หน้าแรกTrade insight > Health Canada จัดระเบียบใหม่กับฉลากสินค้า Natural Health Product (สคต. โทรอนโต)

Health Canada จัดระเบียบใหม่กับฉลากสินค้า Natural Health Product (สคต. โทรอนโต)

กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) ได้ประกาศกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับสินค้า Natural Health Product (NHP) ที่จะมีผลเริ่มใช้ในปี 2568 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดระเบียบข้อมูลที่ระบุบนฉลากสินค้า เน้นถึงความโปร่งใสของการแสดงข้อมูลที่ครบถ้วน มีรูปแบบมาตรฐานมากขึ้น จะมีประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ (Health Professional) โดย Health Canada อ้างว่าฉลากสินค้า NHP ในปัจจุบันได้สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค ทั้งในเรื่องของการแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ ข้อมูลการใช้งานหรือการอ้างสรรพคุณต่างๆ ของสินค้า

ถึงแม้ว่าภาครัฐมีวัตถุประสงค์ในการปรับกฎระเบียบที่เน้นความโปร่งใสของข้อมูล เพื่อปกป้องผู้บริโภค แต่ภาคเอกชนส่วนเห็นว่ากฎระเบียบใหม่นั้นสร้างข้อบังคับที่เข้มงวด (Red Tape) มากเกินความจำเป็น รวมถึงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิต และสุดท้ายเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้บริโภค สินค้าที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ สินค้าไวตามิน แร่ธาตุ (Minerals) โปรไบโอติกส์ (Probiotics) สมุนไพร (Herbal) รวมถึง ยาแผนโบราณ (Traditional and Homeopathic Medicine) และสินค้าที่ภายนอก อาทิ ยาสีฟันและยาทากันแดด (Sunscreen)

หน่วยงาน Canadian Health Food Association (CHFA) ซึ่งเป็นสมาคมผู้ประกอบการ ได้ออกความเห็นโต้แย้งกับ Health Canada ถึงกฎระเบียบใหม่ ว่าแทนที่จะสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้นกลับเป็นการใช้กฎระเบียบที่เคร่งครัดมากขึ้นและไม่มีความยืดหยุ่น ที่อาจสร้างปัญหาใหม่ให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดย Mr. Aaron Skelton ประธาน CHFA ได้ออกมาให้ความเห็นในสาธารณะว่า กฎระเบียบของฉลากใหม่ ทั้งการกำหนดตั้งแต่รูปแบบของตารางข้อมูลสินค้า รายชื่อวัตถุดิบ รวมไปถึงข้อกำหนดขนาดตัวอักษร (Font Size) แทบจะไม่ได้ช่วยหรือมีประโยชน์กับผู้บริโภคโดยเฉพาะในการส่งเสริมความปลอดภัยของการใช้สินค้า ขณะเดียวกันผู้ผลิตและภาคเอกชนจะต้องรื้อระบบฉลากเดิมทั้งหมดและต้องลงทุนกับการปรับเปลี่ยนดีไซน์ฉลากสินค้า หรือบางกรณีต้องออกแบบฉลากกับบรรจุภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด (เพื่อให้เข้ากับกฎระเบียบใหม่) ที่สุดท้ายไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับผู้บริโภคเลย

จากการสำรวจของ CHFA พบว่า ร้อยละ 76 ของผู้ผลิตจะต้องมีการเรียกคืนสินค้าทั้งประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนฉลากสินค้าให้เข้ากับกฎระเบียบใหม่ และ 1 ใน 5 ของผู้ผลิต (ที่เป็นบริษัทจากต่างประเทศ) มีแผนที่จะยุติการจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม NHP เนื่องจากกฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดนี้ และกว่าร้อยละ 83 ของผู้ผลิตสินค้า NHP ในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทระดับ SMEs (จำนวนพนักงานน้อยกว่า 50 คน) มีความเห็นว่าจะต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากไม่มีเงินทุนพอในการปรับฉลากให้เข้ากับกฎระเบียบใหม่ และมองว่ารัฐบาลกำลังพยายามใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินความจำเป็น

นอกเหนือจากฉลากสินค้าที่จะมีการปรับเปลี่ยนแล้ว ภาคเอกชนยังกังวลถึงขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระบวนการรับรองสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการทดสอบสินค้า (Product Evaluation) ค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตสินค้า ค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตในแต่ละปี ที่จะกลายเป็นต้นทุนแฝงที่เพิ่มขึ้นของสินค้า อาจทำให้สินค้าภายในแคนาดาไม่สามารถแข่งขันในระดับโลก หรือทำให้ผู้บริโภคหันไปสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่นำเข้าโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น ถ้าราคาสินค้าที่ผลิตในแคนาดาไม่สามารถแข่งขันได้ (เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้า)

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎระเบียบสินค้า Natural Health Product ฉบับใหม่ได้ที่https://canadagazette.gc.ca/rp-pr/p2/2022/2022-07-06/html/sor-dors146-eng.html

ความเห็นของ สคต.

วิกฤตโควิดไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแคนาดา แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะยาว เป็นตัวเร่งพฤติกรรมให้คนส่วนใหญ่หันมาห่วงใยสุขภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหาร วัตถุดิบ ประโยชน์ทางโภชนาการ ที่บริโภคในแต่ละวัน รวมถึงมีพฤติกรรมศึกษาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมบำรุงสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่องในแคนาดา รวมถึงสินค้าประเภท Natural Health Product (NHP) อาทิ กลุ่มสินค้าไวตามิน อาหารเสริม ยาสมุนไพรต่างๆ ที่มีสรรพคุณในการบำบัดโรคหรือส่งเสริมสุขภาพ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) ประกาศจัดระเบียบกฎระเบียบสินค้ากลุ่มดังกล่าวใหม่ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ที่เน้นความโปร่งใสของข้อมูลสินค้ามากขึ้น ส่งเสริมความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์สินค้า แต่ภาคเอกชนในแคนาดากลับมองตรงกันข้าม โดยมองว่ากฎระเบียบใหม่นั้นเข้มงวดเกินไป (Overregulation) จะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิต (ที่จะต้องผลักภาระต้นทุนต่อไปยังผู้บริโภค) และอาจทำให้สินค้าที่ผลิตในแคนาดาสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ซึ่งมองว่าจะไม่มีใครได้ประโยชน์จากกฎระเบียบฉบับใหม่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ทิศทางหรือความต้องการสินค้ากลุ่ม NHP ในแคนาดาจะยังคงสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยสินค้าไทยในกลุ่มนี้ที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าสมุนไพร (จากพืชเมืองร้อน) ที่ชาวแคนาดาส่วนใหญ่เริ่มเปิดกว้างในการยอมรับองค์ความรู้และศาสตร์ทางการแพทย์จากโลกตะวันออกมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตจะต้องมีการทำการตลาด การสื่อสาร สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง และมีผลการรับรองสรรพคุณสมุนไพรไทยที่เป็นวิทยาศาสตร์และได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือ

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login