกระดับความยั่งยืนของการคลังสาธารณะ เริ่มแต่ปีงบประมาณหน้าเป็นต้นไป นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งนโยบายหารายได้ที่ไม่ใช่น้ำมันให้เพิ่มขึ้น และแก้ไขปัญหาชะงักงันของการใช้จ่ายในปัจจุบัน
นอกจากนี้รัฐบาลต้องเร่งหารายได้ทางอื่นสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการปฏิรูปรายได้สาธารณะที่อาจรวมถึง การเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขยายภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับมาตรการการใช้จ่ายสาธารณะควรมุ่งเน้นไปที่การลดค่าใช้จ่ายค่าจ้าง การลดเงินอุดหนุนพลังงาน เพื่อสร้างรายได้ตามที่ IMF วางกรอบไว้ ทั้งนี้ IMFเน้นย้ำถึงความจําเป็นที่จะต้องควบคุมการเงินของรัฐเพื่อสนับสนุนการสร้างความยุติธรรมในสังคม การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เร่งส่งเสริมการเติบโตของภาคเอกชนให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับแรงงานใหม่ในตลาดแรงงาน ส่งเสริมชาวคูเวตทำงานในภาคเอกชนให้มากขึ้น จึงจําเป็นต้องปฏิรูปตลาดแรงงานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างและปรับตัวให้เข้ากับตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับภาคเอกชน รวมค่าจ้างและเงื่อนไขการทํางาน
ภาคการธนาคาร
รายงานของของหนังสือพิมพ์ Al-Qabas ระบุภาคการธนาคาร IMF กล่าวว่าระบบธนาคารของคูเวตนับว่ามีเสถียรภาพและภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงเชิงระบบ และมีกรอบการป้องกันที่เข้มงวด คาดว่าจะมีความเข้มแข็งต่อไป คูเวตมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.2 ในขณะที่ปี 2566 การเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ตาม การลดลงนี้เป็นผลมาจากนโยบายลดการผลิตน้ำมันของประเทศ
รายงานชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่การลดการส่งออกน้ำมันของประเทศจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโต ตามที่รัฐบาลคูเวตประกาศในเดือนเมษายนว่าจะลดลง 128,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเท่ากับประมาณ 10% ของการลดทั้งหมด กลุ่ม OPEC มีปริมาณ 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประมาณ 15% ผลิตโดยคูเวต
นิตยสาร MEED ของตะวันออกกลางรายงานว่าเบื้องหลังความผันผวนในการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงของคูเวตนั้นเนื่องมาจากการผลิตและราคาน้ำมัน ประเทศยังคงได้รับอุปสงค์ภายในประเทศ และ GDP ภาคที่ไม่ใช่น้ำมันเติบโตร้อยละ 4 ในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.8 ในปี 2566
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
ปัจจุบันคูเวตประกาศใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ “New Kuwait 2035” ซึ่งมีเป้าหมาย การพัฒนาประเทศในระยาวตามวิสัยทัศน์ของ Sheikh Sabah อดีตเจ้าครองคูเวต ที่ต้องการให้คูเวตเป็นศูนย์กลางค้าและการเงินอีกแห่งในภูมิภาคภายใน พ.ศ. 2578 โดยริเริ่มโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจ Silk City (Madinat Al Hareer) บนพื้นที่ทั้งหมด 250 ตารางกิโลเมตร ทางตอนเหนือของประเทศ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อ GCC กับเอเชียกลางและยุโรปผ่านการค้าและการธนาคาร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2578 ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 132 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างมีราคาสูงแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
คูเวตเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีนโยบายการค้าเสรี และพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศกว่า 90% ในไตรมาสแรกของปี 2566 คูเวตนําเข้าเพิ่มเป็น 9,608 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 7,722 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจาก สหรัฐฯ จีน เยอรมัน ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ สินค้าเครื่องจักรเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ อุปกรณ์การขนส่ง การส่งออกลดลงเหลือ 21,390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 23,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 8.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประเทศหลักที่ส่งออกได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและเวียตนาม ได้แก่ สินค้า น้ำมันดิบ ปิโตรเลี่ยมกลั่น ไซคลิกไฮโดรคาร์บอน (cyclic hydrocarbon) และกำมะถัน (ที่มา Central Bank of Kuwait)
จากสถิติการค้าระหว่างไทยและคูเวตล่าสุดเดือน ม.ค. – ก.ค.. 2566 มีการค้าระหว่างกันมูลค่ารวม 764 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-21.8%) แบ่งออกเป็น
– ภาคการส่งออกสินค้า เช่น รถยนต์ สินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่น ๆ ไม้และผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย และปลากระป๋อง มูลค่ารวม 246.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+25.0%)
– ภาคการนำเข้าสินค้า มูลค่า 517.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-33.6%) สินค้าร้อยละ 99 คือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และ เคมีภัณฑ์
——————————–
Arab Times
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)