กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยในรายงานว่าเศรษฐกิจของรัฐสุลต่านโอมานมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
แม้รายได้จากน้ำมันจะได้รับผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตตามข้อตกลง OPEC+ แต่ภาคส่วนที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน (Non-oil) กลับเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2566 เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.8 และเพิ่มเป็นร้อยละ 3.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคก่อสร้าง การผลิต และภาคบริการ
ความคืบหน้าในการปฏิรูปและการพัฒนาที่ยั่งยืน
IMF ชื่นชมความคืบหน้าของโอมานภายใต้ “Oman Vision 2040” โดยเน้นย้ำถึงความสำเร็จใน การกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การจัดการการเงิน และการปฏิรูปด้านสังคม การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมและการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสังคมใหม่
การปฏิรูปตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprises : SOEs ) ผ่าน Oman Investment Authority รวมถึง การพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตในระยะยาว
อัตราเงินเฟ้อต่ำและเสถียรภาพทางการเงิน
ในด้านอัตราเงินเฟ้อ โอมานสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ในช่วงมกราคมถึงกันยายน 2567 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในปี 2566 นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในระดับเกินดุล พร้อมกับลดหนี้สาธารณะลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งช่วยให้ได้รับการปรับอันดับเครดิตขึ้นเป็นระดับที่น่าลงทุนจากสถาบันจัดอันดับชั้นนำ
ความเสี่ยงและแนวโน้มในอนาคต
IMF ประเมินเศรษฐกิจโอมานปี 2567 ว่าจะยังคงเติบโตที่ร้อยละ 1.2 เนื่องจากข้อจำกัดด้านการผลิตน้ำมัน แต่จะสามารถฟื้นตัวในปี 2568 ด้วยปริมาณการผลิตน้ำมันที่สูงขึ้น และการเติบโตในภาคส่วนที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
การปฏิรูปการเงินและการคลังก้าวหน้า
การบริหารการคลังอย่างรอบคอบยังคงเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์การปฏิรูปของโอมาน IMF ระบุว่าการขาดดุลขั้นต้นในภาค Non-Oil เมื่อเทียบกับ GDP คาดว่าจะยังคงมีเสถียรภาพในปี 2567 แม้ว่าจะมีการเพิ่มเงินอุดหนุนด้านพลังงานและการโอนเงินช่วยเหลือทางสังคมมากขึ้น
ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มรายได้จากภาค Non-Oil ปฏิรูประบบภาษี และยกเลิกเงินอุดหนุนที่ไม่สำคัญ เพื่อปลดล็อกทรัพยากรสำหรับการลงทุนที่มุ่งเน้นการกระจายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การเสริมสร้างสถาบันการคลังและการกำหนดกรอบการคลังระยะกลาง ยังเป็นลำดับความสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือทางการคลัง
ในด้านนโยบายการเงิน การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของโอมาน ยังคงเป็นกลไกหลักที่มีความน่าเชื่อถือ ภาคธนาคารยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยระดับผลกำไร เงินทุน และสภาพคล่องกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด นอกจากนี้ IMF ยังแนะนำให้พัฒนาตลาดการเงินเพิ่มเติมและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคเอกชน
“Oman Vision 2040” เป็นประเด็นสำคัญ
แม้ว่าการคลังของโอมานยังต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลัก แต่ประเทศกำลังเร่งผลักดันการเติบโตในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน พร้อมทั้งพัฒนาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ Oman Vision 2040 ซึ่ง IMF ชื่นชมถึงความมุ่งมั่นของโอมานต่อเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนและเติบโตให้แก่ประเทศ รวมถึงโครงการที่มุ่งขยายพลังงานหมุนเวียน ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และส่งเสริมเศรษฐกิจไฮโดรเจนสีเขียว นอกจากนี้ แผนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลก็มีความก้าวหน้าให้สามารถสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว ทางการโอมานมีความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจและเสริมสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงต่อไป
การค้าระหว่างประเทศไทยกับโอมาน
มูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2566 รวม 1,674.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-39.1%) และในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 มูลค่า 1,072.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (-20.7%) โดยสาเหตุหลัก มาจากการนำเข้าของไทยในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาลดลงเกือบ 40% เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง
การส่งออกไปโอมานในภาพรวมปี 2566 มีมูลค่า 443.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่า 286.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 7.3% สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ และปลากระป๋อง
การนำเข้าปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่า 786 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 24.7% โดยนำเข้าสินค้า ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และอาหารทะเลแช่แข็ง
อ่านข่าวฉบับเต็ม : IMF คาดเศรษฐกิจโอมานเติบโตท่ามกลางความก้าวหน้าของการปฏิรูป