เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ได้พัฒนา Global Demand Dashboard ในเว็บไซต์ คิดค้า.com ขึ้น และได้นำระบบดังกล่าวมาติดตามเทรนด์สินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น พบว่า พบ “กากน้ำตาล” ครองส่วนแบ่งตลาดได้สูงถึง 74% ส่วนเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็งเป็นสินค้าไทยมาแรง ส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 64% รวมถึงซอส จุกและฝาเกลียวที่เติบโตได้ดี ขณะที่สินค้าไก่ ยางพารา แม้ยังขายดีอยู่ แต่ต้องปรับแผนชิงส่วนแบ่งตลาดคืน
นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกยังพบสินค้าที่เติบโตดีในตลาดญี่ปุ่น โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ เป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 23.7% ซอส เพิ่มขึ้น 11.3% จุกและฝาเกลียว เพิ่มขึ้น 6.7%
ส่วนสินค้าที่ต้องจับตาคู่แข่งทางการค้า แม้สินค้าไทยยังคงส่งออกขยายตัวได้ก็ตาม ได้แก่ ไก่ ซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยขยายตัว 11.7% จากมูลค่านำเข้าในปี 2564 ที่ 1,808.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2,020.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 แต่พบว่าส่วนแบ่งตลาดลดลง 2.0% และยางพารา ซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยขยายตัว 7.4% จากมูลค่านำเข้าในปี 2564 ที่ 428.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 460.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 แต่พบว่าส่วนแบ่งตลาดลดลง 1.1%
สำหรับสินค้าที่ต้องปรับตัว เพราะไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง และญี่ปุ่นมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยสินค้าที่ต้องปรับตัว 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนแบ่งตลาดลดลง 1.8% สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดลง 0.3% และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ลดลง 3.2%
ในปี 2565 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งตลาดที่ 3.0% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นมูลค่า 26,659 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คือ จีน รองลงมา คือ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงการพัฒนา Global Demand Dashboard ในเว็บไซต์ คิดค้า.com เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกที่สำคัญของประเทศ สำหรับใช้ในการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ทางการค้า และกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการค้าของไทย ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกรายสินค้า/บริการสำคัญ รวมทั้งมิติการค้าทั้งระหว่างประเทศและการค้าภายในประเทศ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการใช้งานเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเครื่องมือไว้ใช้งานวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์การค้าได้อย่างเจาะลึก และทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยวิเคราะห์และประมวลผลหลายมิติ หลากมุมมอง ซึ่งช่วยให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการค้าที่มีปริมาณมากเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันมี Data Analytics Dashboard เผยแพร่รวม 4 หัวข้อ ได้แก่
- ข้อมูลเชิงลึกด้านสินค้าเกษตร (Agriculture Dashboard)
- ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Province Policy Dashboard)
- ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าระหว่างประเทศ (Global Demand Dashboard)
- ข้อมูลเชิงลึก ด้านธุรกิจบริการ (Services Dashboard)
ที่มา : https://www.salika.co/2023/03/18/thailand-global-demand-dashboard/