– ส่งออกญี่ปุ่นเพิ่ม นำเข้าลดลง ดัน GDP ญี่ปุ่นสูงขึ้น –
—————————
ข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะรัฐมนตรีแห่งประเทศญี่ปุ่น ประกาศตัวเลขเบื้องต้นสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับไตรมาสเดือนเมษายนถึงมิถุนายน พบว่าตัวเลขที่ปรับความผันผวนของฤดูกาลแล้วแต่ไม่รวมผลกระทบจากความผันผวนของราคา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เมื่อพิจารณาเป็นรายปี พบว่าตัวเลขรายปี เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 6.0 นับเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันของการเติบโตในเชิงบวก เนื่องด้วยการส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้ผลักดันตัวเลขทั้งหมดขึ้น
การคาดการณ์ของภาคเอกชนที่รวบรวมโดย QUICK ได้คาดการณ์ว่าค่ากลางของ GDP ล่วงหน้านั้น จะเพิ่มขึ้นต่อปีที่ ร้อยละ 3.1 ซึ่งสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อุปสงค์ในประเทศนั้นลดลง 0.3 จุด แต่ อุปสงค์ภายนอกมีการเพิ่มขึ้น 1.8 จุด
อัตราการเติบโตของ GDP ประจำปีที่เกิน ร้อยละ 6.0 ถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ไตรมาสเดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2020 เมื่อ มีการฟื้นตัวชั่วคราวจากการตกต่ำที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีมูลค่าที่แท้จริงสูงถึง 560.7 ล้านล้านเยน ต่อปี ทะลุจุดสูงสุด ก่อนการเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ 557.4 ล้านล้านเยน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2019
การส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2 นับเป็นการเติบโตในเชิงบวกครั้งแรกในรอบสองไตรมาส ทว่า การนำเข้าลดลง ร้อยละ 4.3 และนับเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันของการเติบโตเชิงลบ ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของการนำเข้าน้ำมันดิบ ยา โทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ ซึ่งการนำเข้าที่ลดลงนี้ ส่งผลดันให้ค่า GDP นั้นสูงขึ้นเช่นกัน
การบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งคิดเป็นส่วนใหญ่ของ GDP ลดลง ร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการเติบโตในเชิงติดลบครั้งแรก ในรอบสามไตรมาส ในขณะที่การรับประทานอาหารนอกบ้านและการอุตสาหกรรมโรงแรม เพิ่มขึ้น เนื่องจากการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ หลังจากที่สามารถฝ่าฟัน วิกฤต COVID-19 มาได้ แต่การบริโภคอาหารและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น (ตู้เย็น, หม้อหุงข้าว, เครื่องซักผ้า) ก็ลดลงเนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น
ที่มาข่าวและรูปภาพ : เข้าถึง วันที่ 15 สิงหาคม 2566
https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUA141P70U3A810C2000000/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)