การที่ไต้หวันมีแรงงานต่างชาติจากอาเซียนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศเหล่านี้และวางขายบนชั้นวางสินค้าของเหล่า Modern Trade รายใหญ่ในไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นที่เพ่งเล็งของ FDA ไต้หวัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาสำนักงานอาหารและยาของไต้หวัน หรือ Taiwan FDA ได้ประกาศว่า มีการตรวจพบสารตกค้างเกินกำหนดในสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศรวม 24 รายการ ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 6 รายการที่เป็นซอสพริกและซอสปรุงรสจากอินโดนีเซีย
นายเฉินจินฝู่ รองอธิบดีสำนักงานอาหารและยาไต้หวัน ชี้ว่า ไต้หวันตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์และสารฟอกขาวในสินค้าซอสปรุงรสที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย เช่น ซอสพริก ABC ซอสพริก Sasa เป็นต้น รวม 6 ล็อต น้ำหนักรวม 3,419 กก. ทำให้ยอดสะสมรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 22 ล็อตแล้ว ส่งผลให้ Taiwan FDA ประกาศว่า ต่อไปจะทำการตรวจสอบสารตกค้างทุกล็อตในสินค้าซอสปรุงรสทุกชนิดที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 พร้อมแจ้งหน่วยงานของอินโดนีเซียให้เสนอแผนการปรับปรุงแก้ไขให้ Taiwan FDA ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นอกจากสินค้าจากอินโดนีเซียแล้ว สินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจสอบสารตกค้างในครั้งนี้ ได้แก่ ดอกดาวเรืองจากเนเธอร์แลนด์ ดอกลิลลี่สดสำหรับรับประทานจากญี่ปุ่น รวมถึงพริกป่นจากจีนและเม็กซิโก ซึ่งสินค้าทั้งหมดถูกทำลายหรือถูกส่งกลับประเทศต้นทาง โดยสินค้าพริกป่นจากจีนถูกตรวจพบยาฆ่าแมลงและสารย้อมสี และไม่ผ่านการตรวจสารตกค้างถึง 10 ล็อตตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่ง Taiwan FDA ได้เพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจสินค้าดังกล่าวจากจีนตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม และจะตรวจไปจนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายนปีนี้
นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า Taiwan FDA ยังได้ตรวจพบสารตกค้างเกินมาตรฐานในสินค้าน้ำปลาที่นำเข้าจากเวียดนาม จำนวน 2 ล็อต น้ำหนักรวม 2,700 กก. และมีการตรวจพบโลหะหนัก (ปรอท) ในเนื้อปลาฉลามจำนวน 1,030 กก. ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย อีกทั้งยังตรวจพบปรอทในเห็ดทรัฟเฟิลที่นำเข้าจากอิตาลี ซึ่งมีการตรวจพบสารตกค้างเกินกำหนดแล้ว 9 ล็อตตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ที่มา: Central News Agency/ Health2.0 (November 7, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
Taiwan FDA มีความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้างในสินค้าอาหารนำเข้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหากมีการตรวจพบสินค้าที่มีสารตกค้างเกินกว่ากำหนด FDA ไต้หวันจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าชนิดเดียวกันจากโรงงานผลิต/ผู้นำเข้ารายเดิมที่ด่านตรวจสินค้าขณะนำเข้า ( 1)ระดับปกติ สุ่มตรวจ อัตรา 2-10% ของจำนวนล็อต 2)ระดับเพิ่มความระวัง สุ่มตรวจ อัตรา 20-50% ของจำนวนล็อต 3)ระดับเข้มงวด ตรวจสอบสินค้าในอัตรา 100% (ตรวจทุกล็อต) ) ทั้งนี้ หลังจากสินค้าที่นำเข้าตรวจไม่พบสารตกค้างต่อเนื่องกัน 5 ครั้ง FDA ไต้หวันจะลดระดับความเข้มงวดลงทีละขั้น นอกจากนี้ ตามระเบียบการตรวจสอบสินค้านำเข้าของไต้หวัน (Regulations of Inspection of Imported Foods and Related Products) ระบุว่า หากพบสินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศเดียวกัน ไม่สอดคล้องกับระเบียบการนำเข้าตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในรอบ 6 เดือน Taiwan FDA จะเรียกร้องให้ประเทศผู้ส่งออกชี้แจงสาเหตุและเสนอมาตรการปรับปรุง โดยหากไม่ได้ชี้แจงหรือยังตรวจพบสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดไว้อีก FDA ไต้หวันจะพิจารณาประกาศระงับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศนั้นๆ เป็นการชั่วคราว ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรให้ความระมัดระวังและเข้มงวดในการเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบต้นทางที่จะนำมาใช้ในการผลิต เพื่อมิให้ประสบปัญหาในการส่งออกสินค้ามายังไต้หวันต่อไป ดังเช่นในกรณีการส่งออกมังคุดของไทยไปยังไต้หวัน ที่ตรวจพบสารตกค้างถึง 10 ครั้ง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนทำให้ไต้หวันเพิ่มความเข้มงวดในการตรวสอบเป็น 100% ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ส่งออกและเสียภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยในอาหารจากไทย หน่วยงานเกษตรของไทยจึงควรเร่งให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้สารเคมีที่เหมาะสมและปลอดภัย
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)